ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เริ่มแล้ว ภูเก็ต สตรีทอาร์ต ซีซัน 2 ใช้ Local Artists สร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนผาผนัง 10 จุดทั่วเขตเมืองภูเก็ต สื่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอาหารการกิน ผ่านเด็กน้อย 3 เชื้อชาติ เสร็จทั้งหมดปลายเดือนมกราคมนี้
น.ส.ชนิดา ราชานาค หรือครูโฟร์ เจ้าของโฟร์ สตูดิโอ สถาบันสอนศิลปะในจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย ว่า ภายหลังจากที่โครงการภูเก็ต สตรีทอาร์ต ที่กลุ่ม So Phuket ได้จัดทำขึ้นภายใต้ชื่อโครงการ F.A.T Phuket (Foot Art Old Town) โดยเชิญศิลปินด้าน Street Art ทั้งไทย และต่างชาติมาร่วมกันวาดภาพบนผนังตึกต่างๆ ในเขตเมืองภูเก็ต จำนวน 12 ภาพ เพื่อบอกเล่าความผูกพันของวิถีชีวิตคนภูเก็ตผ่านงานศิลปะ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยว ทางกลุ่ม So Phuket จึงได้ดำเนินการโครงการที่ 2 ขึ้นอีกในปีนี้ โดยได้มอบหมายให้ทาง โฟร์ สตูดิโอ ซึ่งเป็นสถาบันสอนศิลปะในภูเก็ตเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จากที่โครงการแรกได้เชิญศิลปินจากที่อื่นมาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน และได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยเบฟเบอเรจ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการภูเก็ต สตรีทอาร์ต ซีซัน 2 นี้ ได้วางคอนเซ็ปต์ให้เป็น Local Artists โดยใช้ศิลปินที่เป็นเด็กภูเก็ตทั้งหมด ทั้งที่เรียนศิลปะอยู่กับทางโฟร์ สตูดิโอ และเรียนจบแล้ว และไปเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ จำนวน 20 คน มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ การสเกตช์ภาพ การลงมือวาด และใช้เด็กภูเก็ต 3 คน ทั้งเด็กไทย จีน และอิสลาม เป็นตัวเดินเรื่องนำเสนอวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมไปถึงอาหารการกินของภูเก็ต ในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากภูเก็ตมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ และวัฒนธรรม
โดยโครงการ 2 นี้ เด็กๆ ทั้ง 20 คน จะร่วมกันวาดภาพที่สื่อถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมไปถึงอาหารการกินของภูเก็ต จำนวน 10 จุดต่างๆ ทั่วตัวเมืองภูเก็ต เช่น ที่บริเวณถนนรัษฎา เยื้องกับธนาคารกรุงไทย เป็นภาพเด็กผู้หญิงใส่ชุดพื้นเมืองภูเก็ต นอนหลับฝันดีฝันเห็นขนมมงคลชนิดต่างๆ ของภูเก็ต หลังจากเด็กคนนี้ได้ไปร่วมงานมงคล ซึ่งภายในงานมีขนมมงคลของภูเก็ตหลายชนิด เด็กทานขนมจนอิ่ม และกลับมานอนหลับพร้อมกับฝันเห็นขนมชนิดต่างๆ ของภูเก็ต จุดที่สี่แยกร้านข้าวต้มโกเบนซ์ หรือสี่แยกปฏิภัทรตัดกับถนนกระบี่ จุดนี้อยู่ใกล้กับศาลเจ้า จะนำเสนอในส่วนของประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ต
จุดที่ร้านคาเฟ่อิน ซึ่งอยู่ข้างๆ พิธิภัณฑ์ไทยหัว ถ.ดีบุก จะนำเสนอเรื่องราวของขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่เป็นที่รู้จักของคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยว เช่น โอเอ๋ว เป็นภาพที่เด็ก 3 คน มีความสุขกับการได้กินโอเอ๋ว จุดร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์บริเวณหัวถนนถลาง นำเสนอเรื่องราวของรถจักรยานยนต์ที่คนภูเก็ตนิยมใช้กันในสมัยก่อน รวมไปถึงที่หน้าบ้านชินประชา สร้างสรรค์ผลงานเป็นพิธีแต่งงานของคนภูเก็ตแบบดั้งเดิม เป็นต้น
น.ส.ชนิดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้กำหนดจุดที่จะสร้างสรรค์ผลงานแล้ว 6-7 จุด และทุกจุดได้รับอนุญาตจากเจ้าของตึก และเจ้าของบ้านทั้งหมดแล้ว แต่ละจุดใช้เวลาในการวาด ลงสีประมาณ 3-4 วัน ซึ่งขณะนี้วาดเสร็จแล้ว 2 ภาพ คือ ภาพขนมหวานโอเอ๋ว ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ไทยหัว และภาพขนมหวานที่ถนนรัษฏา ซึ่งภาพที่วาดในครั้งนี้เป็นภาพที่ทุกคนเห็นแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย ใช้รูปแบบที่สร้างสรรค์ เล่าความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยทั้ง 10 ภาพ กำหนดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งหลังจากที่ภาพทั้งหมดถูกวาดแล้วเสร็จจะมีการทำแผนที่บอกที่ตั้งของแต่ละภาพให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ เพื่อสะดวกในการเข้าถึงภาพเหล่านั้น