xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมการจัดการศึกษาของไทยจึง “ล้มเหลว”?! / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบ
  
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย  :  จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 

 
ตอนผมเล็กๆ ได้ยินคำว่า “ขึ้นโรงเรียน” สำหรับเด็กอายุครบเกณฑ์บังคับเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ หมายถึง ต้องไปเข้าโรงเรียนตามกฎหมาย พอสอบไล่ได้ชั้น ป.๔ ก็เรียกว่า “จบการศึกษา” หมายถึง ไม่ต้องไปโรงเรียน ไม่ต้องทำการบ้าน ไม่ต้องอ่านหนังสือ ไม่ต้องทำกิจกรรมใดๆ เหมือนตอนขึ้นโรงเรียนอีกต่อไป
 
ส่วนใครไปเรียนต่อชั้นสูงขึ้นกว่าภาคบังคับ ก็เรียกว่า “ขึ้นโรงเรียน มอ.” และถ้าจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรก็ว่า “เรียนจนได้เสื้อเนฯ” คือได้สวมเสื้อครุย


แต่การจัดการศึกษาของไทยในระบบที่ดำเนินมากว่าร้อยปี ถูกมองว่าประสบความล้มเหลวในทุกระดับ(ดูจากคุณภาพของประชากรโดยภาพรวม) สาเหตุน่าจะมาจากปัจจัยต่อไปนี้


๑. การนิยามความหมายของคำว่า “การศึกษา(Education)” ผิดเพี้ยนไปจากความหมายที่แท้จริงในทางสากล ความหมายของการศึกษาตามแนวคิด ปรัชญาสากลคือ “การสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็น มีลักษณะนิสัย จิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อนตนเองและสังคม มีวามพร้อมที่จะประกอบการงานอาชีพได้”
 
แต่สังคมไทยกลับนิยามความหมายของการศึกษาหดแคบลงเหลือแค่ “ขึ้นโรงเรียน” ตามกฎหมายบังคับ ใครจะเรียนสูงกว่าภาคบังคับ ก็ไปสอบแข่งขันเพื่อให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่(เชื่อกันว่า) มีชื่อเสียง เพื่อจะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะ “มหาชนนิยม” และออกมาทำมาหากินสร้างความร่ำรวยใส่ตน โดยเอารัดเอาเปรียบคนที่ด้อยโอกาสกว่า ตั้งแต่ฝากเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล(ทั้งของรัฐและเอกชน) โดยใช้เงินเริ่มต้นที่ครึ่งแสนแล้ว
 
การจัดการศึกษาของเรามีหลายขั้นตอนที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิเยาวชนตามหลักสากล ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนปฐมวัย โดยการไม่ให้ความเสมอภาคในการที่จะรับบริการจากรัฐในด้านการศึกษา มีการแบ่งแยกห้องคิงส์ ห้องควีนส์ ห้องพิเศษ ตั้งแต่มัธยม ด้วยระบบ “บันไดดารา” แบบ “แพ้คัดออก ชนะได้ไปต่อ” ผลักคนด้อยโอกาสโดยชาติกำเนิด เพราะเกิดนอกเขตบริการของโรงเรียนดังออกจากห้องเรียนคนเก่ง ด้วยข้อหาว่า “สมองงี่เง่า เรียนไม่ทันคนอื่น” ต่างๆ นานา
 
๒. เรามีความสับสนระหว่าง “ความรู้(Knowledge)” กับ “ข้อมูล(Data)” ในฐานะที่การศึกษาที่แท้จริงคือ กระบวนการต่างๆ ที่บุคคลใช้ในการพัฒนา “ความรู้” ความสามารถ เจตคติ ความประพฤติที่ดี มีคุณค่าและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ
 
แต่สังคมไทยสับสนระหว่างความรู้กับข้อมูล โดยสำคัญผิดคิดว่า ข้อมูลคือความรู้ กระบวนการเรียนการสอนจึงเน้นไปที่การบอกข้อมูล ท่องจำข้อมูล มากกว่าการให้ความรู้ หรือสร้างกระบวนการแห่งการเรียนรู้
 
