คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
สถานการณ์ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ในเดือนสุดท้ายของปี 2560 แม้ว่าจะยังเป็นเดือนที่เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหารและพลเรือนยังต้องใช้ความระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันมิให้ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ “โจรใต้” ฉวยโอกาสก่อเหตุร้ายในห้วงรอยต่อระหว่างการส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาแนวร่วมหรือโจรใต้จะใช้วันที่เป็น “สัญลักษณ์” ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐไทยก่อเหตุร้ายให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด เพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านรัฐไทย และสร้างความตระหนกให้กับมวลชนในพื้นที่ รวมทั้งแสดงถึง “ศักยภาพ” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
จากจับกุมแนวร่วมได้จำนวนหนึ่งในต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้จากการ “ซักถาม” ได้ความว่า แกนนำของขบวนการได้สั่งการให้กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่เตรียมแผนในการก่อวินาศกรรมสถานที่ต่างๆ เน้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหากแนวร่วมคนไหนถูกจับกุมได้ก็ “ให้การตามความเป็นจริง”
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” ยังคงปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้ “ความรุนแรง” และ “หมายเอาชีวิต” ของบรรดาเจ้าหน้าที่อย่างเป็นด้านหลัก
แต่ก็มี “ข่าวดี” เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ซึ่งภายใต้การสั่งการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั่นคือ การปฏิบัติการ “เชิงรุก” ทั้งในงานด้าน “การทหาร” และงานด้าน “การเมือง” ที่ค่อนข้างได้ผลมากขึ้น จนสามารถเข้าควบคุมตัวแนวร่วมที่เคยก่อเหตุและหลบหนีในขณะที่กลับเข้าพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนอกจากจะได้ตัวผู้ต้องหาตามหมายจับมาดำเนินคดีแล้ว ยังได้ “ความลับ” จากการซักถาม จนนำไปสู่การ ตรวจค้นเป้าหมายที่แนวร่วมซุกซ่อนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้บ่อยครั้ง
นี่คือความสำเร็จของการปฏิบัติการเชิงรุก เพราะวิธีการที่จะลดจำนวนเหตุร้ายในพื้นที่ให้ได้ผล นั่นคือ การลดจำนวนแนวร่วมไม่ว่าโดยวิธีใด และการยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่แนวร่วมใช้ในการปฏิบัติการ รวมถึงปราบปรามการประกอบระเบิดแสวงเครื่องให้ได้มากที่สุด
ในปี 2560 นับเป็นปีแรกที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีผลงานในการจับกุมแนวร่วมตามหมายจับได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งสามารถซักถามให้แนวร่วมที่ถูกจับกุม “คายความลับ” จนนำไปสู่การตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายและยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ติดต่อกันหลายครั้ง
จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า การ “ซุมเปาะ” ของแนวร่วมเพื่อให้เกรงกลัว และไม่เปิดเผยความลับต่อเจ้าหน้าที่รัฐของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เริ่ม “คลายมนต์ขลัง” ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถซักถามผู้ถูกจับกุม จนได้ความลับ เพื่อปฏิบัติการในเชิงรุกต่อขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่างได้ผล
ผลแห่งความสำเร็จทั้งด้านการจับกุมแนวร่วม การยึดยุทโธปกรณ์และต่อยอดไปสู่การติดตามจับกุมแนวร่วมรายอื่นๆ ที่ได้จากการซักถาม เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กำลังเดินไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมพื้นที่ได้มากขึ้น สามารถกดดันแนวร่วมในพื้นที่ได้มากขึ้น จนสามารถทำให้เหตุร้ายลดลงได้อย่างมีความหมาย
นอกจากนั้น ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในปี 2560 ที่กำลังจะผ่านไป กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังประสบความสำเร็จในเรื่องของการควบคุม “เอ็นจีโอ” และ “ภาคประชาสังคม” ได้ดีในระดับที่น่าพอใจ โดยการใช้งบประมาณเพียง 50 ล้านบาทในการให้ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการที่เอื้อต่อการ “สร้างสันติสุข” ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ในกรณีที่ผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาถูกจับกุมในระหว่างที่เดินเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ จ.สงขลา เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำตัว “เงียบเชียบ” จากการที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลายเป็น “เด็กดี” อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นี่ต้องบอกว่าเป็นความสำเร็จอีกขึ้นหนึ่งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เกิดขึ้นในปี 2560
