ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อัยการส่งฟ้อง "แบมุส" บ่ายสองลุ้นได้ประกันหรือถูกขัง ทีมทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวต่อศาล พร้อมเปิดเผยเนื้อหาข้อมูลเหตุการณ์ทั้งหมด เชิญสาธารณชนมาร่วมกันพิจารณา ที่มาที่ไปของความเดือดร้อนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา
วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ศาลสงขลา ในเวลาประมาณ 14.00 น.อัยการสงขลา จะส่งฟ้องนายมุสตารซีดีน วาบา หรือที่รู้จักกันในนาม “แบมุส” สมาชิกคนหนึ่งเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งตกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นรายที่ 17 หลังจากสมาชิกเครือข่าย 16 คนได้ถูกสั่งฟ้องคดีและได้รับการประกันตัวในชั้นศาลไปแล้วก่อนหน้านี้
นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ "แบมุส" กล่าวว่า เวลาประมาณ 14.00 น.วันนี้อัยการสงขลาจะส่งฟ้องแบมุสในคดีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกสืบเนื่องจากเหตุการณ์ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีเดินเท้ามาจาก อ.เทพา เป็นระยะทางเกือบ 80 กิโลเมตร เพื่อมายื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาประชุม ครม.สัญจร ให้ทบทวนและยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ 16 คน และล่าสุดออกหมายเรียกแบมุสเพิ่มเติมเป็นคนที่17 และวันนี้อัยการส่งฟ้องศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้นายกฤษดา มาถึงศาลสงขลาแล้วและกำลังดำเนินการขอยื่นประกันตัว โดยทางเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าต้องใช้วงเงินประกัน 90,000 บาท ต้องรอดูว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาแบมุสและพวกรวม 17 คนที่ถูกจับกุมได้เข้ายื่นหนังสืออัยการสงขลาเพื่อขอความเป็นธรรม แต่อัยการยังไม่พิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าว วันนี้อัยการดำเนินการส่งฟ้องศาล
รายละเอียดของหนังสือที่ยื่นขอความเป็นธรรมอ้างว่า
ข้าพเจ้าทั้ง ๑๗ คน ดังมีรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายฐาน “ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล เดินขบวนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุม
และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธ ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และ ในความผิดฐานเป็นแกนนำหรือได้เข้าร่วมชุมนุมไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มเวลาชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ
นอนขวางช่องทางเดินรถ ในลักษณะกีดขวางการจราจร ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่สัญจร และเป็นการปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะ” เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นั้น
ข้าพเจ้าทั้ง ๑๗ ขอเรียนว่า ข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานีและสตูล ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่มีขนาดกำลังการผลิตมากถึง ๒,๒๐๐ เมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และจะมีผลกระทบในวงกว้าง ข้าพเจ้าและชาวบ้านตลอดทั้งชุมชนในพื้นที่ต่างๆ
จึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลผลดีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดถึงนำเสนอข้อกังวลหรือข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล
แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานเจ้าของโครงการและรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจังโดยเฉพาะในเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ ๑ (ค.๑) และเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ ๓ (ค.๓) ได้มีการกีดกันขัดขวางไม่ให้ผู้เห็นต่างเข้าร่วมเวทีไปแสดงความคิดเห็นและแสดงเหตุผลในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยใช้รถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ รั้วลวดหนาม และกำลังทหารจำนวนมาก
มีการจัดตั้งเกณฑ์คนมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินและแจกข้าวสารแก่ผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหมดเห็นว่าเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
อีกทั้ง ปรากฏว่า เนื้อหาในรายงาน EHIA ก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและสภาพพื้นที่ ซึ่งข้าพเจ้ากับพวกและเครือข่ายได้ร่วมกันคัดค้านด้วยการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆเพื่อแสดงเหตุผลคัดค้านมาโดยตลอด ซึ่งแม้เครือข่ายฯ ได้พยายามยื่นหนังสือขอให้ทบทวนแก้ไขหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง และปรากฏว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการซึ่งมีหน้าที่พิจารณาได้อนุมัติผ่านความเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปในที่สุด ทั้งๆที่ยังมีข้อโต้แย้งทางวิชาการในหลายประเด็น
ต่อมา ข้าพเจ้าและเครือข่ายฯ ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เห็นว่า เป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ยื่นหนังสือและชี้แจงข้อเรียกร้องโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีอำนาจในการตัดสินใจโครงการ