อะไรคือความรู้? ในทางสากล “ความรู้” คือ “สารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิดเปรียบเทียบ เชื่อมโยงกับความรู้ อันจะเกิดเป็นความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ ในการสรุปและตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ คือสิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือจากประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ ความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ องค์วิชาในแต่ละสาขาวิชา เป็นสารสนเทศที่นำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเนื้อหา ข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หลักการ รูปแบบและกรอบความคิด”
 
แต่การจัดการศึกษาของไทยทุกระดับ แม้แต่ระดับอุดมศึกษา ไปไม่ถึง “ความรู้” หรือผู้ผลิตความรู้ เป็นแค่ผู้บริโภคความรู้ ระดับผู้มี “ข้อมูล” คือข่าวสาร เอกสาร ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของ เหตุการณ์ที่อยู่ในรูปของตัวเลข ภาษา ภาพ สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งยังไม่มีการประมวล ไม่นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การท่องจำตารางธาตุ ท่องจำทฤษฎี ท่องจำประวัติศาสตร์ สูตรคูณ และศีลห้า แบบนกแก้วนกขุนทองระดับต่างๆ เป็นต้น
 
๓. เราเน้น “การสอน(Teaching)” มากกว่า เน้น “การเรียนรู้(Learning)” การศึกษาในระดับสากลเขาเน้นที่การเรียนรู้ คือกระบวนการที่ประสบการณ์ตรงและประสบการณ์อ้อม กระทำให้อินทรีย์เปลี่ยนพฤติกรรม อันเนื่องมาจากได้รับประสบการณ์(Experience)
 
ส่วนการสอน หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ การจัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การฝึกให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาต่างๆ ได้ การแนะแนวทางแก่ผู้เรียน เพื่อให้ศึกษาหาความรู้ หรือกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความคิดที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดทักษะ หรือความชำนาญที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม หรือการจัดประสบการณ์ให้
 
แต่การสอนของสังคมไทยคือ การบอกให้เชื่อ เน้นให้จำตามที่ผู้สอนเชื่อ และจำตามๆ กันมาตามลำดับหลายชั่วอายุคน สอนเพื่อให้ตอบคำถามในข้อสอบวัดผลได้มาก จะได้ไปต่อในโรงเรียนดีๆ (ตามค่านิยมผิดๆ) มหาวิทยาลัยและคณะวิชายอดนิยม
 
นอกจากนั้น “กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม(Socialization)” ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคนที่สมบูรณ์แบบตามหลักปรัชญาที่ว่า “มนุษย์ คือ สัตว์ที่ฝึกฝนแล้วประเสริฐ”
 
ปัจจุบันสถาบันที่ทำหน้าที่นี้ล้มเหลวลงแล้วโดยสิ้นเชิง  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครับ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันสื่อสารมวลชน สถาบันสันทนาการ ฯลฯ ดังจะเห็นได้จากภาพปรากฏทางสื่อมวลชนในเรื่องความเหลวแหลกของความสัมพันธ์ในครอบครัว การหย่าร้าง การสำส่อนทางเพศ ผู้บริหาร/ครูมีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนระดับประถม-มัธยม พระ/นักบวชอลัชชี-สมีมาร นักการเมืองคอรัปชั่น ผู้นำทุจริต ลุแก่อำนาจ หมอ-ตำรวจ-นักกฎหมาย-นักปกครอง ฯลฯ มีปัญหาทางคดีอาญากับประชาชน เป็นต้น
 
ผลพวงของการจัดการศึกษาที่ล้มเหลว เราจึงได้ประชากรทุกสาขาอาชีพที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว ไร้สำนึกต่อสาธารณะ แสวงหาประโยชน์ใส่ตัว เพื่อความสำเร็จส่วนตัวและความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล ส่วนชาติ บ้านเอง และเพื่อนร่วมชาติ จะประสบชะตากรรมอย่างไรก็ช่างมัน
 
เพราะพวกเขาถูกสอนให้คิดว่า “กูต้องจ่ายเพื่อซื้อโอกาสมาตั้งแต่เริ่มต้นเข้าเรียนอนุบาลแล้ว ถึงเวลาต้องถอนทุนคืนบ้างแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา”
 


กำลังโหลดความคิดเห็น