xs
xsm
sm
md
lg

ระดมเครือข่ายใต้ร่วมจี้ “บิ๊กตู่-ครม.” หยุดยุทธศาสตร์และแผนแม่บทแร่ที่จะหนุน “เหมืองทองอัครา” และทำ ปปช.เดือดร้อนเป็นวงกว้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วสส.ร่อนหนังสือประสานทุกเครือข่ายในภาคใต้ให้ช่วยกันจี้ “บิ๊กตู่” และ “ครม.” ทบทวนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ที่กำลังจะถูกส่งให้พิจารณา ชี้หากให้ผ่านจะทำให้ บ.อัครา รีซอร์สเซส กลับมาเปิดทำเหมืองทองได้อีก แถมจะสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นวงกว้าง
 
นางละม้าย มานะการ ผู้ประสานคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ธ.ค.) ตนได้รับการประสานงานจาก นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ผู้ประสานงานเครือข่ายวิชาการและประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (วสส.) ให้ช่วยประสานขอความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ ให้ร่วมลงชื่อในหนังสือที่จะส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องขอให้ทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลอย่างน้อย 5 ประเด็น
 
ทั้งนี้ หนังสือที่จะยื่นต่อ ครม.ดังกล่าวนั้นยังมีการส่งสำเนาเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
เนื้อหาที่มีการประสานงานจากนางสมลักษณ์ ถึงนางละม้าย ระบุว่า ด้วยเพิ่งตรวจพบว่ายุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ถูกจัดทำขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายข้อ ซึ่งจะถูกนำเข้าพิจารณาใน ครม.เร็วๆ นี้ ดังนั้น จึงต้องส่งหนังสือท้วงติงในวันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค.)
 
หากเดินหน้าแผนแม่บทดังกล่าวโดยไม่มีการทนทวน จะนำไปสู่ข้อผิดพลาดที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมในวงกว้าง เนื่องจากแนวทางที่ระบุในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรงอย่างยากแก่การแก้ไข กล่าวคือ จากข้อมูลที่ปรากฏในแผนฯ เมื่อรวมใบอนุญาต และขนาดพื้นที่ที่มีผลบังคับใช้ให้สามารถดำเนินตามขั้นตอนเพื่อเปิดดำเนินการสำรวจและเปิดเหมืองแร่ต่อไปได้ทันทีที่ร่างแผนฯ นี้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.
 
“มีจำนวนใบอนุญาต 3,338 แปลง รวมพื้นที่ 1,622,894 - 1 - 91 ไร่ โดยมีประทานบัตรแร่ทองคำ จำนวน 19 ฉบับ พื้นที่ 4,923 ไร่ ซึ่งหมายถึงประทานบัตรที่บริษัท คิงสเกต คอนโซลิเดเต็ด จากประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าของถือครองสิทธิประทานบัตรการทำเหมืองในนามบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการใช้ข้อนี้อ้างเพื่อขอเปิดทำเหมืองแร่ทองคำ ทั้งที่ จ.เลย จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลกต่อไปได้”
 
เนื้อหาที่มีการประสานยังระบุว่า หาก ครม.ไม่ทบทวน หรือชะลอร่างแผนฯ นี้ไว้ก่อน ประชาชนจำนวนมากที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และติดตามกรณีเหมืองแร่ต่างๆ ย่อมจะเสื่อมความนิยมในรัฐบาล และอาจเกิดการต่อต้านประท้วงอย่างกว้างขวางขึ้นได้ เนื่องจากการทำเหมืองแร่มีผลกระทบ หรือทำลายชีวิตของประชาชนที่เคยพอจะอยู่กันได้ให้เสียไป และเกิดความแตกแยกในสังคมอย่างยากแก่การแก้ไข ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วทุกพื้นที่
 
กำลังโหลดความคิดเห็น