คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปี 2560 นั่นคือ การที่ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็นฯ” จำนวนกว่า 10 คน พร้อมอาวุธปืนครบมือ คลุมหน้าเป็นไอ้โม่ง แต่งการคล้ายทหารพราน ปฏิบัติการ ปล้นรถทัวร์บริษัท สยามเดินรถ จำกัด ซึ่งเดินรถรับส่งผู้โดยสารระหว่างเบตง-กรุงเทพฯ เหตุเกิดบนถนนสายยะลา-เบตง ในพื้นที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา
วิธีการปฏิบัติการของโจรใต้ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ไม่ทำร้ายคนในรถทัวร์ ซึ่งมีทั้ง “พุทธ” และ”มุสลิม” ประมาณ 12 คน แต่ใช้วิธีการให้ผู้โดยสารลงจากรถ แถมโจรใต้ยังช่วยเหลือขนสัมภาระลงให้ ก่อนที่จะใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่ตัวรถ และราดน้ำมันจุดไฟเผาจนรถทัวร์ 2 ชั้นกลายเป็นจุล
ในรอบ 13 ปีที่เกิดเหตุ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ไม่เคยมีปฏิบัติการปล้นรถทัวร์ แล้วทั้งยิงและเผาเกิดขึ้นมาก่อน
ดังนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ แม้จะไม่มีคนตาย แต่ก็ “ช็อคความรู้สึก” ของคนในพื้นที่พอสมควร
โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา ที่จำเป็นต้องใช้บริการรถทัวร์ รถตู้ หรือรถโดยสารอื่นๆ ในการเดินทาง เพราะวันนี้ที่มีการปล้น กราดยิงและเผารถทัวร์ วันข้างหน้ารถตู้ แท็กซี่และรถโดยสารอื่นๆ อาจจะกลายเป็นเหยื่อสถานการณ์ก็เป็นไปได้
มีข้อสังเกตจากการปฏิบัติการของโจรใต้คือ ปฏิบัติการในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่คาดคิด และนานๆ จะมีปฏิบัติการครั้งใหญ่เกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง
ส่วนปฏิบัติการแบบประปราย เช่น วางระเบิดแสวงเครื่อง ซุ่มยิง เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่เป็น “สายข่าว” นั้น ถือว่าเป็นเหตุการณ์แทบจะเกิดเป็นปกติประจำวันไปแล้ว
ที่บอกว่าทำในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่คาดคิด และนานๆ ปฏิบัติการครั้งใหญ่นั้น ก็อย่าง เช่นในรอบปี 2560 มีเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ไม่คาดคิด 3 เหตุคือ 1.การวางระเบิดห้างบิ๊กซีกลางเมืองปัตตานี 2.การปล้นโชว์รูมรถยนต์ที่ อ.นาทวี แล้วนำรถยนต์ที่เดียว 6 คันไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ และ 3.ปฏิบัติการส่งท้ายปีในครั้งนี้ที่ปล้น กราดยิงและเผารถทัวร์
มีข้อที่น่าสังเกตเพิ่มอีกประการคือ พื้นที่ที่เกิดเหตุปล้น กราดยิงและเผารถทัวร์ล่าสุด ปรากฏว่าเป็นจุดเดียวกับที่โจรใต้เคยปฏิบัติการวางระเบิดแสวงเครื่องรถยนต์ของ นายอิศรา ทองธวัช รอง ผวจ.ยะลา จนเสียชีวิตพร้อมกับลูกน้องมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
หลังเหตุการณ์ปล้นและเผารถทัวร์ครั้งนี้ ปรากฏว่ามี “ความสับสน” เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ ซึ่งแสดงความไม่เชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ แต่พยายามที่จะโยงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน”
เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามที่จะบอก “เจ้านายที่ส่วนกลาง” และโน้มน้าว “คนในพื้นที่” ว่าเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานีทยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย รวมทั้งคนในพื้นที่ภาคใต้ว่า เป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” เช่นกัน
