รายงานโดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------
สุดทนยางเหลือกิโลกรัมละ 12 บาท ชาวสวนบุรีรัมย์ขู่บุกทำเนียบฯ จี้ “นายกฯ ตู่” ช่วยจ่ายชดเชย
ข้อความข้างต้นคือ พาดหัวข่าวที่ถูกนำเสนอใน “MGR Online ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) และก็ได้รับการโชว์เด่น พร้อมๆ กับมีจำนวนคนเปิดเข้าไปอ่านนับพัน
ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบุรีรัมย์สุดทน ออกมาเรียกร้องให้ “นายกฯ ตู่” เร่งพิจารณาช่วยเหลือกระตุ้นราคายาง พร้อมจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท หลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนักจากราคายางตกต่ำเป็นประวัติการณ์เหลือกิโลกรัมละ 12 บาท ขู่สิ้นเดือน ธ.ค.ไม่ได้รับคำตอบบุกยื่นหนังสือถึงทำเนียบฯ หลังยื่นผ่านตัวแทนถึง 4 ครั้งยังเงียบ
โปรยข่าวขยายความว่า เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานกำลังเดือนร้อนกันอย่างหนัก และนั่นเป็นราคายางก้อนถ้วยที่เวลานี้ลงไปกองอยู่ก้นเหวที่ 12 บาท/กิโลกรัม
การออกมาส่งเสียงให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนครั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันว่าชาวสวนยางภาคอีสานต้องการให้ได้ยินไปถึงหู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก่อนที่จะมีกำหนดการยกทัพ ครม.ไปประชุมสัญจรภาคอีสานที่ จ.กาฬสินธุ์ในวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.)
ความจริงแล้วความเดือดร้อนเรื่องราคายางดิ่งเหว เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคเหนึ่งเท่านั้น
และแน่นอนไม่ใช่เฉพาะราคายางแต่เท่านั้นอีกด้วย พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ทั่วประเทศไทยต่างก็กำลังเผชิญกับภาวะราคาตกต่ำกันถ้วนทั่ว
ในส่วนของ “MGR Online ภาคใต้” เองก็ได้ติดตามนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบที่เกษตรกรชาวสวนยางลูกสะตอได้รับความเดือดร้อนมาต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบข่าวเหตุการณ์ ข่าวเชิงวิเคราะห์ รวมถึงความเคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
เวลานี้ชาวสวนยางภาคใต้เองก็นับว่าสาหัสสากรรจ์ไม่แพ้ภูมิภาคใดๆ เพียงแต่ราคาที่ขายได้ดูจะมีตัวเลขสูงกว่าเท่านั้น เนื่องจากผลผลิตมีความแตกต่างกัน ชาวสวนภาคใต้ไม่นิยมขายยางก้อนถ้วย แต่ที่นิยมขายถ้าไม่ใช่น้ำยางข้น ก็มักเป็นยางแผ่นเสียมากกว่า
พร้อมๆ กับชาวสวนภาคอีสานออกมาส่งเสียงดังไปทั่วประเทศ ที่ภาคใต้ชาวสวนก็ออกมาส่งเสียงแล้วเช่นกัน แต่น่าจะเป็นการ “ฟัง” แต่ “ไม่ได้ยิน” ของผู้บริหารประเทศชาติกระมัง เรื่องราวความเดือดร้อนของชาวสวนยางปักษ์ใต้จึงมักไม่ค่อยจะถึงหูพวกเขาเสียเท่าใดนัก
เรามาดูกันว่า ที่เวลานี้ในพื้นที่ภาคใต้เรา “ราคาน้ำยางต่ำอย่างไร้เหตุผล” มีสาเหตุมาจากอะไร
ทั้งที่ได้มีคำถามดังก้องไปถึงผู้ค้าน้ำยางสดในพื้นที่จำนวนมากแล้วว่า ... ทำไมต้องกดราคากันอย่างหนัก? และภาวะนี้จะดำเนินไปถึงไหน?
