ปัตตานี - มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกโรงเรียกร้องให้ “พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช” แม่ทัพภาค 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 พิจารณาทบทวน และถอนคำร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีต่อ “อิสมาแอ เต๊ะ” และ “ผู้จัดการออนไลน์”
ตามที่มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้มอบอำนาจให้ พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ แก้วคูเมือง รองหัวหน้าแผนกกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความต่อ พ.ต.ท.ถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดีต่อ นายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหากรณีที่ นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดชายแดนใต้ซ้อมทรมาน ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่า ทำให้กองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 เสื่อมเสียชื่อเสียง
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้จัดการออนไลน์ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าสื่อมวลชนดังกล่าวได้เผยแพร่เรื่องราวที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องต่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว
ในรายการนโยบาย By ประชาชนเรื่อง “ยุติซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ต้องมีกฎหมาย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดังกล่าว นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนถูกจับกุมที่ จ.ยะลา และระหว่างการถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารบางคนซ้อมทรมาน และถูกควบคุมตัวเกินกำหนดที่กฎหมายให้อำนาจไว้
ต่อมา นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้นำคดีฟ้องต่อศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2559 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยระบุว่า นายอิสมาแอ เต๊ะ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย หลังถูกจากถูกจับกุมควบคุมตัว ปรากฏพยานหลักฐานตามสำเนาเวชระเบียน จึงมีคำพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหายแก่ นายอิสมาแอ เต๊ะ เป็นเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 5,000 บาท แต่แม้จะมีคำพิพากษาเช่นนั้นกลับไม่ปรากฏว่าได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดแต่อย่างใด
การที่ นายอิสมาแอ เต๊ะ เล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวการที่ตนเองถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และขอความเป็นธรรมจากสังคม เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กอ.รมน.ภาค 4 ทั้งๆ ที่ศาลก็ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นความจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบธรรมอันพึงกระทำได้ ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายดังที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ที่กำหนดว่า “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
หลังจากได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ รวมทั้งผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ จัดตั้งเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ขึ้น เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการซ้อมทรมาน ให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และการชดใช้เยียวยา และเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานรัฐ อันเป็นการดำเนินการตามสิทธิโดยชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ
การที่หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และต้องถูกตรวจสอบได้แจ้งความ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐโดยหวังผลเพื่อยุติการตรวจสอบ หรือยุติเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าการกระทำของสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนดังกล่าวมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และในที่สุดอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้องถือว่าเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Litigation Against People Participation-SLAPP) และอาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือมาศาลโดยมือที่ไม่สะอาดได้
สำหรับกรณีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า แทนที่แม่ทัพภาคที่ 4 หรือ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 และผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะสืบสวนสอบสวนเอาผู้ที่ซ้อมทรมาน และควบคุมขัง นายอิสมาแอ เต๊ะ โดยมิชอบ จนศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ นายอิสมาแอ เต๊ะ เพื่อนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษทางวินัย และทางอาญา แต่กลับฟ้องร้องดำเนินคดี นายอิสมาแอ เต๊ะ ที่ยังคงแสวงหาความยุติธรรมอยู่นั้น อาจทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เห็นว่าการที่ประชาชนจะแสวงหาความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง และมีความเสี่ยงสูงในการร้องขอความเป็นธรรม แทนที่ประชาชนจะเป็นโจทก์ และได้รับความเป็นธรรม อาจกลับกลายเป็นจำเลย และเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีผลให้ในที่สุดประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ไม่กล้าร้องเรียน และกลัวที่จะเปิดเผยความจริงต่อสังคม
เจ้าหน้าที่บางคนที่กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่คิดที่จะปรับปรุงแก้ไขการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ กระทั่งถูกมองว่าส่งเสริม หรือให้ท้ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ให้ประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้อย่างยิ่ง กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่จะต้องตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท จากเงินภาษีของประชาชน จะได้รับความไว้วางใจ และเชื่อมั่นให้สร้างความสงบ และสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงร้องเรียนให้ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้โปรดพิจารณาทบทวน และถอนคำร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีต่อ นายอิสมาแ เต๊ะ และผู้จัดการออนไลน์