xs
xsm
sm
md
lg

แนวทาง “ยางยั่งยืน”..!! กับการพิสูจน์ “งาช้าง” จะงอกจากปาก “สุนัข” ได้หรือไม่..?! / สุนทร รักษ์รงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
สุนทร  รักษ์รงค์
นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)
 --------------------------------------------------------------------------------
 
 
สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และ สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) เป็นตัวแทนชาวสวนยางชายขอบ อันประกอบด้วย คนกรีดยาง ชาวสวนยางรายย่อย และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
 
รวมแล้วจำนวนไม่น้อยกว่า 600,000 ครัวเรือน!!
 
พวกเราจึงต่อสู้เพื่อให้คนกรีดยางได้กินอิ่ม นอนอุ่น โดยเสนอกลไก
 
“กองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง”
 
เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตให้คนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย


ภายใต้หลักการสมัครใจ จ่ายสมทบแบบ “สังคมสวัสดิการ” ไม่ใช่ “สวัสดิการสงเคราะห์” แบบอนาถา
 
อย่างที่ “การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)” กำลังทำ?!
 
เราเสนอให้มีการจัดทำ
 
“แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง”
 
โดยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของตัวเอง
 
พวกเราพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ “สวนยางยั่งยืน” เพื่อปฏิวัติอาชีพการทำสวนยาง
 
อันเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ในการสร้างเสริมรายได้ ลดต้นทุน สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างสุขภาวะชาวสวนยางที่ดี
 
โดยร้องขอให้มีการทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยางสู่การนำไปปฏิบัติ
 
พร้อมเรียกร้องต่อ กยท.ให้จ่ายเงินปลูกแทนบางส่วน สำหรับสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว และให้จ่ายเงินปลูกแทนเพิ่มขึ้นกรณีสวนยางที่หมดอายุการกรีด หรือยางอายุ 25 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจ
 
รวมทั้งการมีข้อเสนอให้ทำ “เกษตรอินทรีย์ในสวนยาง” หรือถ้าก้าวหน้าสุดก็ให้ทำ “สวนยางอินทรีย์” เพื่อเพิ่มมูลค่า
 
เราเรียกร้องให้ กยท.ทำตามคำแนะนำของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กมส.)” ให้ขึ้นทะเบียนชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4
 
และเราเรียกร้องสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ “ทำสวนยางยั่งยืน” ด้วยการปลูกยางเพียง 40 ต้น พร้อมปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจในสวนยางนั้น
 
เพื่อเปลี่ยน “สวนยางเชิงเดี่ยว” ให้เป็น “ป่ายาง” ที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ!!
 
อันเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่ทำกินในเขตพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ในวิถี
 
“คนอยู่ ป่ายัง”
 
เราไม่เรียกร้องขอราคายางจากรัฐบาลด้วยวิธีการ “แทรกแซงราคายาง” อย่างเช่นที่ผ่านมา
 
เพราะรู้ดีว่าคนที่ได้ประโยชน์ทุกครั้งก็คือ “พวกโจรยาง” เช่น นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ พ่อค้ายาง และกรรมการชุมนุมสหกรณ์บางแห่ง
 
แต่ชาวสวนยางรายย่อยไม่เคยได้ประโยชน์อะไร!!
 
เราไม่ขอความช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตจากรัฐบาล เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
 
และการเอาภาษีของคนทั้งประเทศมาช่วยชาวสวนยางอย่างเดียว มันก็ไม่ยุติธรรมกับคนอาชีพอื่น
 
แต่การใช้เงิน “Cess” มาตรา 49(5) เพื่อช่วยเหลือคนกรีดยางครัวเรือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นการ “ใช้เงินของตัวเอง” สำหรับการจ่ายสวัสดิการในช่วงวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ
 
มันเป็นความชอบธรรมสำหรับคนกรีดยางผู้เดือดร้อนที่สุด!!
 
เราเสนอ “แนวทางปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ” ต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การยกระดับราคายางให้สูงขึ้น 60-70 บาท
 
อันเป็นราคายางที่เลยจุดคุ้มทุนและเกษตรกรชาวสวนยางยอมรับได้!!
 
แต่ทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัด เราให้เวลารัฐบาล 30 วันในการพิจารณาข้อเสนอที่มีกลไกอยู่แล้ว และสามารถปฏิบัติได้ทันที
 
เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นสถานการณ์ที่รอพิสูจน์ว่า...

“งาช้าง” ไม่เคยงอกจากปาก “สุนัข” ฉันใด ... “ชนชั้นใด” ก็ย่อมต่อสู้เพื่อคน “ชนชั้นนั้น”..?!?!
 
กำลังโหลดความคิดเห็น