xs
xsm
sm
md
lg

“การฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อหยุดการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ : ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรออกกฎหมาย Anti-SLAPP Law หรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
อ.เสาวณีย์  แก้วจุลกาญจน์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันทักษิณ และ
ดร.วัชรชัย  จิรจินดากุล  คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
 
 
การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP/สแลป) หรือที่เข้าใจและเรียกกันสั้นๆ ว่า “การฟ้องคดีปิดปาก” หรือ “การฟ้องให้หุบปาก” เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้กระบวนการทางศาล เพื่อยับยั้ง ขัดขวาง ข่มขู่การวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็น หรือเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ (Public interest)
 
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดแสดงความคิดเห็น หรือดำเนินการใดๆ ในประเด็นที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์สาธารณะมากไป จนเป็นการขัดขวางหรือทำให้อีกฝ่ายเสียผลประโยชน์ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจโดน “สแลป” หรือโดน “ดำเนินคดีถูกฟ้องให้หุบปาก” หรือ “ฟ้องปิดปาก” นั่นเอง
 
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการฟ้องคดีปิดปากนั้น มิได้มุ่งที่ผลแพ้-ชนะของคดี แต่เป็นการอาศัยกลไกทางศาลเพื่อข่มขู่ให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือมุ่งก่อให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นภาระทางการเงินในการต้องขึ้นศาล สูญเสียเงินหรือเสียเวลา เกิดความยุ่งยากต่างๆ ในกระบวนการต่อสู้คดี เช่น การแกล้งยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างความลำบากแก่จำเลยในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องจำเลยในข้อหาที่หนักกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่สุจริต จนกระทั่งท้ายที่สุดผู้ถูกดำเนินคดีหยุดแสดงความคิดเห็น หยุดตรวจสอบ หรือยอมประนีประนอม ขออภัย และแก้ไขข้อความที่ตนเคยพูด เป็นต้น
 
ทั้งนี้ โดยมากผู้ที่เป็นโจทก์ฟ้องจะเป็นกรณีบริษัทที่มีเงินทุน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนใหญ่ และผู้ที่ถูกฟ้องมักเป็นชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งโดยมากมักมีสถานะทางการเงินที่ด้อยกว่า
 

 
ตัวอย่างการฟ้องคดีปิดปากของประเทศไทยและต่างประเทศ
 
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีคดีที่เข้าลักษณะของการฟ้องปิดปาก หรือฟ้องให้หุบปากหลายคดี และโดยมากมักเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ ส่งผลให้มีกลุ่มบุคคลออกมาวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของโครงการพัฒนาเหล่านั้น ตลอดจนเรียกร้องหรือพิทักษ์สิทธิของตนหรือของชุมชน ตัวอย่างเช่น โครงการการพัฒนาภาคใต้ตามแผนพัฒนาฯ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และ โครงการท่าเรือนำลึกปากบารา เป็นต้น ซึ่งโครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่สร้างความวิตกกังวลแก่ชาวบ้านและชุมชน จนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นว่า อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะทั้งสิ้น 
 
คดีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยคือ คดีเหมืองหินเขาคูหา จังหวัดสงขลา โดยบริษัทที่ได้รับประทานบัตรในการระเบิดหินเขาคูหาในขณะนั้น ได้ฟ้องชาวบ้านเขาคูหาจำนวน 9 คนเป็นจำเลย และเรียกค่าเสียหายกว่า 64 ล้านบาท จากการที่ชาวบ้านทั้ง 9 คนร่วมกันคัดค้านการพิจารณาการขอต่ออายุประทานบัตร ทำให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเกิดความเสียหาย ไม่สามารถประกอบกิจการได้ โดยชาวบ้านได้มีการฟ้องแย้งไปในคดี จนทำให้บริษัทดังกล่าวได้ถอนฟ้องไปในที่สุด โดยคดีดังกล่าวศาลได้มีคำตัดสินพิพากษาให้บริษัทที่ได้รับประทานบัตร ชดใช้ค่าเสียหายต่อการเสื่อมเสียสุขภาพจิต และค่าต่อสู้คดีแก่ชาวบ้านทั้ง 9 คน
 
อาจกล่าวได้ว่า คดีเหมืองหินเขาคูหา นี้ถือเป็นพัฒนาการหรือความก้าวหน้าของศาลไทย ที่มีการสั่งให้มีการชดใช้ค่าเสียหายทางจิตใจแก่ชาวบ้าน และนักปกป้องสิทธิที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
 
นอกจากนี้ คดีเหมืองแร่ จังหวัดเลย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างคดีที่เข้าลักษณะของการฟ้องคดีปิดปาก โดยในคดีนี้ เป็นกรณีที่บริษัทซึ่งประกอบธุรกิจเหมืองแร่ดำเนินการฟ้องชาวบ้านจำนวน 6 คนเป็นจำเลย โดยบริษัทอ้างว่า จำเลยได้ร่วมกันก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน โดยมีข้อความว่า “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย กระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจึงเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินแก่บริษัทจำนวน 50 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ากระทำของชาวบ้านนั้น เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม เพื่อป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียที่เกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนที่ย่อมกระทำ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่เป็นการละเมิดโจทก์แต่อย่างใด
 

 
จะเห็นได้ว่า การฟ้องคดีทั้งสองกรณีข้างต้น เป็นการฟ้องชาวบ้าน หรือนักปกป้องสิทธิ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้สิทธิบุคคลและชุมชนมีสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา ปกป้อง หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การฟ้องคดีที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะของการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก หรือข่มขู่ให้ชาวบ้านหยุดการวิพากษ์วิจารณ์ โดยการบังคับให้คนที่พูดหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องสาธารณะนั้น จะต้องใช้เงินมหาศาล สูญเสียเวลา หรือสร้างขั้นตอนที่อาจก่อให้เกิดภาระอันมากเกินสมควรในการต่อสู่กับข้อกล่าวหา
 
