พังงา - ชาวบ้านนิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง จ.พังงา กว่า 60 คน ลงแขกเกี่ยวข้าวไร่ดอกข่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพังงาในแปลงพื้นที่ 13 ไร่ ของชุมชนสำหรับปลูกข้าวไร่ไว้บริโภค และอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวประจำถิ่น
นายสุพงษวินัย ชูยก นายอำเภอท้ายเหมือง พร้อมด้วย นางวิไลวรรณ พลจร ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง นายชาติ คงรื่น เกษตรอำเภอท้ายเหมือง นายโสภณ เคี่ยมการ ผอ.สวท.พังงา นำชาวบ้านในพื้นที่นิคมสร้างตนเองกว่า 60 คน ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวไร่ดอกข่า ในพื้นที่ 13 ไร่ ในแปลงยางพาราปลูกใหม่ของ นายศักดิ์ชัย-นางฐิติมา สุคนธชาติ ข้าราชการครูบำนาญที่มอบให้ชุมชนใช้เป็นแปลงสำหรับปลูกข้าวไร่ไว้บริโภค และอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวประจำถิ่น ให้อยู่คู่ชาวจังหวัดพังงาตลอดไป
นายสุพงษวินัย ชูยก นายอำเภอท้ายเหมือง กล่าวว่า เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการกินการอยู่ของชุมชน และการช่วยกันเก็บรักษาพันธุ์ข่าวไร่ดอกข่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ข้าวไร่ชื่อดังของจังหวัดพังงาเอาไว้ โดยในพื้นที่นี้เริ่มปลูกกันเมื่อปี 2558 และปีนี้ชุมชนในตำบลทุ่งมะพร้าว ได้ร่วมกันปลูกรวม 3 แปลง ในเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ผลดีที่เกิดขึ้น คือ การได้รวมกลุ่มของชาวบ้านซึ่งมีทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิมมาร่วมปลูกข้าวด้วยกัน ส่วนผลผลิตก็มาแบ่งแจกจ่ายกันไป
นายชาติ คงรื่น เกษตรอำเภอท้ายเหมือง กล่าวว่า ข้าวดอกข่าเป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่มีความต้านทานต่อโรค เมล็ดยาว สีของเมล็ดข้าวสารมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นใบเตย รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง หุงขึ้นหม้อ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 60-70 บาท ส่วนข้าวขายได้ตันละกว่า 30,000 บาท ที่ผ่านมานั้น ผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในจังหวัด
โดยเริ่มปลูกในพื้นที่ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง ซึ่งเป็นการปลูกแซมในแปลงปลูกยางพารา หรือแปลงปลูกปาล์ม ในระยะแรกปลูก 3 ปีแรก และต่อมา ได้ขยายปลูกในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดพังงา และล่าสุด เมื่อปี 2560 ทางศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดกระบี่ ก็ได้รับรองสายพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในชื่อ “ข้าวไร่ดอกข่า 50”