ปัตตานี - ผวจ.ปัตตานี เผยเตรียมมาตรการรักษาความยากจน เพื่อเป็นภูมิคุมกันสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านอดีตขบวนการ BRN ชี้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากความยากจน ถ้าแก้จนได้ทุกอย่างจะดีขึ้นตามมา
วันนี้ (18 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนยังดำรงชีวิตได้ตามปกติ และยังต้องประสบต่อปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นลำดับ แต่กลับมีรายได้ลดน้อยลงอันเนื่องจากราคาเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางที่ลดลงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐ์กิจในระดับรากหญ้า และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยจะเห็นได้ว่า ห้างร้าน ร้านค้าในพื้นที่ต้องอยู่ในสถานะซบเซา เงียบสงบ บางร้านถึงขั้นค้าขายไม่ได้เลย จึงทยอยปิดตัวลง มีเสียงเรียกร้องที่คล้ายกัน คือ อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องราคายาง ถ้าชาวสวนยางมีรายได้ดี ห้างร้าน ร้านค้าก็อยู่ได้ เพราะรายได้จากยางพาราเป็นรากฐานเศรษฐ์กิจในระดับรากหญ้าของคนในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคอยทำหน้าที่เกื้อหนุนเศรษฐ์กิจในภาคอื่นมาเป็นเวลายาวนาน
และเพื่อลดสภาพปัญหาดังกล่าว จังหวัดปัตตานี กำหนดแก้ปัญหาความยากจน เพื่อเป็นภูมิคุมกันสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดปัตตานี ถือเป็นจังหวัดยากจนอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงคาดว่าการแก้ปัญหาความยากจนของคนในพื้นที่จะทำให้เกิดความสงบสุข สำหรับวิธีการแก้ปัญหาความยากจนนั้น ตนได้นำร่อง 3 อำเภอ โดยเน้นการลงพื้นที่เจาะจงเพื่อสำรวจวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดความยากจนของชาวบ้านในพื้นที่
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยังกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เราเน้นเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนที่ทำกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2560 นำร่องไป 3 อำเภอ คือ อ.ยะหริ่ง อ.มายอ และ อ.หนองจิก เพื่อไปค้นหาวิธีการแก้ปัญหา โดยเราจะลงไปดูเฉพาะราย และจะแก้เฉพาะคน การแก้ปัญหาที่ทำแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 1.นโยบายกว้างๆ การลงทะเบียนคนจน โครงการนั่นนี่ เศรษฐ์กิจต่างๆ ส่งเสริมอาชีพแบกว้างๆ และอีกอันเป็นการแก้แบบเจาะจงช่วยคนให้พ้นความทุกข์ยากอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมให้แก่กลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์ยากจน
เราจะลงพื้นที่ การลงไปสำรวจเอาคนต่ำกว่าเกณฑ์มาเป็นฐาน พอรู้เป้าแล้วกลับมาเราจะนั่งคุยกัน คิดวิเคราะห์กันแล้ว เราจะแบ่งเป็นสามประเภท 1.จนแต่มีศักยภาพที่จะพัฒนา เช่น มีที่ดิน 3 ไร่ แม้ไม่มีที่ดินสุขภาพดี ร่างกายครบ 2.จน พัฒนาไม่ได้ต้องสงเคราะห์อย่างเดียว เช่น แม่นอนติดเตียง ลูกสาวที่ดูแลแม่เป็นโปลิโอ แถมต้องดูแลหลานอีก 2-3 คน ครอบครัวแบบนี้ต้องสงเคราะห์อย่างเดียว และ 3.สามารถพัฒนาได้ต้องสงเคราะห์ เช่น สามีเป็นเบาหวานต้องตัดขาภรรยายังแข็งแรง เช่น หาขาเทียม หรือหาอาชีพให้ภรรยา
อีกทั้งจะให้เกษตรลงไป ปศุสัตว์ลงไป ประมงลงไป ดูแต่ละด้าน และจะลงไปที่ครัวเรือนแต่ละอำเภอ หัวหน้าทีม คือ นายอำเภอ มีอยู่ครอบครัวหนึ่งขยันมาก ปลูกผักบนคันคลองชลประทานไม่มีที่ดินของตนเองแต่จน พอไปดูปรากฏว่า ลูกเยอะ จนเพราะลูก 10 คน เราต้องหาดินให้เขาทำเพิ่ม ลูกที่ใช้แรงงานได้ก็ให้ไปช่วยงาน ดูสินค้าอะไรที่ช่วยได้ก็ช่วย อีกครอบครัวรับจ้างไปเรื่อย บางวันมีงานก็ทำ บางวันไม่มีงานก็อด นายอำเภอให้เครื่องตัดหญ้าเขาก็รับจ้างตัดหญ้า ใครจะตัดหญ้าก็มาที่คนนี้
“การแก้ปัญหาความยากจนจะทำให้พื้นที่เกิดความสงบสุขได้ สมมติปีนี้เราแก้ปัญหาของชาวบ้านให้หายจนได้ 1 ครอบครัว ปีต่อไปก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น สุดท้ายปัญหานี้ก็จะหายไป ทุกคนก็จะเกิดความมั่นคงในการใช้ชีวิต ปัตตานีก็จะไม่ใช่จังหวัดที่มีประชาชนจนอยู่ในอันดับต้นๆ อีกต่อไป” นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าว
นายโฮป อดีตขบวนการ BRN ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแเนภาคใต้ กล่าวว่า ความยากจนทำให้ชาวบ้านต้องเจอกับปัญหาหลายด้านแบบทับซ้อน ทั้งในเรื่องการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจ รวมทั้งเรื่องของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากความยากจน ความยากจนคือปัญหาอันดับต้นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา
ถือเป็นวิธีการที่ดีหากจะมีการกำจัดความยากจน ทำให้ชาวบ้านมีงานทำ ทำให้เขามีกิน ลูกสามารถไปโรงเรียนได้ เรียนหนังสือได้ เขาจะมีการศึกษาที่ดี เขาจะพาครอบครัวให้หายจน ความไม่สงบก็จะหายไปด้วย สิ่งที่ทุกคนเรียกร้องมาตลอด คือ ต้องการให้รัฐทำยังไงก็ได้ให้ชาวบ้านมีอาชีพ โดยเฉพาะในเรื่องของราคายาง ถ้าราคาดีคนอื่นที่ทำอาชีพอื่นๆ ก็จะดีไปด้วย
“การลงพื้นที่แบบเจาะจงเพื่อสำรวจความต้องการของชาวบ้าน ไปดูความเป็นอยู่ของคนที่ลำบากมีความยากจนจริงๆ ก็สำคัญ เป็นวิธีที่ดีอย่างน้อยก็สามารถรู้ปัญหา รู้ความต้องการ และท้ายสุดปัญหาก็จะสามารถแก้ได้ตรงจุด” นายโฮป กล่าว