คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
ในบริบทของความงามภาพ หรือสิ่งที่มองเห็น ก็เป็นเพียงอีกมิติหนึ่ง
แม่ให้ไปเก็บดีปลี(พริก) ที่ข้างเริน(ข้างบ้าน) มาทำน้ำชุบ(น้ำพริก) ก็เป็นความงดงามทางด้านภาษา
“พริก” ในภาษาใต้ เรียกกันว่า ดีปลี, ลูกเผ็ด มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีปลูกกันในหลายประเทศทั่วโลก
เป็นพืชในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum ชื่อภาษาอังกฤษว่า Chilli peppers, chili, chile หรือ chilli มาจากคำภาษาสเปนว่า chile โดยส่วนมากแล้วชื่อเหล่านี้มักหมายถึง พริกที่มีขนาดเล็ก ส่วนพริกขนาดใหญ่ที่มีรสอ่อนกว่าจะเรียกว่า Bell Pepper ในสหรัฐอเมริกา Pepper ในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ capsicum ในประเทศอินเดียกับออสเตรเลีย และ Paprika ในประเทศทวีปยุโรปหลายประเทศเรียกพริกชนิดต่าง ๆ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 45-75 ซม. ลักษณะลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบ เดี่ยวออกเรียงสลับกันและตรงข้าม ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบแหลม ดอกขนาดเล็กสีขาว ดอกเดี่ยวออกตามข้อของลำต้นประมาณ 1-3 ดอก ผลขนาดเล็กยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.25-0.6 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม แดงหรือแดงปนน้ำตาล ผิวเป็นมัน ขนาดและรูปร่างของผลแตกต่างกันตามพันธุ์ มีรสเผ็ดมากน้อยตามชนิดพันธุ์
ประโยชน์ของพริก ได้แก่
- ช่วยบรรเทาอาการหวัด เพราะแคปไซซินที่อยู่ในพริกสามารถช่วยลดน้ำมูก ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และยังสามารถช่วยบรรเทาอาการไอและขับเสมหะได้อีกด้วย
- ลดการอุดตันของหลอดเลือด เพราะเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีในพริกจะช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มความยืดหยุ่น ให้สามารถรับแรงดันในระดับต่างๆ ได้ดี
- ลดคอเรสเตอรอลในเลือด ความเผ็ดร้อนในพริก(แคปไซซิน) ช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้าง LDL และยังส่งเสริม กระตุ้นให้ร่างกายสร้าง HDL มากขึ้น ทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดต่ำลง เมื่อสามส่วนของไขมันนี้สมดุลก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
- ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากพริก(โดยเฉพาะพริกสด) เป็นพืชที่มีวิตามินซีสูง ช่วยยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลาเจนที่ช่วยหยุดการแพร่กระจายของเซลมะเร็งได้ พริกยังมีเบต้าแคโรทีนที่ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย เป็นการช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในช่องปากและโรคมะเร็งปอดได้อีกทาง
- บรรเทาอาการเจ็บปวด มีการนำพริกมาใช้ในตำหรับยาช่วยระงับความเจ็บปวดตามร่างกาย เช่น บรรเทาอาการเจ็บคอ ปวดฟัน ลดการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งในปัจจุบันมีการนำแคปไซซินในพริกมาผสมกับขี้ผึ้ง ผลิตเป็นยาหม่องใช้บรรเทาอาการคัน ผดผื่น และยังใช้นวดเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ช่วยให้อารมณ์ดี แคปไซซินในพริกช่วยร่างกายสดชื่น อารมณ์ดี เนื่องจากสารตัวนี้จะส่งสัญญาณไปที่ต่อมใต้สมอง หลั่งสารที่ชื่อว่า เอนดอร์ฟิน(endorphin) ออกมาทำให้อารมณ์แจ่มใสช่วยให้บรรเทาความเจ็บปวด
- ใช้ปรุงอาหาร การรับประทานพริก ไม่ว่าจะเป็นพริกหยวก พริกหวาน พริกไทย หรือจะเป็นพริกชนิดไหน ก็ล้วนแล้วได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยในด้านรสชาติของอาหารแล้ว ก็ยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และความเผ็ดของพริกไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด เพียงแต่ความเผ็ดร้อนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองช่องปาก ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย และอาจเป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคในผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร อย่างโรคแผลในกระเพาะ และโรคกรดไหลย้อนได้ จึงควรทานแต่พอเหมาะพอดี
ที่สำคัญพริกนอกจากใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ภาษาถิ่นที่ใช้เรียกพริกไม่ว่าจะเป็น ดีปลี, ลูกเผ็ด(ภาคใต้) พริกขี้หนู(คนเมือง), หน่าวแกฟั่นจิว(เมี่ยน), หมูอิ๊ซะ(กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หม่าปรี๊สะแก้(ปะหล่อง) ก็เป็นอัตลักษณ์เป็นความงามทางด้านภาษา มีเสน่ห์ มีคุณค่าควรกับการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานนะขอรับ
บรรณานุกรม
- www.lovefitt.com/healthy-fact/พริก-เล็กแต่ประโยชน์ไม่เล็ก
- https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=259&name
- https://th.wikipedia.org/wiki/พริก