xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงบ่ออิฐสงขลายังใช้ “รางไม้” นำเรือเข้าฝั่งสืบทอดวิถีชีวิตชาวเลดั้งเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ่ออิฐ อ.เมืองสงขลา ยังคงสืบทอดวิถีชีวิตของชาวเลดั้งเดิม โดยเฉพาะการนำเรือขึ้นฝั่งที่ยังใช้ “รางไม้” มาเรียงต่อกันจากริมทะเล จนถึงจุดจอดเรือ โดยมีชาวประมงที่คอยช่วยกันดันเรือขึ้นฝั่ง

วันนี้ (5 ม.ค.) ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา หนึ่งในชุมชนชาวเลของ จ.สงขลา ที่ยังคงยึดอาชีพทำการประมงชายฝั่งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาวประมงพื้นบ้านที่บ้านบ่ออิฐ คือ วิธีนำเรือขึ้นฝั่ง หลังจากที่นำเรือกลับเข้าฝั่ง หรือในช่วงที่คลื่นลมแรง

นั่นคือ การนำไม้มาทำเป็นรางไม้สำหรับลากเรือขึ้น ซึ่งรางแต่ละอันจะกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 2-3 เมตร นำมาวางต่อกันเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ริมทะเลจนถึงจุดที่จะนำเรือมาจอด ซึ่งจะทำให้การนำเรือขึ้นฝั่งง่ายขึ้น เพราะเรือจะลื่นไหลไปตามราง และใช้กำลังคนน้อยลง โดยการนำเรือขึ้นฝั่งแต่ละครั้งชาวประมงทั้งชาย และหญิงราว 4-5 คน จะมาช่วยกันดันเรือขึ้นฝั่ง ซึ่งใช้เวลาไม่นาน และจะหมุนเวียนช่วยเหลือกันแบบนี้ทุกครั้งที่เรือเข้าฝั่ง

สำหรับรางไม้จะเหมาะต่อเรือไฟเบอร์ ซึ่งจะเบากว่าเรือไม้ แต่หากเป็นเรือไม้ หรือเรือกอแหละที่หนักกว่าจะใช้รางพาด และใช้คว้านที่เป็นเครื่องจักรลากเรือขึ้นฝั่งแทน เพราะหากใช้คนจะหนักและเหนื่อยกว่า

โดยวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในการช่วยเหลือเกื้อกูล และการหาวิธีทุ่นแรงแบบนี้ยังมีให้เห็นที่ชุมชนบ่ออิฐ ซึ่งเป็นชุมชนชาวเลที่ยังคงสืบทอดความเป็นลูกชาวเลมาจนถึงปัจจุบัน
 






กำลังโหลดความคิดเห็น