มีความพยายามสร้างความไขว้เขวให้เกิดขึ้น ด้วยการออกข่าวพบ “ใบปลิว” เรียกค่าคุ้มครองจากบริษัทเจ้าของรถทัวร์ที่ถูกเผา มีการแขวนป้ายผ้า อีกทั้งมีความพยายามเชื่อมโยงไปที่พนักงานขับรถและพนักงานประจำรถให้เป็น “ผู้น่าสงสัย” เพราะรถคันนี้เคยมีประวัติเหยียบระเบิดมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
พฤติกรรมเหล่านี้ จึงถือเป็นการพยายาม “อำพรางความจริง”
ซึ่งอาจจะกลายเป็นการช่วยเหลือขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ให้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและความโหดร้ายที่กระทำขึ้น แทนที่จะออกมาเปิดโปงให้สังคมเห็นถึงความเลวร้ายของบีอาร์เอ็นฯ เพื่อให้คนในพื้นที่และสังคมวงกว้างช่วยกันประณาม แต่กลับไม่ทำ
จนสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในความรับรู้ของประชาชน สุดท้ายกลายเป็นว่า ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อปฏิบัติการปล้น กราดยิงแล้วเผารถทัวร์ไม่ใช่ฝีมือโจรใต้ แสดงว่า “มีการสร้างสถานการณ์” ขึ้นมาใช่หรือไม่
และถ้าเป็นเช่นกันแล้ว “ใคร” ล่ะที่เป็นคนสร้างสถานการณ์ขึ้นมา และเพื่ออะไร ซึ่งก็คงไม่มีคำตอบอีกเหมือนกัน
ความจริงไม่ควรต้องตั้งข้อสงสัยถึงเรื่องของภัยแทรกซ้อนแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้บีอาร์เอ็นฯ มีการ “ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี” โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่เป็น “พลเรือน” เพื่อเป็นการสร้างงานมวลชน หรือ “งานการเมือง” ขึ้นใหม่
เพราะที่ผ่านมาการทำร้ายพลเรือน หรือใช้ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” มาเป็นเหยื่อในการตอบโต้เจ้าหน้าที่ ทำให้มวลชนที่สนับสนุนมีแต่ถอยห่างจากขบวนการ
การให้ผู้โดยสารลงจากรถทัวร์ได้โดยไม่มีการทำอันตรายใดๆ และยังช่วยขนสัมภาระของผู้โดยสารลงจากรถทัวร์ให้ด้วย ก่อนที่จะกราดยิงและเผา จึงกลายเป็น “ของแปลก” ของทั้งเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่
จนกลายเป็นผลดีกับบีอาร์เอ็นฯ เพราะคนในพื้นที่สงสัยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเรื่องของการสร้างสถานการณ์ อันส่งผลให้ “จำเลย” จึงกลายเป็นหน่วยงานของรัฐไปโดยปริยาย
โดยข้อเท็จจริง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ “ครม.ส่วนหน้า” รวมทั้ง “ศอ.บต.” ต่างพยายามที่จะใช้งานด้านการพัฒนาให้เป็น “จุดแข็ง” ในการ “ดับไฟใต้” ด้วยการชูประเด็นเมืองต้นแบบของ อ.เบตง จ.ยะลา ตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
และก่อนเกิดเหตุไม่กี่วัน “แม่ทัพภาคที่ 4” ก็ได้ มีการโปรโมตปั๊มน้ำมันและจุดพักรถบนถนนสายนี้ในพื้นที่ อ.ธารโต ซึ่งห่างจาก อ.บันนังสตา เพียงประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น
ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการมุ่งที่จะโจมตี “จุดแข็ง” ของเจ้าหน้าที่
นั่นคือ การขัดขวางงานด้านการพัฒนา การลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อทำลายความมั่นใจความน่าเชื่อถือของภาครัฐ ให้ภาคประชาชนเห็นว่ารัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในพื้นที่
เพราะเหตุการณ์ปล้น กราดยิงและเผารถทัวร์ครั้งนี้ ย่อมส่งผลถึง “ความมั่นใจ” ทั้งของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจการค้าและนักลงทุนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการก่อเหตุก่อนเทศกาลปีใหม่ ย่อมส่งผลกระทบที่จะช่วยให้เห็นถึงความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ถ้าจับตาไปที่กลุ่มที่เป็น “ภาคประชาสังคม” จะพบว่า หลายกลุ่มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็น “องคาพยพ” ของบีอาร์เอ็นฯ ต่างดีใจอย่าง “ออกนอกหน้า” กับการปฏิบัติการครั้งนี้ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ไม่ทำร้ายประชาชน