โดยตกลงที่จะเดินเท้าจากอำเภอเทพา ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เพื่อจะได้ให้ข้อมูลกับชุมชนต่างๆ ตลอดเส้นทางที่เดินผ่านด้วย โดยข้าพเจ้าทั้งหมดเห็นว่า การเดินเท้าเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๓ (๓) ในการที่จะยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนหรืองดเว้นการกระทำใดๆอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน อันถือเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย
แต่เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การเดินเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ ข้าพเจ้าและเครือข่าย ฯ ก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งในการแจ้งการชุมนุม แจ้งรายละเอียดการเดินทาง และได้ยื่นขอผ่อนผันต่อเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วน โดยมอบหมายให้ นายเอกชัย อิสระทะ และ นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ เป็นผู้ดำเนินการแจ้งการชุมนุม
ข้าพเจ้าทั้งหมด ขอเรียนว่า ตลอดระยะเวลาการเดินเท้าจากอำเภอเทพา ตั้งแต่วันที่ ๒๔ จนถึงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นไปอย่างสงบ เปิดเผย มีเพียงการแจกเอกสารข้อมูล ป้ายผ้าและธงขนาดเล็ก เพื่อเขียนข้อความรณรงค์เท่านั้น ซึ่งการเดินก็เป็นลักษณะแถวตอนเรียงหนึ่ง มิได้กีดขวางหรือเป็นอันตรายกับการจราจรแต่อย่างใด โดยในระหว่างการเดินทางก็ได้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้วยดีมาโดยตลอด
ส่วนเหตุคดีนี้นั้น เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดต่อกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อจะปิดกั้น กดดัน ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่ให้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ช่วงเวลาประมาณก่อนเที่ยง หลังจากที่ข้าพเจ้ากับพวกได้เดินเท้ามาโดยสงบเหมือนเช่นวันก่อนๆ ได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายตั้งแถวปิดการจราจรบริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาขัดขวางมิให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่น ๆ เดินเท้าต่อไป ตามที่ได้แจ้งและตกลงกันไว้
ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่นๆ มิได้มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหา หากแต่กลับปรากฏว่า มีการสั่งการให้ใช้กำลังจำนวนมากเข้าจับกุมข้าพเจ้ารวมทั้งชาวบ้านคนอื่นๆ โดยไม่มีอำนาจ ไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้แจ้งเหตุให้ข้าพเจ้าทราบ ทำให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่น ๆหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังเข้าจับกุมดังกล่าว
ข้าพเจ้าทั้งหมดขอเรียนว่า การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่าข้าพเจ้าร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุม และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอีกทั้งการกล่าวหาว่าข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นแกนนำจัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สงบและมีอาวุธ นั้น
ก็เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินเลยต่อความเป็นจริง บิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ข้าพเจ้าทั้งหมดเคยขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานบุคคลซึ่งเป็นเชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ดำเนินการใด แล้วส่งฟ้องข้าพเจ้าต่อพนักงานอัยการ
ข้าพเจ้าจึงเรียนมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากท่าน เพื่อขอให้ท่านได้โปรดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมพยาน ดังต่อไปนี้
๑. ผศ.ดร. จันทร์จิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านสอบสวนถึงความเป็นมาของการลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการของข้าพเจ้ากับพวก เพื่อให้เห็นถึงมูลเหตุที่จำเป็นจะต้องเดินทางด้วยเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ท่านมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มพยาน ดังต่อไปนี้
๑. ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ๒. ดร.อาภา หวังกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยรังสิต
๔.นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ๕.นายสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้นข้าพเจ้าทั้ง ๑๗ คนจึงมิได้กระทำความผิดหรือมีเจตนากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา การจับกุมและตั้งข้อกล่าวหามิได้ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงเพื่อประสงค์จะปิดกั้นการใช้สิทธิของชุมชน
ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ข้าพเจ้าทั้งหมดมิได้กระทำความผิดในลักษณะเป็นอาชญากร การจับกุมดำเนินคดีข้าพเจ้าทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะหรือประเทศชาติแต่อย่างใด
จึงขอให้ท่านโปรดมีคำสั่งให้สอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม และขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ อันจะเป็นการรักษาเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมาย คุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและดำรงไว้ซึ่งการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนตามกฎหมายต่อไป
แถลงการณ์ เครือข่ายคนสงขลา - ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เรื่อง ขอให้ยุติการด าเนินคดีประชาชนผู้ใช้สิทธิปกป้องชุมชน และทบทวนกระบวนการพจิารณาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การปกป้องชุมชน” คือสิทธิอนัชอบธรรมที่พึงกระทา ได้ การออกเดินด้วย ความสงบ และสันติของพวกเราชาวเทพา และพี่น้องผู้มีความเชื่อมั่นต่อแนวทางดังกล่าวจึงได้เกิดขึ้นใน ระหว่างวันที่ 24 - 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพียงเพื่อสื่อสารให้นายกรัฐมนตรีได้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อนที่ ก าลังจะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
หลายปีที่ผ่านมานี้ พวกเราทั้งหลายได้พยายามหาช่องทางต่าง ๆ เพื่อที่จะสื่อสารของความเดือดร้อน และความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นจากการดา เนินงานของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ทั้ง การยื่นหนงัสือร้องเรียน ร้องทุกข ์ขอความเป็นธรรม หรือแม้แต่การออกมาแสดงออกต่อสื่อสาธารณะ และ การเดินทางไปยงัหน่วยงานส่วนกลางอย่างเช่น สภานิติบัญญัติ,ส านกังาน,กรม,กระทรวงฯ รวมถึงทำเนียบ รัฐบาลที่กรุงเทพมหานครอันเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของท่านนายกรัฐมนตรีเอง
แต่กลับไร้การตอบรับใดๆ ที่จะทา ให้เกิดความคลายจากทุกข์นั้นได้ เหตุผลของมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ บนฐานกำลังการผลิต 2,200 เมกกะวัตต์ที่นกัวิชาการด้านพลงังาน และด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกมาติงเตือนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ และผู้ที่อยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้จะมีคำอธิบายของ กฟผ. ถึงกรรมวิธีที่จะทำให้ถ่านหินสะอาดก็ตาม
นอกจากนั้นแล้วคือการอพยพโยกย้ายพวกเราซึ่งเป็นประชาชนจำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน ที่อาศัยกันอยู่เป็นชุมชนที่มีวิถี มีวัฒนธรรมอย่างยาวนานออกจากพื้นที่เกือบ 3,000 ไร่ อันเป็นผลกระทบโดยตรงต่อพวกเราคนในพื้นที่ ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องการจะนำเรียนเพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบในโอกาสที่ท่านเดินทางมา จังหวัดสงขลาซึ่งคือบ้านของเรา
แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นท่าทีของความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และของท่านเองที่ไม่ต้องการเห็นภาพการแสดงออกของพวกเราทั้งหลายที่ได้เดินออกมาจากบ้านตัวเอง เพื่อมายื่นหนังสือร้องทุกข์ให้กับท่านในโอกาสนี้
การจับกุมและดำเนินคดีกับพวกเราทั้งหมด 16 คน และอาจจะมีแนวโน้มที่จะแจ้งข้อกล่าวหา เพิ่มเติมอีกนับร้อยคนหลังจากนี้ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายไม่อาจจะยอมรับได้ การเดินอย่างสงบและสันติบนเส้นทางระหว่างบ้านของเรา และผ่านหมู่บ้านต่างๆ จนถึงจังหวัดสงขลา เพื่อมาหาท่านนายกรัฐมนตรี
ซึ่งเราก็ได้เข้าแจ้งเจตจำนงด้วยความสุจริตใจกับเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่เราเดินผ่าน และในการเดินแต่ละวันก็ได้มีการแจ้งเส้นทาง แจ้งที่พักรับประทานอาหาร และที่นอนให้ทราบทุกครั้งทุก ระยะและทุกวัน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามสถานการณ์ก็ได้มีการแจ้งเพิ่มเติมในภายหลัง
ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็เลือกที่จะสลายการชุมนุม จับกุม และดำเนินคดีกับพวกเรา อย่างที่รับรู้อย่างทั่วกันแล้ว หากแต่เป็นสิ่งที่พวกเราซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่และสังคมส่วนใหญ่ไม่อาจจะยอมรับได้ และที่มากไปกว่านั้นคือการปิดกั้นที่จะรับสารของความเดือดร้อนของพวกเราในฐานะประชาชนในพื้นที่ ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเข้าใจ และทำใจยอมรับได้เสียมากกว่า
จึงถือว่าเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดคือสิ่งที่เกินความคาดคิดของพวกเรา และถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและเกินความจำเป็น ทั้งการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง การจับกุมดำเนินคดีกับพวกเราทั้ง 16 คน ที่รวมถึงเยาวชน ผู้มีเจตนาในการปกป้องชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กับการพันธนาการด้วยโซ่ตรวนที่เสมือนเป็นโจรผู้ร้ายคดีอุกฉกรรจ์อย่างที่ปรากฏในสื่อต่างๆ
ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์และด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิอันชอบธรรมของพวกเราทั้งหลายต่อการกระทำในครั้งนี้ เราจึงไม่อาจจะยอมรับข้อกล่าวหา และการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้
เราจึงขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดกับทุกคน และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีการทบทวนในท่าทีเสียใหม่ โดยการหนัมารับฟังปัญหา ความทุกข์ร้อน และความไม่เป็นธรรมที่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างจริงจัง ก่อนที่เหตุจากเรื่องเหล่านี้จะบานปลายกลายเป็นความ ขัดแย้งมากไปกว่านี้ ลงท้าย..ด้วยความสันติ 12 ธันวาคม 2561