ยะลา - “อีแกกือเลาะ” หรือปลาพลวงชมพู ปลาประจำ จ.ยะลา ขึ้นโต๊ะอาหารกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 3 พันบาท ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา เร่งให้เกษตรกรชาวเบตงหาแนวทางเพาะพันธุ์
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง การเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ ของนายสันติชัย จงเกียรติขจร อายุ 63 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 138 หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ได้กล่าวถึงปลาพลวงชมพู ที่กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้ศึกษาจนสามารถนำมาขยายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ได้แล้ว
ปลาพลวงชมพู เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่น จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “อีแกกือเลาะ” หรือปลากือเลาะ อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน มีความโดดเด่นในสีของเกล็ดที่มีลักษณะเป็นสีชมพู ครีบหลัง และครีบหางสีแดง เป็นปลาพลวงชนิดเดียวที่รับประทานทั้งเกล็ด นิยมบริโภคในประเทศแถบอินโดจีน โดยเฉพาะมาเลเซียที่ยังไม่สามารถวิจัยเพาะขยายพันธุ์ได้ และมีกฎหมายห้ามจับจากธรรมชาติมารับประทาน
นายสันติชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ปลาพลวงชมพูมีราคาสูง เพราะเป็นปลาที่มีรสชาติดี และหาได้ยาก อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งการเลี้ยงจะต้องเป็นพื้นที่มีน้ำไหลตลอดเวลา น้ำต้องมีปริมาณออกซิเจนสูงอย่างน้อย 6 ppm ขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านี้จะตายทันที ในขณะที่ปลาน้ำจืดชนิดอื่นยังสามารถมีชีวิตรอดได้
นอกจากนั้น ยังเป็นปลาที่ให้ไข่น้อยแค่ 1,000-2,000 ฟอง จะมีแค่ 700-800 ตัว ออกมา ต่างกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ ให้ไข่ตั้งแต่หมื่นฟองขึ้นไปจนถึงแสนฟอง เลยเป็นเหตุให้เสี่ยงสูญพันธุ์ได้ง่ายในธรรมชาติ และการนำมาผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์ยังยากกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่น เนื่องจากระยะไข่สุกพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ ไข่ที่มีอยู่น้อยแล้วยังสุกแก่ไม่พร้อมกันอีก
นายสันติชัย กล่าวอีกว่า ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้ทำการขยายพันธุ์ โดยต้องใช้เจ้าหน้าที่มีความชำนาญพิเศษเฝ้าสังเกตระยะที่มีไข่สุกพร้อมมากที่สุดถึงจะทำได้สำเร็จ เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา นำไปเลี้ยงในบ่อดิน ต่อท่อตรงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และปล่อยให้ไหลผ่านระบายออกไป โดยปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 นิ้ว หนัก 20 กรัม ในอัตรา 1-5 ตัวต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร ให้อาหารปลาโดยใช้ปลาดุกวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น มื้อละ 2-3% ของน้ำหนักตัว และใช้เวลาเลี้ยง 2-3 ปี ถึงจะมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ได้ขนาดตรงความต้องการของตลาด
ซึ่งปลาพลวงชมพู จะให้ผลตอบแทนสูง มีอัตราแลกเนื้ออยู่ที่ 2-3 : 1 ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาด 2.3 กิโลกรัม ใช้อาหารไม่เกิน 7 กิโลกรัม ฉะนั้น จะมีต้นทุนค่าอาหารแค่ตัวละ 210 บาท แต่สามารถขายได้สูงถึง กก.ละ 3,000 บาท
นายสันติชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน ปลาพลวงชมพู มีตลาดรับซื้อไม่อั้นในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน โดยประเทศมาเลเซีย ได้มีการสั่งจองไว้ล่วงหน้า 1 ปีมาแล้ว แต่ด้วยปลามีอายุเพียง 2 ปี ซึ่งยังไม่เติบโตเต็มที่ จึงยังไม่ได้ส่งออก
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในการเลี้ยงปลาพลวงชมพู ในบ่อซีเมนต์ ด้วยระบบน้ำหมุนเวียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น หากผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ 0-7329-7042 หรือสามารถมาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง การเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ ของ นายสันติชัย จงเกียรติขจร ตั้งอยู่เลขที่ 138 หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา โทร. 09-5094-6153