ตรัง - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประมง หนังตะลุง กี่ทอผ้า และครกตำข้าวโบราณ หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชื่อมกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
วันนี้ (10 ธ.ค.) ผศ.โกสินทร์ พัฒนมณี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า นอกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในรั้วแล้ว ยังต้องเป็นหน่วยงานที่คอยถ่ายทอดหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ในทุกยุคทุกสมัยให้แก่นักเรียน ผู้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยว
อีกทั้งเพื่อจะได้เป็นจิ๊กซอว์ หรือฟันเฟืองตัวหนึ่ง ที่จะช่วยต่อเป็นภาพการศึกษาให้สมบูรณ์ หรือให้คงอยู่คู่กาลเวลา มหาวิทยาลัยจึงได้ก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมเรื่องราวด้านวัฒนธรรม และเครื่องมือเครื่องใช้โบราณอันทรงคุณค่าเอาไว้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นเพียงคำเล่าขาน หรือภาพถ่าย
สำหรับศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ จะทำงานเป็นเครือข่าย หรือเป็นศูนย์กลางที่จะพยายามรวบรวมวัฒนธรรม หรือเครื่องไม้เครื่องมือของผู้คนในชุมชนสิเกา รวมทั้งในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ที่เก็บไว้ที่บ้านตั้งแต่สมัยโบราณมาจัดแสดง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ชนรุ่นหลังได้ชม เช่น กี่ทอผ้าโบราณ และครกตำข้าว ที่ประมาณอายุไม่ได้ หรือแม้แต่เครื่องมือการทำประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งอยู่ติดชายฝั่งทะเล
รวมถึงการรวบรวมเอาประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง และตัวละครหนังตะลุง ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของภาคใต้ มารวมเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังจะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลตรังด้วย โดยให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันทรัพยากรธรรมชาติฯ และนักศึกษา เป็นมัคคุเทศก์ช่วยถ่ายทอดเรื่องราว
ด้าน นายปรีดา เกิดสุข ผู้อำนวยสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้มีพื้นที่การจัดแสดงกว่า 400 ตารางเมตร และแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การถ่ายทอดเรื่องราวการทำประมง, การจัดแสดงเรื่องราวหนังตะลุง, การจัดแสดงกี่ทอผ้าโบราณ และการจัดแสดงครกตำข้าวโบราณ
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ไม่ได้เป็นเพียงแค่อาคารที่เก็บรวบรวมของเก่าเท่านั้น แต่ในทุกๆ ปีนับจากนี้ไป โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะมีการจัดแสดงกิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรมด้วย เช่น ดนตรีไทย มโนราห์ เนื่องจากการเรียนรู้และรักษามรดกทางวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเพียงการอนุรักษ์ของเก่า แต่ยังเป็นการหลอมรวมชุมชนกับหน่วยงานการศึกษาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน