ตรัง - สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สาขาตรัง เดินหน้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้รัฐบาลศึกษาเกี่ยวกับความเหมาะสมของการขุดคลองไทย พร้อมรอฟังคำตอบใน 2 เดือน
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ นายกสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สาขาตรัง พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น แกนนำเครือข่าย และผู้แทนประชาชน ยื่นหนังสือต่อ นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อนำนำเสนอนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของประชาชนที่จะได้มีการศึกษาความเป็นไปได้โดยละเอียดเกี่ยวกับการขุดคลองไทย
ซึ่งข้อความในหนังสือระบุว่า ด้วยสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา โดย พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป นายกสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ร่วมกับสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยทีมงานสมาคมคลองไทย เป็นกลุ่มนักวิชาการอิสระ กลุ่มจิตอาสา และกลุ่มผู้นำในพื้นที่ ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงทั้งในเชิงบวก และเชิงลบโดยไม่ชี้นำประชาชน
ได้ทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความต้องการในการที่จะได้มีการศึกษาความเหมาะสมในการขุดคลองไทย เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ One Belt One Road ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ในอนาคต ว่า ภาครัฐหวังให้ EEC กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน รวมถึงเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมในอนาคต เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งและกระจายสินค้า และการบินของภูมิภาค
นอกจากนี้ พื้นที่ EEC จะตอบโจทย์อีกยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสอดรับการค้าการผลิต การขนส่งและการเชื่อมต่อกับนโยบายของ จี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างความเชื่อมโยงกับอีก 24 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย ไปจนถึงยุโรป และแอฟริกา ซึ่งครอบคลุมจำนวนประชากรราว 4,500 ล้านคน ซึ่งหากไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ One Belt One Road ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับตลาดขนาดใหญ่ของโลกได้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของ One Belt One Road
นอกจากนี้ สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ยังได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการศึกษาความเหมาะสมของการขุดคลองไทยต่อเนื่อง จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการขุดคลองคอดกระ วุฒิสภา เมื่อปี 2547 รวมทั้งงานวิจัยของสถาบันต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ผลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทีมงานสมาคมคลองไทย 5 จังหวัด ได้ประเมินเบื้องต้นพบว่า ประชาชนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยที่จะให้มีการศึกษาความเหมาะสมของการขุดคลองไทย
ดังนั้น สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สาขาจังหวัดตรัง จึงได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของการขุดคลองไทย ทั้งในด้านความมั่นคง สิ่งแวดล้อม การย้ายถิ่นฐาน รูปแบบการขุดคลอง การสร้างงาน สร้างรายได้ การท่องเที่ยว การบริหารจัดการ และด้านอื่นๆ
นายสายัณห์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะรอคำตอบจากรัฐบาลประมาณ 2 เดือนว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากเห็นด้วยก็จะให้เวลาในการศึกษา 2 ปี และกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการต่างๆ ประมาณ 7 ปี โครงการคลองไทยก็อาจจะเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญรัฐบาลควรศึกษาความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะมีผลได้ผลเสียอย่างไร ประชาชนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และจะมีการเยียวยาอย่างไร
“โดยที่ผ่านมา ตลอดกว่า 300 ปี เราได้แต่พูดเรื่องคลองไทย แต่ยังไม่มีความจริงจัง ในการศึกษา ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคายาง ราคาปาล์ม ลดลงอย่างไร้ทางแก้ไข ตนเชื่อว่าปัญหาซ้ำซากเหล่านี้จะหมดไป หากมีโครงการคลองไทยเกิดขึ้น” นายกสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สาขาตรัง กล่าว