ทั้งนี้ การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก มิได้เกิดขึ้นแต่เพียงในประเทศไทย หากแต่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วยเช่นกัน เช่น คดี Resolute Forest Products ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคดีที่บริษัทฟ้องนักปกป้องและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมต่อศาลอเมริกา โดยมีเจตนาการฟ้องเพื่อให้จำเลยหยุดวิพากษ์วิจารณ์
 
นอกจากนี้ ยังมีอีกคดีที่น่าสนใจคือ กรณีของท่อก๊าช Dakota ซึ่งกรณีดังกล่าว Greenpeace ถูกฟ้องกลับเป็นจำนวนเงิน 900  ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะ และสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็น
 
ปัจจุบันในหลายประเทศต่างได้มีกฎหมายออกมาป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก หรือ Anti-SLAPP Law แล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐจำนวนสูงถึง 29 รัฐ และบางรัฐของประเทศแคนาดา เป็นต้น และประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีกฎหมาย Anti-SLAPP Law เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น
 

 
ปัจจุบัน คดีหนึ่งที่น่าจับตามอง ซึ่งเกิดในประเทศไทย และน่าจะเข้าข่ายของการฟ้องคดีปิดปากคือ กรณีที่กลุ่มชาวบ้านในนาม “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ร่วมกันเดินเท้าเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสนถานที่ที่จังหวัดสงขลา ตามกิจกรรม “เดิน...เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน..หานายกฯ หยุดทำลายชุมชน” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 17 คน ในข้อหา 
 
ร่วมกันเดินหรือแห่อันเป็นการกีดขวางการจราจร ปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำการใดๆ บนถนนหลวง ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล ร่วมกันตั้งแต่ คนขึ้นไป ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำตามหน้าที่ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่จิตใจ และพาอาวุธไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร 
 
ซึ่งปัจจุบันนั้น พนักงานอัยการได้มีการสั่งฟ้องแกนนำทั้ง 16 คน และเยาวชน 1 คน ต่อศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 (คดีหมายเลขดำที่ 115/2561)
 
ในแง่มุมทางวิชาการ การที่กลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นเดิน แสดงความคิดเห็นเพื่ออนุรักษ์ปกป้องจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ต่างเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ
 
โดยสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
 
อีกทั้งยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกด้วย
 

 
ทั้งนี้ การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการปรับใช้และการตีความกฎหมายที่ไม่ได้พิจารณาบริบทเหตุการณ์ ไม่อยู่บนฐานของเจตนารมณ์และความจริงของเหตุการณ์ อีกทั้งยังไม่ได้สัดส่วน แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐ กับฝ่ายชาวบ้าน 
 
หากพิจารณาดูรูปแบบกิจกรรมการเดินเท้า ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการขัดขวางการจราจร ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล หรือการมองว่าลักษณะของธงข้อความสีเขียวที่ชาวบ้านถือในขบวนนั้น อาจใช้เป็นอาวุธต่อสู้ทิ่มแทงเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่มุมมองและเจตนาของชาวบ้าน ธงดังกล่าวเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้แสดงออกซึ่งข้อความ แสดงความคิดเห็นที่สาระสำคัญอยู่บนเนื้อหาของธงที่มุ่งปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิใช่ลักษณะของด้ามธง หรือปลายธง ที่จะใช้เป็นอาวุธแต่อย่างใด
 
จะเห็นได้ว่าการตีความเจตนารมณ์และการปรับใช้กฎหมาย มีลักษณะไม่สมเหตุสมผล และเป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมาย การดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำทั้ง 17 คน ที่มุ่งแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ปกป้องชุมชน หรือฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน จึงไม่ควรที่จะมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
 
ปัจจุบันเพื่อสนับสนุนแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการหรือประโยชน์สาธารณะ ประเทศไทยโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีความพยายามในการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนของหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี หรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา การฟ้องหมิ่นประมาทผู้ชุมนุม หรือการออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ที่มีต่อชุมชน เป็นต้น
 
ด้วยเพราะเห็นว่า การดำเนินคดีทางศาลไม่ควรถูกใช้โดยบิดเบือน โดยไม่สุจริต หรือใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้ง บั่นทอน หรือขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นประโยชน์สาธารณะ
 
ซึ่งเรื่องนี้ยังมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า หากประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปากแล้ว จะสามารถใช้บังคับได้จริง และมีประสิทธิภาพหรือไม่ จะสอดคล้องกับนโยบายและหลักกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตามที่ได้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ และกฎหมายดังกล่าวจะรวมถึงการกลั่นแกล้งฟ้องคดี เพื่อปิดปากนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นประโยชน์สาธารณะโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและติดตามกันต่อไป
 

 
อ้างอิง
 
การฟ้องคดีปิดปาก รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ilaw.or.th
อ่านเพิ่มเติม ชาวบ้านเขาคูหากระอัก เจอฟ้องกลับเรียก 64 ล้าน. ประชาไท. www.prachatai.com/journal
คำฟ้องคดีเหมืองหินเขาคูหา
คำฟ้องคดีเหมืองแร่จังหวัดเลย
อ่านเพิ่มเติม SLAPP…ตบปากให้หยุดพูด www.thaipublica.org
อ่านเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น