xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อซาอุดีอาระเบียจะผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดดและลม...เพราะถูกกว่าใช้ก๊าซและน้ำมัน! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
-------------------------------------------------------------------------------------------------
เราทราบกันดีมานานแล้วว่าประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบมากที่สุด (หรือ 20%) ของโลก ทิ้งห่างจากประเทศอันดับสองเกือบเท่าตัว แต่คงจะมีคนไม่มากนักที่จะทราบว่าประเทศนี้มีพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหน่วยพื้นที่สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย
 
เท่าที่ผมทราบ แสงแดดที่ประเทศซาอุฯ สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ได้ปีละ 1,650 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้ประมาณ 1,450 หน่วยหรือมากกว่าประเทศเราเพียง 12% เท่านั้น เรื่องแดดนะครับที่เรามีน้อยกว่าเขา 12% แต่เรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเราถูกทิ้งห่างอย่างไม่เห็นฝุ่นเลยครับ

ทำไมผมจึงจับเรื่องนี้มานำเสนอ? 

ขอย้อนไปก่อนที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาครั้งล่าสุด รัฐมนตรีพลังงานในขณะนั้นมีความพยายามที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนหลายโรงในพื้นที่ภาคใต้ โดยใช้ถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงทั้งจากคนในพื้นที่และกระแสสังคม แต่พอมาถึงรัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบันได้มีข่าวแว่วๆ ออกมาว่าจะหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ทำไมผู้บริหารของประเทศเราที่ชอบอ้างถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นคาถาจึงได้คิดแตกต่างจากผู้บริหารของประเทศซาอุดีอาระเบีย (ตามที่ผมได้นำมาเป็นชื่อบทความนี้) อย่างสิ้นเชิง คือเลือกที่จะใช้แหล่งพลังงานที่ประเทศของตนเองไม่มี ในขณะที่แหล่งพลังงานที่ประเทศตนเองมีกลับมีข้ออ้างเพื่อแก้ตัวต่างๆ นานา เช่น มีน้อย แพง ไม่เสถียร และไม่มั่นคง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นข้ออ้างที่ล้าสมัยไปแล้วทั้งสิ้น

ผมเข้าใจว่าหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงต้อง “คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน” การพึ่งตนเองด้านพลังงานหรือการใช้แหล่งพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงแดดและลมที่ไม่ต้องซื้อและกระจายตัวอยู่ทั่วไปก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองทั้งในระดับครอบครัว และระดับประเทศให้มีความมั่นคงและมีความเป็นอิสระ หรือเป็นประเทศเอกราช

ถ้ายึดเอาความมีเหตุผลมาอ้าง ก็ต้องคำถามว่า ระหว่างการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่ทั้งต้องเสียเงินและนำมลพิษนานาชนิดเข้าสู่ประเทศกับการใช้พลังหมุนเวียนที่มีในประเทศของตน มีการจ้างงาน และกระจายรายได้ภายในประเทศ อย่างไหนจะมีเหตุผลมากกว่ากัน

ข้อเสียของพลังงานจากแสงแดดและลมมีอย่างเดียวคือ เราไม่สามารถผลิตตอนที่ไม่มีแดดและลมได้ แต่เรื่องนี้ก็สามารถจัดการได้ไม่ยากในปัจจุบัน คือ ให้แดดและลมผลิตได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ส่วนที่ขาดจึงให้พลังงานที่สามารถควบคุมได้มาเสริม ล่าสุดสามารถใช้แบตเตอรี่ (ซึ่งราคาลดลงอย่างรวดเร็ว) มาแก้ปัญหาได้แล้ว

บทความที่ใช้อ้างอิง

ผมได้ข้อมูลและแนวคิดมาจากบทความเรื่อง “Learning to Love Solar Energy: Saudi Arabia Sets Plans for Renewable Energy Future” เขียนโดย Travis Hoium (21 มกราคม 2561 ในเว็บไซต์ The Motley Fool ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน ก่อตั้งปี 2536)

บทความนี้ได้โปรยหัวว่า “ซาอุดีอาระเบียจะจัดประมูลโซลาร์เซลล์อีก 3,300 เมกะวัตต์ในปี 2561 และมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตเพื่อส่งออกพลังงานแสงอาทิตย์ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน” 

