xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีนฮากกาในเมืองเบตง (Chinese Hakka in Betong City) / Dr.Ma Guitong

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่การกระจายอยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
 
Dr.Ma  Guitong
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
 
 
 
อำเภอเบตง ในอดีตแรกเริ่มเชื่อว่า เป็นพื้นที่มีกลุ่มคนที่พูดภาษายาวี หรือมลายูท้องถิ่นอาศัยอยู่ ไม่มีรูปแบบชุมชนที่แน่นอน หากเป็นเพียงลักษณะของการอยู่ที่กระจัดกระจายโดยทั่วไป เนื่องจากไม่มีหลักฐานบันทึกหรือร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานปรากฏ หากเพียงแต่ปรากฏหลักฐานจากคำบอกเล่าที่ปรากฏในหนังสือภาษาจีนของ สมาคมก๋องสิ่ว และ สมาคมบำเพ็ญบุญมูลนิธิ ที่เผยแผ่ในราวปี พ.ศ.2535 ต่างลงความเห็นตรงกันว่า ใน พ.ศ.2343 ได้มีชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยนำเรือมาขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซีย แล้วเดินทางเท้าหรือนั่งเกวียนเข้ามายังพื้นที่อำเภอเบตง ด้วยสมาชิกประมาณ 10-20 คน ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาว สภาพพื้นที่ในขณะนั้นยังคงเป็นป่าทึบที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด โดยมี นายฟูศักดิ์ จันทโรทัย (เจิ้งฝ๋อเซิง) ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นชาวจีนคนแรกที่เข้ามาตั้งรกรากเพื่อทำการค้าขาย ณ จุดนี้เป็นเมืองเบตงในปัจจุบัน ภายหลังชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกว่างซี (เป็นมณฑลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ของจีน ดินแดนส่วนหนึ่งติดกับประเทศเวียดนาม) เป็นกลุ่มชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดของเบตง มีส่วนในการบุกเบิกเมืองเบตงมากที่สุด เนื่องจากทางราชการไทยในขณะนั้น ต้องการกำลังคนในการบุกเบิกพื้นป่าไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้คนในบริเวณนี้สามารถจับจองที่ดินได้ตามกำลังความสามารถ เพียงช่วงเวลาหนึ่งผืนป่าอันกว้างใหญ่ตระหง่านอยู่ทั่วขุนเขา ได้ถูกแปรสสภาพกลายเป็นสวนยางพาราพื้นเมือง และพัฒนาเป็นเมืองเบตง ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลความหมายว่า ไม้ไผ่ สืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน  (ชูเกียรติ แซ่ตั้ง. 2550 : 31-32)
 
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาที่สมาคมฮากกาเบตง
 
เมืองเบตงตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ทางตอนใต้สุดของประเทศไทย ลักษณะของพื้นที่คล้ายหัวหอกที่พุ่งไปอยู่ในดินแดนประเทศอื่น พื้นที่ประกอบด้วยที่ราบสูง เนินเขา ลุ่มน้ำ โดยสภาพพื้นที่ทั่วไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,900 ฟุต พื้นที่ของอำเภอเบตงตั้งอยู่ในหุบเขามีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ มีลำคลองสำคัญไหลผ่านใจกลางเมืองเบตง คือ คลองเบตง ไหลจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำปัตตานี ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา จึงเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดยะลาและภาคใต้ คือ แม่น้ำปัตตานี อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนบางลาง ซึ่งมีความสำคัญคือ ผลิตกระแสไฟฟ้าให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองยะลา สภาพทางธรรมชาติทำให้เมืองเบตงมีหมอกตลอดปี จึงได้รับสมญานามว่า “เมืองในหมอกและดอกไม้งาม” เมืองเบตง เป็นเมืองประตูหน้าด่านที่สำคัญของพื้นที่ตอนใต้สุดของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้เมืองเบตงเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างดีเมืองหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยให้มีการออกแบบงานด้านสิ่งก่อสร้างภายนอกอาคารมีความกลมกลืนกับงานออกแบบปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง  (สุริยะ วัลลภาภิรมย์. 2553 : 16) 
 
ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในอำเภอเบตงจะอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 หรืออยู่ในช่วง ค.ศ.1880-1930 (พ.ศ.2423-2473) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อนับย้อนหลังแล้ว ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในอำเภอเบตงนับถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณ 130 ปี ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในอำเภอเบตงในสมัยนั้น ล้วนเดินทางจากภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย และเนื่องจากมีความสะดวกกว่าในการเดินทาง การค้าขายในสมัยนั้นจึงเป็นการค้าขายกับมาเลเซีย ในรูปแบบแลกเปลี่ยนสินค้า สินค้าส่งออกก็มียางพารา ข้าวสาร สินค้านำเข้าก็มีอาหาร วัสดุก่อสร้าง สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการลำเลียงสินค้าไปสู่ที่หมายนอกจากว่าจ้างรถเกวียน หรือใช้แรงงานวัวที่มีความสะดวก แต่ก็ต้องเสียค่าขนส่งในอัตราที่ไม่แน่นอน จนบางเที่ยวได้ไม่คุ้มทุน บางคนจึงเลือกที่ใช้แรงงานตัวเอง คือ ใช้วิธีแบกหามหรือหาบ โดยใช้เส้นทางลัดผ่านป่าเขาทางชายแดน ซึ่งมีระยะทางที่สั้นกว่า แต่กว่าจะขนได้เที่ยวหนึ่ง คือขาไปและขากลับ ก็ต้องใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม ซึ่งมีความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ด้วยความขยันขันแข็ง มานะ อดทน และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้ดีของชาวจีน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สามารถหนุนนำให้ฟันฝ่าอุปสรรค สร้างฐานะของตนขึ้นมาตามลำดับ อำเภอเบตงจึงได้มีความเจริญที่รุ่งเรือง ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้  (สุริยะ วัลลภาภิรมย์. 2553 : 13-14)
 
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาที่สมาคมฮากกาเบตง
 
ชาวจีนส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาในอำเภอเบตงก็ได้รับจ้างถางป่าหักร้างถางพงผืนป่า หลังจากนั้นก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่าชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน ที่มีดินแดนบางส่วนติดกับประเทศเวียดนาม เป็นกลุ่มชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตง ที่มีส่วนบุกเบิกอำเภอเบตงมากที่สุด ซึ่งเรียกกลุ่มตนเองว่า กวางไส ซึ่งในปัจจุบันชาวจีนในอำเภอเบตงมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กวางตุ้ง ฮากกา ฮกเกี้ยน และ แต้จิ๋ว จึงส่งผลให้ภาษาและวัฒนธรรมพื้นฐานในอำเภอเบตงมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดวงทางสังคม เชื้อชาติและศาสนา เช่น ภาษาไทย ภาษามลายูปัตตานี ภาษาจีนกวางตุ้ง ภาษาจีนกวางไส ภาษาจีนฮากกา ภาษาจีนฮกเกี้ยนและภาษาจีนแต้จิ๋ว
 
จากการศึกษาประวัติการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนฮากกาในอำเภอเบตง พบว่า มีชาวจีนแคะ (ฮากกา) กลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดกวางตุ้งของประเทศจีน ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และเมื่อเห็นว่าการทำมาหากินไม่สะดวก จึงได้ชักชวนญาติพี่น้องประมาณ 20 คน อพยพเข้ามาอาศัยในอำเภอเบตง เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านบ่อน้ำร้อน (ปัจจุบัน) ได้ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ และเมื่อเห็นว่าทำมาหากินสะดวก อยู่เย็นเป็นสุข จึงได้ชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่เป็นจีนฮากกาด้วยกันเข้ามาอาศัยอยู่รวมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทางราชการจึงได้จัดสรรที่ดินให้ทำกินจำนวน 20,000 ไร่ ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ว่านหยี่ไร่” แปลเป็นภาษาไทยว่า สองหมื่นไร่ ต่อมาทางราชการไทยได้ตั้งชื่อให้เป็นภาษาไทยว่า “บ้านบ่อน้ำร้อน” ซึ่งระยะแรกๆ ที่หมู่บ้านบ่อน้ำร้อนยังไม่มีโรงเรียนสอนภาษาไทย มีแต่โรงเรียนสอนภาษาจีนที่ชื่อว่า โรงเรียนเซียงหลิน (香林学校) ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกากลุ่มนี้ตั้งขึ้น เพื่อสอนภาษาจีนกลางให้กับคนในหมู่บ้าน โรงเรียนนี้เปิดสอนอยู่นานและได้เลิกกิจการไป เมื่อทางราชการไทยได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2507 คือโรงเรียนบ่อน้ำร้อน ทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนภาษาไทย และสามารถพูดภาษาไทยได้ดีขึ้น อีกทั้งจากการได้พบปะกันคนไทยถิ่นใต้ ตลอดจนชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาบางคนได้แต่งงานกับคนไทยถิ่นได้ จึงทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกากลุ่มนี้สามารถพูดภาษาไทยถิ่นใต้ได้มากขึ้น ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ที่บ้านบ่อน้ำร้อน และมีชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาบางส่วนที่แยกออกไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านอื่นๆ แต่ก็มีเพียงส่วนน้อย ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา ซึ่งอาศัยอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ที่ตำบลเนาะแมเราะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หมู่ที่ 2 บ้านบ่อน้ำร้อน รองลงมาคือ หมู่ที่ 1 บ้านจาเราะปะไต ตำบลตาเนาะแมเราะ และที่ตำบลยะรมคือ หมู่ที่ 4 บ้านจันทรัตน์ ตามลำดับ  (กมลชนก คงแก้ว, 2544 : 4-5)
 
บ้านแถวของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาชุมชนกิโล 4 ในอำเภอเบตง
 
ชาวจีนฮากกาส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถวบ้านบ่อน้ำร้อน สี่กิโล (ซื่อเถี๋ยวเปย) บ้านวังใหม่ของอำเภอเบตง อาชีพดั้งเดิมชาวจีนฮากกาคือ ทำไร่ ทำสวนผลไม้ ปลูกผัก ทำสวนยางพารา กรีดยาง เป็นต้น ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเจ้าของยางพารา นายหน้า หรือพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรและอื่นๆ และได้เริ่มก่อตั้งชมรมฮากกาในปี พ.ศ.2496 โดยมี เจิงเจี้ยนเล่อ ไล่เลี่ยงฟา จงจินชู หลี่ป๋อเหมย อูเหวินจิ้น เลี่ยวจินสุ่ย และอื่นๆ ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ชมรมฮากกาเบตง ในปี พ.ศ.2500 ได้ตั้งคณะกรรมการ โดยมี นายเจิงเจี้ยนเล่อ เป็นหัวหน้า และต่อมาในปี พ.ศ.2507 หลังผ่านการลงมติ ที่ประชุมคณะกรรมการได้เริ่มสะสมเงินทุนก่อสร้างชมรม และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2512 ตั้งชื่อเป็น ชมรมฮากกาประจำอำเภอเบตงแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2522 ได้เสนอความคิดก่อสร้างศาลบรรพบุรุษฮากกา และสร้างห้องกงเต๊กสำหรับเซ่นไหว้บรรพชน และได้สร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.2524 มีการจัดพิธีเซ่นไหว้ปีละ 2 ครั้ง และได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทยจัดตั้งเป็นสมาคม จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมฮากกาเบตง ใน พ.ศ.2542 ต่อมาสมาคมฮากกาเบตงได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสมาคมฮากกามิตรสัมพันธ์แห่งประเทศไทยใน พ.ศ.2544 และสมาคมฮากกาเบตงได้ตั้งอยู่ที่เลขที่ 134 ถนนสุขยางค์ ตำบลเบตง อำเภอเบตง  (สมาคมฮากกาเบตง. 2003 : 10-11)
 
