xs
xsm
sm
md
lg

กู๊ดไอเดีย! สิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ “ชาร์จแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือจากน้ำทะเล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคสตูลหัวใจสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ในโครงงานวิจัยชื่อ “ชาร์จแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือจากน้ำทะเล” หวังต่อยอดเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

วันนี้ (18 ม.ค.) ที่ห้องสาขาวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคนิคสตูล อาชีวศึกษาจังหวัดสตูล นักเรียนระดับชั้น ปวส.1 นำโดยนายธีรศักดิ์ พรมขจร หัวหน้าทีมโครงงานวิจัยชื่อ “ชาร์ตแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือจากน้ำทะเล” พร้อมเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนคือ นายซอลิฮิน ฮะหมัด และนายปฏิภาณ บุญนิยม ผลงานที่เกิดจากแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมดภายในประเทศยังมีแนวโน้มที่สูง การผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
 

 
อีกทั้ง จ.สตูล มีอาณาเขตติดทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำทะเลและสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลจำนวนมาก นักเรียนกลุ่มนี้จึงมีความคิดที่จะนำเอาการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างน้ำทะเลกับโลหะมาใช้ในการกำเนิดไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า และความสะดวกในการใช้งานบริเวณริมทะเลโดยไม่ต้องต่อสายไฟมาไว้สำหรับที่จุดบริการต่างๆ สามารถนำน้ำทะเลมาเติมแล้วใช้ไฟฟ้าได้เลยเป็นการบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวทะเลสตูลโดยการสร้าง Mobile Battery Charger เพื่อความสะดวกและยังสามารถช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย

โดยโครงงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในอนาคต เป็นอีกทางเลือกในการนำเอาน้ำทะเลมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการใช้ปฏิกิริยาเคมีระหว่างน้ำทะเลกับโลหะต่างๆ ผ่านวงจรชาร์จแบตเตอร์รี่ เป็นการทดลองเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก โดยการนำไปใช้งานในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และยังสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าในเรือขนาดเล็ก เพื่อลดการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าและน้ำมันอีกด้วย
 

 
โดยประโยชน์ของการทดลองในครั้งนี้ น้องๆ บอกว่า สามารถสร้างเซลล์ไฟฟ้าสำหรับชาร์ตแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือจากน้ำทะเล Mobile Battery Charger สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานในเรือขนาดเล็ก เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยมีต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใช้ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือนำไปเป็นพลังงานทดแทนในอนาคตได้

ผลการวิจัยจากการคำนวณหาค่าแรงดันสามารถผลิตกระแสไฟได้สูง 9 โวลต์ สามารถชาร์ตแบตโทรศัพท์มือถือได้ 2 ครั้ง ทั้งนี้แรงดันจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำทะเลที่นำมาใช้ในการทดลอง ที่จะต้องมีการไหลเวียนตลอดเวลาประกอบกับต้องมีการปรับปรุงให้รูปลักษณ์มีความสวยงามมากกว่านี้ และการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทดลองให้มีความเล็กลง

นายสมชาย สุเหร็น ครูผู้สอน กล่าวว่า จะต้องมีการพัฒนารูปลักษณ์และอุปกรณ์ เพื่อต่อยอดสิ่งประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานต่อไป พลังงานจะมีแรงดันมากน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำทะเล ซึ่งต่อไปในอนาคตสามารถประยุกต์เป็นเครื่องมือทดแทนเครื่องปั่นไฟได้ในอนาคต
 



กำลังโหลดความคิดเห็น