โดยเฉพาะที่ภาคประชาสังคมกลุ่มนี้มีความเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องต่อบีอาร์เอ็นฯ ประสบผลสำเร็จแล้ว
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้ายไว้จำนวน 2-4 คน แล้วนำตัวไปทำการ “เค้น” หาข้อเชื่อมโยง เนื่องจากพบว่าอุปกรณ์บางอย่าง เช่น “เลื่อย” ที่ใช้ในการตัดต้นไม้ขวางถนน “เสื้อ” ที่คนร้ายใช้เปลี่ยนหลังก่อเหตุ และ “น้ำมัน” ที่ใช้ในการเผารถทัวร์ ต่างมีที่มาจาก “คนในพื้นที่”
รวมทั้งมีการขู่ที่จะ “ปลด” บรรดาผู้นำท้องที่ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเชื่อว่ามีส่วน “รู้เห็น” แต่ไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ “อ่อนไหว” มาก
เพราะโดยข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่ที่บีอาร์เอ็นฯ ปฏิบัติการ สิ่งแรกที่ต้องมีคือ “แนวร่วมในพื้นที่” ในการให้ความร่วมมือ และนอกจากแนวร่วมก็ยังมี “ประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์” โดยเห็นกลุ่มโจรและให้ความร่วมมือ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะเป็นแนวร่วมไปเสียทั้งหมด แต่เขาอาจจะมี “ความจำเป็น” ของการ ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับโจร
ทั้งนี้เพราะโจรมีอิทธิพลในพื้นที่ และการที่เขาไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้เขาได้
ซึ่งก็ไม่ต่างจาก “ผู้นำท้องที่-ผู้นำท้องถิ่น” ที่จำเป็นต้อง “เหยียบเรือสองแคม “ หรือบางครั้งถึงขั้นต้อง “พายเรือให้โจรนั่ง” และ “พายเรือให้เจ้าหน้าที่นั่ง” ด้วยพร้อมๆ กันไป เพื่อความ “อยู่รอด” ทั้งของตำแหน่งหน้าที่และครอบครัว
ดังนั้นก่อนที่จะผลัก “แนวร่วมจำยอม” เหล่านี้ให้ไปเป็นแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่างเต็มตัวเพราะหมดหนทางไปนั้น
“กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ตั้งดูไปที่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ก่อนจะดีไหม เช่น งานการข่าว งานยุทธการ หรืองานการเมืองในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองได้เดินไปพร้อมหน้าพร้อมตากันไหม หรือมีข้อบกพร่องอะไร จึงทำให้โจรใต้ปฏิบัติการได้อย่างเสรี และหลังปฏิบัติการยังสามารถหลบหนีได้อย่างลอยนวล
นั่นคือสิ่งที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องเร่งให้มีการปรับแก้ไขเสียก่อนจะดีไหม
อย่างในหน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วยที่มี “กองกำลังท้องถิ่น” ทำหน้าที่อยู่ด้วย ทั้ง “อส.ทพ.” และ “อส.อ.” และ “อส.จ.” เชื่อได้อย่างไรว่าไม่มีคนของบีอาร์เอ็นฯ แทรกซึมเข้ามาเป็นไส้ศึก
ในเมื่อวันนี้การสมัครเข้าเป็นกองกำลังท้องถิ่นยังมีการ “ใช้เงิน” ตั้งแต่หัวละ 50,000 บาทขึ้นไป เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งแสดงว่ายังขาดการ “สกรีนคน” เข้าสู่หน่วยงานอย่างแท้จริง
หรือแม้แต่ผู้คนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าอยู่หน้าฐานปฏิบัติการแต่ละแห่ง มีการตรวจสอบหรือไม่ว่ามีกี่คนที่ “แฝงตัว” มาเพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ จนทำให้ปฏิบัติการของโจรใต้สำเร็จ และหลังปฏิบัติการก็สามารถถอนตัวได้อย่างปลอดภัย
สำหรับ “คนส่วนกลาง” ที่นั่งอยู่บน “หอคอยงาช้าง” ซึ่งมี “ชุดความจริง” ของปัญหาไฟใต้ “คนละชุด” และเลือกที่จะ “เชื่อคนละอย่าง” พร้อมแล้วยังที่จะเอาชุดความจริงที่ต่างกันมาทำให้เหลือเพียง “ชุดเดียว” เพื่อให้เกิด “เอกภาพ” ในความเชื่อ
เนื่องเพราะนั่นจะนำไปสู่หนทางการ “ดับไฟใต้” ได้อย่างถูกต้องเสียที