ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ -ครอบครัวเกษตรกรสวนยางชาวสะเดา หารายได้เสริมสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ “น้ำตาลอ้อย” รสชาติหอม หวาน อร่อย ปราศจากสารเคมี โดยได้แรงบันดาลใจจากน้ำตาลโตนด สินค้าขึ้นชื่อในจังหวัดสงขลา
ปกติหลายคนคงเคยได้ยิน หรือได้ชิมน้ำตาลแว่นที่เป็นผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อในจังหวัดสงขลามานาน สำหรับที่ อ.สะเดา เกษตรกรรายหนึ่งได้ดัดแปลงคิดค้นการทำน้ำตาลแว่นจากอ้อยขึ้นเป็นเจ้าแรก และเจ้าเดียวในขณะนี้
นายประเสริฐ ชูเชิด อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 81/4 ม.4 ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เปิดเผยว่า ตนและครอบครัวมีอาชีพทำสวนยางพารา ระยะหลังๆ ราคายางพาราตกต่ำ จึงได้คิดหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ จึงปลูกอ้อยในพื้นที่ระหว่างต้นยางที่ยังเล็กอยู่ จำนวน 7 ไร่ เพื่อนำอ้อยมาหนีบหรือคั้นขายน้ำอ้อยสด และตัดขายเป็นบางส่วน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
โดยการปลูกอ้อยใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี ก็สามารถตัดขายกิโลกรัมละ 5 บาท หรือนำมาหนีบคั้นขายน้ำได้ แต่ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา ฝนตกชุกมากกรีดยางไม่ได้ น้ำอ้อยก็ขายไม่ดี ราคาอ้อยตกต่ำ และไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ จึงคิดหาวิธีแก้ไขปรับเปลี่ยนด้วยความที่พื้นเพตนเองมาจากสงขลา เคยทำน้ำตาลแว่นจากตาลโตนด เลยคิดดัดแปลงทำน้ำตาลแว่นจากอ้อยจนประสบความสำเร็จเป็นเจ้าแรกในอำเภอสะเดา
น.ส.อรษา ชูเชิด อายุ 27 ปี พนักงานช่วยการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มอ. กล่าวว่า ได้ใช้เวลาว่างร่วมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวทำน้ำตาลอ้อย ซึ่งการทำเริ่มด้วยตัดอ้อยต้นที่แก่เต็มที่มาปอกเปลือก และล้างให้สะอาด คั้น หรือหนีบเอาน้ำกรองเอาเศษสิ่งเจือปนออก จากนั้นนำน้ำอ้อยที่ได้ไปใส่ในกระทะต้ม หรือเคี่ยวจนเดือด เมื่อน้ำอ้อยเริ่มงวดทำการเบาไฟ แล้วใช้ไม้พายคนให้ทั่ว แล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
เมื่อน้ำอ้อยเหนียวได้ที่จะมีสีน้ำตาลไหม้ ก็นำมาหยอดในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ ซึ่งอาจมีลักษณะกลม หรือเป็นสี่เหลี่ยมก็ได้ รอจนน้ำอ้อยแข็งตัวโดยจะใช้เวลาประมาณ 3 -5 นาที จึงนำออกมาจากพิมพ์ได้ ส่วนการทำน้ำตาลผงไม่ต้องหยอดพิมพ์แต่ต้องเคี่ยวไปเรื่อยๆ จนแห้ง พร้อมทั้งบี้ให้น้ำอ้อยแตกเป็นผงก็จะได้น้ำตาลอ้อยแบบผง เหมาะสำหรับใช้ใส่กาแฟ ซึ่งน้ำตาลที่ได้ทั้งแบบแว่น หรือแบบผงจะมีรสชาติที่หอม หวาน มีกลิ่นอ้อยตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีเจือปน สามารถเก็บไว้ได้นาน และส่วนตัวกำลังดำเนินการนำผลิตภัณฑ์ตรวจกับแล็บประชารัฐ เพื่อรับรองคุณภาพสินค้าอีกด้วย
“ในด้านการตลาดมีคนให้ความสนใจมาก เนื่องจากลองชิมแล้วติดใจ โดยวางขายที่ตลาดกรีน ของเทศบาลตำบลปริก และตลาดในหมู่บ้าน ราคาขายกิโลกรัมละ 120 บาท โดยแบ่งเป็นถุงๆ ละ 50-60 บาท ซึ่งลูกค้าบางรายสั่งจองมาแต่ก็ทำให้ไม่ทันเนื่องจากขั้นตอนการทำใช้เวลานานมาก และเป็นการทำโดยใช้แรงงานในครอบครัวหลังจากทำงานหลักเสร็จ ซึ่งสามารถทำเป็นรายได้เสริมเฉลี่ย 8-9 พันบาทต่อเดือน” น.ส.อรษา ชูเชิด กล่าว