บ้านแถวของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาชุมชนกิโล 4 ในอำเภอเบตง
 
กลุ่มชาวจีนฮากกาเบตงนั้น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ถือได้ว่าเป็นต้นแบบวัฒนธรรมฮากกาในประเทศไทยก็ว่าได้ ชาวจีนฮากกาที่เบตงแรกเริ่มได้ขึ้นฝั่งที่รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซียก่อน ชาวจีนฮากกาเบตงส่วนใหญ่มาจากอำเภอเหมยเสี้ยน (เหมยโจวในปัจจุบัน) มณฑลกวางตุ้ง และอำเภอหยงเสี้ยนของมณฑลกวางสี และได้ประกอบอาชีพปลูกยางพารา ปลูกผัก ทำสวน เป็นต้น แต่ไม่ค่อยถนัดเรื่องการค้าเท่ากับกลุ่มแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ชาวจีนฮากกเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ตานาะแมเราะในอำเภอเบตง มีชุมชนอาศัยอยู่ในอำเภอเมือง บ่อน้ำร้อน และสี่กิโล (ซื่อเถี๋ยวเปย) ในอำเภอเบตง พวกชาวจีนฮากกาในเบตงยังคงได้รักษาอัตลักษณ์ของตนเองอย่างดี เช่น ยังมีแนวคิดให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม มากว่าการค้าธุรกิจตามหลักลัทธิขงจื๊อ รักษาประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา ถึงแม้ว่าชาวจีนฮากกาในอำเภอเบตงมีการผสมผสานวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาในการดำเนินการชีวิตก็ตาม  (Huang. 2014 : 96-105)  เนื่องจากต้องมีปฏิสัมพันธ์กลุ่มชนกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น กลุ่มมุสลิม กลุ่มจีนอื่นๆ กลุ่มไทยพุทธ แต่ก็ยังคงรักษา “ความเป็นจีนฮากกา” “ความเป็นจีน” ของตนได้เป็นอย่างเด่นชัด ที่น่าสนใจคือ ชาวจีนฮากกาส่วนใหญ่สามารถฟังหรือพูดภาษาฮากกาและภาษาจีนได้ ไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ชาวจีนฮากกาในอำเภอหาดใหญ่ปัจจุบันบางส่วนเป็นชาวจีนฮากกาที่อพยพจากอำเภอเบตง ดังนั้น ชุมชนจีนฮากกาที่อำเภอเบตงเป็นแหล่งสำคัญของชุมชนฮากกาในภาคใต้
 
งานเลี้ยงครบรอบ 64 ปี และงานครบรอบชมรมฮากกาสตรี 17 ปีของสมาคมฮากกาเบตง
งานฉลองครบรอบชมรมสตรีฮากกาเบตง 18 ปีที่สมาคมฮากกาเบตง
งานฉลองครบรอบชมรมสตรีฮากกาเบตง 18 ปีที่สมาคมฮากกาเบตง
 
เอกสารอ้างอิง 
 
กมลชนก คงแก้ว  (2544). ศึกษาเสียงและระบบเสียงภาษาไทยถิ่นที่ชาวไทยเชื้อสายจีนแคะ สามระดับอายุใช้ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา. วิทยานิพนธ์  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต.  สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ.
 
ชูเกียรติ แซ่ตั้ง. (2550).  สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ในบริบทแห่งขุนเขาและสายหมอก กรณีศึกษาอำเภอเบตง จังหวัดยะลา.  วิทยานิพนธ์  สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต.  กรุงเทพ ฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
 
สมาคมฮากกาเบตง  (2003).  อนุสรณ์ครบรอบ50 ปี- ฉลองเปิดอาคารใหม่.  (Lu Guozhiบรรณาธิการ) . ยะลา: สมาคมฮากกาเบตง .
 
สุริยะ วัลลภาภิรมย์ (2553). อัตลักษณ์ชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอเบตง. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา.
 
Huang, Y.X (2014). The Hakka People in Betong and the Development of Rubber Plantation in Thailand. Taiwan : National Central University.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น