เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายแพทย์สมฤทธิ์ จันทรประทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต พร้อมด้วย นพ.ทัปปณ สัมปทณรักษ์ รองผู้อำนวยการด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และแพทย์หญิงภัทรา พรกุลวัฒน์ แพทย์เวชกิจฉุกเฉิน โรงพยาบาลป่าตอง ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ #HealthyTogether ตอน Heart to Heart Project พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ 15 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการฟื้นคืนชีพผู้หยุดหายใจขั้นพื้นฐาน (CPR) แก่ภาคประชาชนให้บรรลุตามเป้าหมาย ณ ห้องประชุมคิง คาร์ล กุสตาฟ ชั้น 3 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
นพ.ทัปปณ สัมปทณรักษ์ รองผู้อำนวยการด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้กล่าวถึงความสำคัญของการช่วยฟื้นคืนชีพผู้หยุดหายใจ (CPR) ว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญของการช่วยฟื้นคืนชีพผู้หยุดหายใจ คือการช่วยลดอาการบาดเจ็บ ความพิการ ตลอดจนการสูญเสียชีวิต ทั้งนี้ผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เนื่องจากสมองไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ หากขาดออกซิเจนเกิน 4 นาที อีกทั้งการเกิดภาวะวิกฤตินั้น มักเกิดนอกสถานพยาบาล หากประชาชนทั่วไปมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ถูกต้องและทันท่วงที จะสามารถช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นได้ ไม่เกิดภาวะทุพลภาพอันเกิดจากสมองตายหลังการช่วยชีวิต ขณะที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเองในฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์และเป็นแม่ข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จึงให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรปฏิบัติการวิชาชีพเฉพาะทางด้านการแพทย์ตามหลักสูตร Emergency Medical Technician (EMT)
ขณะที่แพทย์หญิงภัทรา พรกุลวัฒน์ แพทย์เวชกิจฉุกเฉิน โรงพยาบาลป่าตอง กล่าวถึงที่มาของโครงการ #HealthyTogether ตอน Heart to Heart Project ว่า “โครงการนี้เกิดจากการรวมตัวของทีมพยาบาลวิชาชีพที่มีจิตอาสาระหว่างโรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หลังทราบข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศไทยอย่างดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เนื่องจากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นในการช่วยชีวิตผู้หยุดหายใจ หรือการทำ CPR ให้กลุ่มนักเรียน, นักศึกษา, เจ้าหน้าที่อาสากู้ชีพ, ครูประจำห้องพยาบาล, เจ้าหน้าที่ในสังกัดเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีพื้นที่ติดทะเล, สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป โดยรูปแบบการสอนจะเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มีการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและทดลองปฏิบัติกับหุ่นจำลองที่ใช้ในการฝึกทำ CPR โดยมีทีมวิทยากรที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทางคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และยังมีการประเมินความรู้ทั้งก่อนและหลังอบรม เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนที่เข้ารับการอบรมนั้น จะสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”