xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมมโนราห์ จ.ตรัง นำคณะรำโชว์ 3 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หวังสืบสานขนานนาม “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนราห์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - สมาคมมโนราห์ จ.ตรัง นำคณะรำโชว์ 3 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หวังสืบสานขนานนาม “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนราห์” แม้น้อยใจจังหวัดไม่มีเวทีให้แสดงในงานฉลองรัฐเหมือนเช่นทุกปี แต่เชื่ออยู่ได้แค่อยากรู้หน่อเนื้อต้นกล้าวัฒนธรรม เยาวชนรุ่นใหม่จะเอาไปไว้ที่ไหน หากไม่มีการส่งเสริมให้มีที่ยืนในสังคม

วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ตรัง นายวสันต์ สืบสังข์ นายกสมาคมมโนราห์ จ.ตรัง พร้อมคณะศิลปินพื้นบ้านมโนราห์ นางรำ นักดนตรี ลูกคู่ จำนวนราว 50 คน นำคณะมโนราห์มารำโชว์การแสดงมโนราห์ ที่มีการซักซ้อมมาอย่างดีเพื่อเตรียมที่จะเข้าร่วมแข่งขันโครงการส่งเสริมความพร้อมแก่ท้องถิ่น ซึ่งมีการจัดขึ้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในสัปดาห์นี้ เพื่อคัดสรรมโนราห์สุดยอดฝีมือดีไปแข่งขันที่ กทม.ต่อไป
 

 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมทุกปีที่ผ่านมาในการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา และงานกาชาด จ.ตรัง ซึ่งเป็นงานประจำปีที่มีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 ธันวาคมของทุกปี ต่อเนื่องกันมากว่า 80 ปี จะมีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อเป็นเวทีให้แก่ศิลปะพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า เพื่อเป็นการร่วมกันอนุรักษ์วัฒธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่

และเป็นประจำทุกปี จะมีนักแสดง บรรดาศิลปินจำนวนมากร่วมโชว์การแสดงในงานดังกล่าว ซึ่งทำให้งานมีสีสัน และเป็นการเพิ่มความบันเทิง อีกทั้งเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนท้องถิ่น แต่ปรากฏว่า มาปีนี้ 2560 กลับไม่มีการจัดสรรแบ่งพื้นที่ให้แก่เหล่าศิลปินเหล่านี้ โดยจังหวัดตรัง ได้แจ้งให้ทราบว่าปีนี้ไม่งบประมาณ ซึ่งทำกับว่ากลุ่มศิลปินพื้นบ้าน จ.ตรัง กว่า 200 ชีวิต ไม่มีส่วนร่วม และมีเวทีในการแสดงน้อยลง
 

 
โดย นายวสันต์ สืบสังข์ นายกสมาคมมโนราห์ จ.ตรัง กล่าวว่า ครั้งนี้มีการรำโชว์ใน 3 จุดด้วยกัน ประกอบด้วย ที่ศาลหลักเมือง จ.ตรัง ต.ควนธานี อ.กันตัง ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ร.5 และ ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนเป็นจุดสำคัญ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของ จ.ตรัง และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ จ.ตรัง โดยเฉพาะพระยารัษฎาฯ อดีตพ่อเมืองตรัง เป็นผู้ที่ชื่นชอบมโนราห์ และศิลปะพื้นบ้านเป็นอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่กลุ่มศิลปินมโนราห์ จ.ตรัง และถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยให้แก่การเข้าร่วมแข่งขันที่ จ.นครศรีธรรมราช ในสัปดาห์นี้ ซึ่งลูกหลานมโนราห์ชาว จ.ตรัง ล้วนมีความภาคภูมิใจ และมีความรักในศิลปะท้องถิ่นจนได้ร่วมกันสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจนโด่งดังนับร้อยปี จนได้ขนานนามว่า “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนราห์” ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์สำคัญของความเป็นท้องถิ่น จ.ตรัง 

ถ้าถามว่ารู้สึกอะไรบ้างกับการที่ช่วงพักหลังศิลปินพื้นบ้านมีเวทีให้ได้แสดงน้อยลง ตนเองยอมรับว่า น้อยใจบ้างแต่ก็ไม่เป็นไรพวกเราอยู่ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงควรมีการจัดเวที หรือพื้นที่ให้ศิลปินท้องถิ่นได้มีที่ยืนบ้าง พร้อมมีค่าตอบแทนให้บ้างบางส่วน เพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพื่อให้คนรุ่นหลังที่เปรียบเหมือนต้นกล้าที่บ่มเพาะไว้แล้ว พร้อมที่จะให้มีการต่อยอด เหล่านี้ไปไว้ที่ไหน หรือจะให้ศิลปะท้องถิ่นกลืนหายไปกับกาลเวลา
 

กำลังโหลดความคิดเห็น