อีกตอนหนึ่งบทความนี้กล่าวว่า “ประเทศในตะวันออกกลางได้เริ่มต้นเรียนรู้อย่างช้าๆ ว่า มันเป็นสิ่งที่มีราคาถูกกว่าอย่างมาก ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แทนที่จะผลิตด้วยน้ำมันใต้แผ่นดินของตนเอง ซึ่งน้ำมันดังกล่าวสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ การได้สำนึกดังกล่าวคือการสร้างโอกาสหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับผู้พัฒนาโซลาร์เซลล์และผู้ผลิต”

บทความนี้ยังได้กล่าวต่อไปว่า “ในปี 2560 ซาอุดีอาระเบียได้ประมูลโครงการโซลาร์เซลล์ 300 เมกะวัตต์และกังหันลม 400 เมกะวัตต์ ราคาค่าไฟฟ้าที่ชนะการประมูลในโครงการโซลาร์เซลล์มีราคาต่ำมาก โครงการหนึ่งชนะไปด้วยราคา 1.8 เซนต์ต่อหน่วย (57 สตางค์ต่อหน่วย) ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในปัจจุบัน”

ภายในปี 2566 ประเทศซาอุฯ มีแผนจะใช้พลังงานหมุนเวียนจำนวน 9,500 เมกะวัตต์และหวังว่าจะสามารถส่งไฟฟ้าออกไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้

ผมสนใจข้อความที่ว่า “ประเทศในตะวันออกกลาง (ซึ่งหมายถึงประเทศซาอุฯด้วย) ได้เริ่มต้นเรียนรู้อย่างช้าๆ” ว่า เขาเริ่มจากอะไร อะไรเป็นสิ่งจุดประกาย ผมจึงได้พยายามค้นคว้าพบว่า ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเมื่อปี 2555 (หรือ COP18) ที่ประเทศกาตาร์ ประเทศซาอุฯ ได้ประกาศว่า “มีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 1 ใน 3 ของความต้องการทั้งประเทศ จำนวน 41,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ขณะเดียวกันก็จะลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 โรง”(https://en.wikipedia.org/wiki/Energy_in_Saudi_Arabia#cite_note-EIAsaudi-24)

ปัจจุบัน ซาอุฯ (ซึ่งมีประชากร 33.3 ล้านคน แต่มีพื้นที่ประมาณ 4 เท่าของประเทศไทย) ผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมัน 65% ก๊าซธรรมชาติ 27% อีก 8% ผลิตด้วยไอน้ำ (น่าจะมาจากการกลั่นน้ำเค็มมาเป็นน้ำจืด)

ราคาน้ำมันเบนซินขายปลีก (22 ม.ค.61) ในประเทศไทยลิตรละ 35.64 บาท แต่ที่ประเทศซาอุฯ ลิตรละ 16.98 บาท (http://www.globalpetrolprices.com/Saudi-Arabia/gasoline_prices/) ในแต่ละปีชาวซาอุฯ ใช้ไฟฟ้ามากกว่าไทยประมาณ 40% โดยที่ร้อยละ 75 ใช้ไปกับเครื่องปรับอากาศ

นี่ขนาดราคาน้ำมันในซาอุฯ ถูกกว่าประเทศไทยเราครึ่งหนึ่ง เขายังสรุปว่าผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดถูกกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเลย! มันต้องมีอะไรที่ผิดปกติมากๆ ในประเทศเราอย่างแน่นอน

ถ้าใช้ข้อมูลที่ว่า 1 กิโลวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้ 1,650 หน่วย ดังนั้น ในปี 2573 จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าไฟฟ้าก็ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

มันน้อยเสียเมื่อไหร่?