จากกรณีที่ราคาน้ำยางสดร่วงต่ำอย่างไร้เหตุผล ไม่ได้ขึ้นกับกฎเกณฑ์ของการค้าอย่างแบบปกติ
โดยผู้คร่ำหวอดในการวงการซื้อน้ำยางบอกเล่ากับ “MGR Online ภาคใต้” ว่า เหตุที่ราคายางต่ำต่ำเพราะกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นบริษัทรายใหญ่ “จงใจทุบราคา”
เนื่องเพราะต้องการถือซี่โครงชาวสวนยางที่อดอยากเอาเป็น “กำไร” ไปใช้โปะตัวเลขการขาดทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งต่างต้องเผชิญภาวะขาดทุนสะสมรายละนับพันถึงสองพันล้านบาท
สิ่งนี้ยินยันได้จากราคาน้ำยางสดเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา หรือราคาปิดตลาดช่วงสัปดาห์ก่อนได้ถูกประกาศไว้ที่เว็บไซต์ของ “สมาคมน้ำยางข้นไทย” อยู่ที่ 47.50 บาท/กิโลกรัม หลังจากนั้นก็เป็นวันหยุดราชการติดต่อกันถึง 3 วันคือ เสาร์-อาทิตย์-จันทร์
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเป็นวันหยุดราคา “หั่งเช้ง” ก็จะไม่วิ่ง และไทยเราก็ต้องยึดราคาช่วงวันหยุดโดยใช้ฐานของวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค.2560 เพื่อสร้างกติกาที่เหมาะสม
แต่ปรากฏว่า บริษัทใหญ่ในสงขลาและในภาคใต้กับประกาศเปิดราคารับซื้อในวันเปิดทำการของสัปดาห์นี้อยู่ที่ราคา 46.50 บาท/กิโลกรัม
หรือต่ำกว่าราคาปิดเมื่อวันศุกร์ของสัปดาห์ที่แล้วถึง 1 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนี้แล้วยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งกลับตั้งราคาเปิดรับซื้อน้ำยางสดจากชาวสวนช่วงสัปดาห์นี้ไว้ที่ 41-42 บาท/กิโลกรัมก็ยังมี
การกระทำของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่เยี่ยงนี้ หากไม่ถือเป็นการทำลายกฏกติกา หรือแบบแผนการค้าของสมาคมน้ำยางข้นไทยแล้ว เราควรจะเรียกพฤติกรรมเยี่ยงนี้ว่าอย่างไรดี?!
การที่บริษัทยักษ์วงการยางรวมหัวกดราคารับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรชาวสวนแบบไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ถือเป็นการเห็นแก่ได้ทางการค้า หรือถึงขั้นต้องจัดว่าเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งเมตตาธรรมเอาอย่างมากๆ เลยหรือไม่?!
ทั้งๆ เวลานี้ชาวสวนยางของภาคใต้สามารถผลิตน้ำยางได้ในปริมาณลดน้อยถอยลงมาก เนื่องจากเป็นห้วงฤดูฝน แถมยังเกิดภาวะน้ำท่วมกระจายไปทั่วภาคใต้อีกต่างหาก ซึ่งก็เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนมาแล้วที่ผลผลิตน้ำยางสดของภาคใต้มีเหลือไม่มากเลย
ไม่เพียงเท่านั้นแหล่งข่าวระดับนั่งอยู่กลางวงการยางไทยยังแอบกระซิบให้ฟังว่า เวลานี้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกยางต่างขาดทุนสะสมเมื่อปีที่แล้วมากมาย ผู้บริหารบริษัทเหล่านั้นจึงเลือกที่มาถือกระดูกซี่โครงชาวสวนยาง เพื่อหากำไรไปใช้โปะภาวการณ์ขาดทุนของ 5 เสือวงการยางไทยดังกล่าว
ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงมีปรากฏการณ์ยักษ์ใหญ่วงการยางไทยออกมา “ทุบราคา” น้ำยางให้ต่ำอย่างไม่มีเหตุผลนั่นเอง
วันนี้ราคาน้ำยางสดตลาดของภาคใต้ดิ่งเหวลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 43.50 บาท/กิโลกรัม แต่ตาม “ล้ง” หรือแหล่งรวมน้ำยางตามสวนยางกลับตกต่ำลงไปอีก โดยเหลืออยู่ที่ราวๆ 39 บาท/กิโลกรัมเท่านั้นเอง