xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพัทลุงสืบสานประเพณีโบราณ ร่วมแรงแข็งขันกวน “ข้าวยาโค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดพัทลุงร่วมกันสืบสานประเพณีโบราณการกวนข้าวยาโค สร้างความรักและความสามัคคีแก่คนในพื้นที่

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่วัดชายคลอง ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ในช่วงฤดูข้าวตั้งท้อง เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านนิยมกวนข้าวยาโค (ยาคู/ข้าวทิพย์) เพื่อทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์อีกคราวหนึ่ง คำว่า “ยาโค” ในที่นี้มีความหมายว่า การบูชา อีกด้วย ซึ่งชาวพัทลุงนิยมใช้คำว่า ยาโค ที่แผลงมาจากคำว่า ยาคู

การบูชาเกี่ยวกับการปลูกข้าวนี้มีมาแต่ในสมัยโบราณ ซึ่งชาวอินเดียเดิมนิยมถวายทานอันเลิศในกาล ๙ ครั้ง คือ สสฺส : ในคราวปลูกข้าวกล้า, สาลิคพฺภ : ในคราวข้าวตั้งท้อง, ปุถุก : ในคราวทำข้าวเม่า, ลายน : ในคราวเก็บเกี่ยว, เวณิ :ในคราวทำขะเน็ด (เชือกมัดฟ่อน), กลาป : ในคราวมัดฟ่อน, ขล : ในคราวขนข้าวเข้าลาน, ภณฺฑ : ในคราวทำลอม และ โกฏฐ : ในคราวขนข้าวเข้ายุ้งฉาง โดยวัฒนธรรมนี้ก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมไปในแต่ละท้องถิ่นตามกาลเวลา จนเกิดประเพณีที่แตกต่างกันออกไปดังในปัจจุบัน
 

ข้าวยาโคนี้มีตำนานเล่ามาว่า มีชาวนาสองพี่น้อง คนโตชื่อว่า มหากาล น้องชื่อ จุลกาล มีไร่นากว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้า ผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายเกิดความตระหนี่ไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาเป็นสองส่วน และได้นำข้าวในส่วนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคู ไปถวายพระวิปัสสี และอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังในกาลพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุพระอรหันต์ก่อนสาวกทั้งปวงมหากาล และได้เกิดเป็นพระสุภัททะ ได้บรรลุพระอรหันต์ทันพระพุทธองค์เป็นรูปสุดท้าย

สำหรับข้าวยาโคนี้ จุลกาลได้นำข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด ส่วนข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้าย ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่าข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

สำหรับข้าวทิพย์ จะหมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด (หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลักจะมี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งา และข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้องใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “สุริยกานต์” เป็นต้น

พิธีกรรม การเตรียมบุคลากร สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว ต้องรับสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวน เพื่อความบริสุทธิ์ และความเป็นสิริมงคล พระสงฆ์ สำหรับสวดชัยมงคลคาถา ก็เตรียมด้ายสายสิญจน์โยงจากพระสงฆ์ผูกไว้ที่ไม้กวน (ไม้พาย) โดยในพิธีกวน สาวพรหมจารีย์จับไม้กวน ส่วนพระสงฆ์จะสวดชยันโตตั้งแต่เริ่มกวน จนสวดจบถือว่าเสร็จพิธี ซึ่งต่อไปชาวบ้านใครจะกวนก็ได้

ข้าวยาโคจะใช้เวลากวนประมาณ 5-7 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ และจะต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ข้าวยาโคจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จ และมีกลิ่นหอม

 
พิธีกรรมกวนข้าวยาโคให้สาระสำคัญ คือ ความสามัคคีของชาวบ้านในการกวนข้าวยาโค ซึ่งข้าวยาโคจะทำสำเร็จได้ด้วยความสามัคคี การปรองดอง พร้อมเพรียงกัน ในการตระเตรียมเครื่องใช้และเครื่องปรุงซึ่งมีมากกว่า 50 ชนิด ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน แต่ละครั้งจะกวนข้าวยาโคประมาณ 5-10 กระทะ และต้องมีคนกวนข้าวยาโคอยู่ตลอดเวลาประมาณ 5-7 ชั่วโมง

เมื่อข้าวยาโคเริ่มเหนียวหนืดจะหนักมากต้องใช้แรงผู้ชายกวน ชาวบ้านจึงต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง การกวนข้าวยาโคจึงจะสำเร็จ แล้วในวันรุ่งขึ้นจึงทำการสมโภชอีกครั้งหนึ่ง ครั้นจัดถวายพระเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือจึงแบ่งปันข้าวยาโคเพื่อแจกจ่ายญาติมิตรที่มาร่วมในพิธีให้ทั่วทุกคน ที่เหลือก็จัดส่งไปยังวัดต่างๆ และนำไปฝากญาติมิตรกัน

การแบ่งปันข้าวยาโคนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เกิดความห่วงใยซึ่งกันและกัน แม้ไม่ได้มาร่วมกวนข้าวยาโคก็จะได้รับข้าวยาโคเป็นของฝากให้ได้รับประทานทั่วถึงทุกคน ซึ่งยังเป็นอาหารที่เป็นมงคลกับชีวิตอีกด้วย
 





กำลังโหลดความคิดเห็น