ที่สำคัญกว่านั้น ถ้าเป็นการผลิตจากหลังคา จำนวนเงินดังกล่าวก็จะกระจายอยู่ในครอบครัว ในชุมชนท้องถิ่น มันคือการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โม้เสียจนชาวบ้านรู้สึกเหม็นขี้ฟันแล้ว

เพื่อเป็นหลักฐานและอ้างอิง ผมมีภาพมาประกอบเหมือนกับเกือบทุกครั้งที่ผ่านมาด้วยครับ
 

 
โดยปกติก่อนที่ผมจะนำอะไรมาเสนอ ผมต้องตรวจสอบจากหลายๆ เว็บไซต์ หลายประเทศ รวมทั้งความน่าเชื่อของแต่ละเว็บไซต์ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้นำมาอ้างในทุกประเด็น

สิ่งที่ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัย พลังแสงอาทิตย์และลมมีมาก็จริง แต่เวลาแดดไม่มี ลมไม่มาจะทำอย่างไร ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงกับอ้างว่า “พลังงานหมุนเวียนเป็นตัวถ่วงหรือ parasitic load” คือ มีโรงไฟฟ้าจำนวนมากแต่นำมาใช้งานจริงไม่ค่อยได้ (ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ) นอกจากนี้ยังอ้างว่าพลังงานหมุนเวียนเป็น “โรงไฟฟ้าหลัก(base load)” ไม่ได้

เรื่องนี้ก็เป็นอดีตหรือล้าสมัยไปแล้ว เพราะในปัจจุบันเรามีแบตเตอรี่ที่ราคาถูกลงมากและอายุการใช้งานนานขึ้น (ล่าสุดบางยี่ห้ออ้างว่าสามารถใช้งานได้นานถึง 20 ปี-แทนที่จะเป็น 15 ปี) สามารถนำมาตอบสนองความต้องการทั้งในช่วงที่ “แดดไม่มี ลมไม่มา” และในช่วงความต้องการสูงสุด (พีค) ของแต่ละวันได้

นักวิจัยอาวุโสของบริษัทวิจัยแห่งหนึ่ง (ดูภาพประกอบ) ถึงกับกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมจะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพื่อมาแก้ปัญหาในช่วงพีคหลังจากปี 2025เพราะราคาแบตเตอรี่จะสามารถแข่งขันในอีก 4 ปี และจะชนะอย่างเด็ดขาดภายในอีก 10 ปี” 
 

 
เขาข้ามเลยถ่านหินไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

ผมเริ่มต้นจากข่าวจากประเทศซาอุดีอาระเบียประมูลโรงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ในราคาที่ถูกกว่าที่ผลิตจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และปิดท้ายด้วยข่าวการพยากรณ์ราคาแบตเตอรี่ที่จะสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งแพงกว่าถ่านหิน) ในอีก 4 ปีข้างหน้าซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าหลักและช่วงแดดไม่มี ลมไม่มา

แล้วยังจะมีปัญหาอะไรอีกครับ

สำหรับผมคิดว่า ปัญหามีอย่างเดียว คือจำนวนผู้บริโภคที่ตื่นรู้ในเรื่องนี้ยังมีไม่มากพอ คนที่รู้แล้วก็อาจจะยังลังเล ไม่ช่วยกันทำให้คนอื่นๆ ตื่นตัวด้วยในขณะที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฟอสซิล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มปิโตรเลียม) ได้เชิญนักวิชาการที่เขียนหนังสือในทำนองว่าธุรกิจปิโตรเลียมและไฟฟ้าในปัจจุบันจะเป็นเรื่องล้าสมัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามาบรรยายให้ฟัง

ลองวิเคราะห์ดูซิครับว่าเขาเชิญมาทำไม

ขอปิดท้ายด้วยข่าวความตั้งใจอันแน่วแน่ของพระสงฆ์บ้านนอกรูปหนึ่ง คือ ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ แห่งโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ท่านคิดโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล 4 ภาคๆ ละ 1 โรงๆ ละ 100 กิโลวัตต์ ซึ่งท่านได้ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างเงียบๆ มาแล้วหลายที่ ทั้งประปาหมู่บ้าน วัด โรงเรียนและโรงพยาบาล 

จึงเรียนมาเพื่อ (1) ขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ตามบัญชีในรูป (2) ขอให้โรงพยาบาลที่สนใจสมัครและเขียนโครงการเข้ารับการสนับสนุน และ (3) ประสานงานลูกศิษย์ที่ผ่านการอบรมและช่างรับติดตั้งด้วยจิตอาสา
 

 
ขอบคุณครับ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น