พังงา - นักท่องเที่ยวแห่ชมทะหมอกเขาไข่นุ้ย และพระอาทิตย์โผล่พ้นจากขอบฟ้าลอยผ่านทะเลหมอก ใน อ.ท้ายเหมือง หลังพบว่าอุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้มีจุดเด่นของเขาไข่นุ้ยมีอยู่ 5 อย่างที่สามารถชมได้ในที่เดียว
นักท่องเที่ยวต่างเดินทางขึ้นไปชมความงดงามของทะเลหมอกยามเช้า บนเขาไข่นุ้ย บ้านฝายท่า ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร โดยในวันนี้พบว่า อุณหภูมิอยู่ที่ 19-24 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบาย สายหมอกที่ทอดยาวตามหุบเขาลอยเอื่อยๆ อย่างสวยงาม โดยเฉพาะช่วงที่พระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นจากขอบฟ้า ลอยผ่านทะเลหมอกสีขาวขาว ลอยเหนือยอดเขาสูงสลับซับซ้อนปกคลุมทิวเขาน้อยใหญ่
ขณะที่แสงอาทิตย์ในยามเช้าสาดส่องกระทบทะเลหมอกที่ลอยอยู่เบื้องล่างอย่างสวยงาม สำหรับขุนเขาน้อยใหญ่ที่เห็นเบื้องหน้ามีแนวสันเขาลำแก่น เขากะปง เขาพังงา และแนวเทือกเขาภูตาจอ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางสายหมอกเป็นภาพที่น่าประทับใจของนักท่องเที่ยวที่ได้ขึ้นมาชม ซึ่งบริเวณจุดชมวิวต่างคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ขึ้นขึ้นมารอเก็บภาพความประทับใจของสายหมอก ทุกคนต่างรีบนำกล้องขึ้นมาเก็บภาพถ่ายไว้เป็นที่ระลึก
โดยบนเขาไข่นุ้ยแห่งนี้ปกติช่วงวันหยุด หรือวันนักขัตฤกษ์จะมีนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ ส่วนในช่วงสิ้นปีถึงวันขึ้นปีใหม่ เขาไข่นุ้ย ยังคงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวพากันจับจองสถานที่เพื่อที่จะกางเต็นท์รอเคานต์ดาวน์จนเต็มบนยอดเขา เพื่อร่วมฉลองวันขึ้นปีใหม่ และรอชมพระอาทิตย์ขึ้นจำนวนมาก ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมของการเดินทางมาชมทะเลหมอก ตั้งเต่อเวลา 05.30-08.00 น.จะเป็นเวลาที่ดีที่สุด
เขาไข่นุ้ย เดิมเป็นพื้นที่ทำสวนยางของชาวบ้าน ชาวบ้านที่นี่เห็นทะเลหมอกกันจนชินตา แต่ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จุดเด่นของเขาไข่นุ้ยมีอยู่ 5 อย่าง คือ 1.พระอาทิตย์ขึ้น 2.พระอาทิตย์ตก 3.ทะเลหมอก 4.ทะเลอันดามัน และ 5.เขาไข่นุ้ย จะมีหมอกอย่างหนาแน่นให้นักท่องเที่ยวได้ชมเนื่องจากบริเวณที่เห็นทะเลหมอกเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ล้อมรอบซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ที่นี่จึงทำให้เกิดสายหมอกได้เนื่องจากความชุ่มชื้นนั่นเอง โอกาสในการชมทะเลหมอกในทุกๆ เช้านั้นมีมากถึง 80% และสามารถชมทะเลหมอกได้ทุกฤดู แม้แต่ฤดูร้อนที่นี่ก็ยังมีทะเลหมอกให้ชม
เขาไข่นุ้ย ตั้งตามชื่อคนค้นพบ คือ บังไข่ กับบังนุ้ย แต่ก่อนเขาลูกนี้เป็นพื้นที่สวนยางของบังไข่ หรือ “ศักดิ์ แคล่วคลอง” มีพื้นที่สวนยางอยู่ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนบังนุ้ย หรือ “นุ้ย นิ่งราวี” มีพื้นที่สวนยางอยู่ฝั่งตะวันออก หรือฝั่งภูตาจอ จากนั้นเมื่อไม่นานมานี้ได้มี นักศึกษามาทำกิจกรรมขึ้นมาชมทะเลหมอกบนยอดเขา นักศึกษาจึงตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “ภูไข่นุ้ย” ตามชื่อเล่นของ บังไข่ และบังนุ้ย เมื่อเขาลูกนี้เปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เขาไข่นุ้ย” มาจนทุกวันนี้