แต่ก็อย่างได้คิดว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นเป็นเพราะบีอาร์เอ็นฯ จนมุม หรือเกิดการอ่อนล้าจากปฏิบัติการเชิงรุก ทั้งด้านการทหารและการเมืองของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จนทำให้แนวร่วมในพื้นที่อยู่ในสภาพถดถอยหรือกำลังไปสู่การ “ยะญ่ายพ่ายจะแจ”
เนื่องเพราะถ้าจะบอกว่าความคิดนี้อาจจะ “คิดผิด” และตั้งอยู่ใน “ความประมาท” จนอาจเป็นหนทางที่นำไป “สู่หายนะครั้งใหม่” ก็เป็นได้
วันนี้ที่ระเบิดแสวงเครื่องน้อยลง ประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ตกเป็นเหยื่อของกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นฯ มาจากการปรับเปลี่ยน “ยุทธวิธี” ของบีอาร์เอ็นฯ
ประเด็นแรกคือ บีอาร์เอ็นฯ จะทำร้ายเฉพาะเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐตำรวจ ทหาร ฝ่ายพลเรือนและ “สายข่าว” ของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น บีอาร์เอ็นฯหลีกเลี่ยงการทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของมวลชนที่เป็นภาคประชาสังคม
ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่จับกุม ไม่วิสามัญคนของบีอาร์เอ็นฯ การตอบโต้ทางการทหารจะไม่เกิดขึ้น
ประเด็นที่สองคือ บีอาร์เอ็นฯ จะทำสงครามการเมืองหรืองานมวลชนเป็นด้านหลัก เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก ซึ่งวิธีการทางการเมืองที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ การใช้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ตั้งแต่การซ่อมแซมบ้านเรือน การขุดหลุมฝังคนตายโดยที่ไม่ต้องว่าจ้าง การช่วยคนป่วย คนเจ็บ คนยากจน และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นการ “ล้อ” จากงานกิจการพลเรือนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
แต่ที่สำคัญกว่าคือ บีอาร์เอ็นฯ ทำทุกอย่างด้วยใจ และทำให้ดีกว่าที่หน่วยงานของรัฐทำ และที่สำคัญคือ บีอาร์เอ็นฯ ทำเพื่อสร้างมวลชน ไม่ได้ทำเพื่อหวัง “เงินทอน” เหมือนกับโครงการของเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่ต้องจับตามองการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ ในขณะนี้คือ การส่งแนวร่วมระดับชี้นำลงพื้นที่ เพื่อปลุกระดมต่อต้านมิให้ “คนมาลายู” ในพื้นที่สมัครเป็นทหารพราน เป็นอาสาสมัครต่างๆ รวมทั้งมีแผนในการส่งคนของขบวนการ เข้าไป “แทรกแซง” หรือเป็น “สาย” ในหน่วยงานของรัฐ
และยังมีกิจกรรมในการแย่งมวลชนและสร้างมวลชนอีกมากที่เป็นงานการเมืองในรูปแบบใหม่ของบีอาร์เอ็นฯ ภายใต้การนำของ “ดูลเลาะ แวมะนอ” ที่หน่วยงานความมั่นคงต้องตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และต้องไม่ประมาทกับการขับเคลื่อนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
เพราะขบวนการเหล่านี้สู้รบกับเจ้าหน้าที่รัฐมานานหลายสิบปี และรากเหง้าของปัญหาการแบ่งแยกดินแดนก็เกิดมาเป็น 100 ปี อยู่ๆ จะให้มีเกิดการ “ยุติ” โดยที่ในมือมีแต่ “ความว่างเปล่า” ย่อมเป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญบีอาร์เอ็นฯ ยังไม่ได้ “สูญเสีย” อะไรเลยในสงครามประชาชนต่อเนื่องมากว่า 13 ปี
แต่ก็เชื่อว่าในห้วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เหตุร้ายอาจจะมีประปราย แต่การก่อเหตุร้ายใหญ่ๆ ไม่น่าจะเกิดขึ้น
เพราะวันนี้บีอาร์เอ็นฯ อยู่ระหว่างการปรับการรบ ปรับแกนนำในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีความพร้อมในการก่อการครั้งใหญ่ในห้วงเดือน ก.พ.ปี 2561 โน้น ซึ่งหน้าที่ในการที่จะกระทำให้เกิดหรือไม่ให้เกิดอยู่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะเป็นผู้ให้คำตอบ
สรุป “สงครามประชาชน” บนแผ่นดินปลายด้ามขวานก็เหมือนกับการ “เล่นเกม” แต่เป็นเกมที่ถึงเนื้อ ถึงตัวและถึงชีวิต ดังนั้นหากใครสามารถทำให้เป็นฝ่ายกำหนดเกมได้ คนนั้นจะเป็นผู้ได้เปรียบและมีโอกาสที่จะได้ชัยชนะ
จึงอยู่ที่ว่า “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะเป็นคนกำหนดเกมการเล่น หรือจะให้ “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นผู้กำหนดเกมก็เท่านั้น