xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีนฮากกาในภาคใต้ประเทศไทย Chinese Hakka in Southern Thailand / Ma Guitong

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่เส้นทางการเดินเรือของคนจีนฮากกาจากประเทศจีน เข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 (คริสศตวรรษที่ 17-18 ช่วงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงส์ชิง)
 
Ma  Guitong
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
----------------------------------------------------------------------------------------
 
ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับจีนมาตลอดเวลา  ดังนั้นชาวจีนจึงรู้จักภาคใต้ของไทย  เหตุการณ์เกี่ยวข้องกับชาวจีนในสมัยอยุธยาระหว่าง  พ.ศ.2103-2113  คือ  กลุ่มโจรสลัดชาวจีนจากฝูเจี้ยนนำโดย หลิมโต๊ะเคี่ยน  (หลิน เต้า-เฉียน林道乾) ได้อพยพหลบหนีการปราบปรามของราชวงศ์หมิง แล้วไปยึดเมืองปัตตานีไว้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง  ประมาณ พ.ศ. 2116 - 2163   จึงเกิดชุมชนจีนในปัตตานีมาแต่ครั้งอยุธยา  ทำให้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาค้าขายและพำนักอยู่ภายในปัตตานีเป็นจำนวนมากนั้น (Skinner, 1957: 8)
 
สำหรับชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย  มีข้อสังเกตการอพยพของคนจีน เป็นที่น่าสนใจว่า  “ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยนั้น  ส่วนใหญ่จะมาจากมณฑลทางภาคใต้  โดยเฉพาะในเขตมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้งมากที่สุด” (วัลภา  บุรุษพัฒน์.  2517: 17)  เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย  ชาวจีนเหล่านี้ก็จะกระจายอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ  โดยเฉพาะในภาคใต้เป็นแหล่งที่คนจีนเข้ามาและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก


ทางภาคใต้ชาวจีนได้เข้ามาติดต่อพักพิงตามท่าเรือต่างๆ  และเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานตอนกลางสมัยอยุธยาเป็นอย่างช้า  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  กรณีของหลิมโต๊ะเคี่ยน  ข้าราชการตงฉินที่ถูกคู่อริใส่ความความจนต้องไปเป็นโจรสลัด  และนำสมัครพรรคพวกเข้าพึ่งพิงเจ้าเมืองปัตตานี  ได้รับแต่งตั้งเป็นนายด่านก่อนเลื่อนตำแหน่งสูงขั้นเรื่อยๆ  เพราะสามารถถ่ายทอดวิทยาการสมัยใหม่  ให้แก่ปัตตานีทางด้านการหล่อปืนใหญ่  สถาปัตยกรรมและการค้า
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชที่มีรูปสัตว์ต่างๆ  เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองตามจักราศีนั้น ตรงตามคติเดียวกันกับชาวจีน  (สถาบันทักษิณคดีศึกษา. 2529 : 2854)  ยิ่งไปกว่านั้นการแบ่งชนชั้นในสังคมศักดินาที่แบ่งออกเป็นสองชนชั้น  คือ  “ผู้ดี”  และ  “ผู้น้อย”  กำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจนว่า  “ผู้ใหญ่ย่อมเสียสละคนเพื่อปกครอง และผู้น้อยเสียสละเวลาเพื่อเป็นแรงงาน”  (สงบ ส่งเมือง. 2528:13)  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลจีนในภาคใต้ระยะแรกๆ  ได้ระดับหนึ่ง  ภาพของอิทธิพลจีนในภาคใต้ค่อยๆ  ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อชาวจีนได้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้น
 
ต่อมา  จากการที่มีชุมชนจีนหนาแน่นขึ้นในภาคใต้  ปรากฏว่ามีชาวจีนที่มาจากเมืองจีนโดยตรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง  เท่าที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานมีเจ้าเมืองอย่างน้อย  2  คน  ที่เป็นชาวจีนจากประเทศจีน  คือ  หลวงสุวรรณศิริสมบัติ  (吴让เหยียง  แซ่เฮ่า)  เจ้าเมืองสงขลาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี  และเจ้าเมืองปัตตานี  (林道乾หลิมโต๊ะเคี่ยม)
 

 
การอพยพของคนจีนนั้น  เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ และสังคมของคนจีนอพยพในประเทศไทยกับคนจีนในประเทศจีน  จะไม่มีชาวหอบเสื่อหอบหมอนไปยังดินแดนที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเส้นสายอยู่เลย  เพราะฉะนั้นยิ่งมีชาวจีนกลุ่มภาษาใดอยู่ในประเทศไทยมาก ก็จะย่อมดึงชาวจีนในกลุ่มภาษานั้นให้อพยพเข้ามาดั้งหลักแหล่งมากเป็นลูกโซ่ 
 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (ราชกาลที่ 5)  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้น  เพื่อรักษาด้านความมั่นคงของประเทศ และรักษาสมดุลของมหาอำนาจชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย  ได้แก่  อังกฤษ  เยอรมัน และฝรั่งเศส  ภายหลังการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ของประเทศไทย  ที่เป็นเส้นทางรถไฟสายยาวที่เชื่อมต่อตั้งแต่กรุงเทพฯ ลงไปจนถึงบัตเตอร์เวิร์ธของมาเลเซีย  ซึ่งทางรถไฟสายใต้เป็นทางรถไฟอีกสายหนึ่งที่อังกฤษแสดงความประสงค์และกดดันให้ประเทศไทยสร้าง  เนื่องจากต้องการเชื่อมต่อทางรถไฟไทยกับทางรถไฟของประเทศอังกฤษในบริเวณแหลมมลายู  ก็ยิ่งทำให้ชาวจีนฮากกาที่อาศัยอยู่ทั้งทางตอนบนหรือตอนล่างของภาคใต้ เดินทางเข้าสู่พื้นที่แห่งนี้ด้วยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น


เมื่อทางรถไฟสายใต้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว นอกจากการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสายใหม่จากทางใต้เข้าสู่เมืองหลวงเท่านั้น  ทางรถไฟสายใต้ถูกสร้างขึ้นยังได้นำพาชาวจีนฮากกากลุ่มเล็กๆ  อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศสยามด้วยอีกเช่นกัน  พร้อมกับการบุกเบิกพื้นที่สร้างพื้นที่ให้กับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย  เช่น  ยางพารา  การอพยพเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยของชาวจีนจากมณฑลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนดังกล่าว
 
หากพิเคราะห์พิจารณาลงไปมากขึ้นจะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของการอพยพของชาวจีนตามกลุ่มภาษาเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว  จะเห็นได้ว่ามีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการแสวงหาแหล่งที่ทำมาหากินที่ดีกว่า
 
ชาวจีนฮากกาเหล่านี้ถ้าไม่ประกอบการค้า  มักจะมาประกอบอาชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้าง  เช่น  แรงงานในโรงสี  โรงเลื่อย  โรงน้ำตาล  แรงงานในการขุดคลอง  ทำถนน  และการก่อสร้างต่างๆ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่  5  ชาวจีนจำนวนมากได้รับจ้างเป็นแรงงานในการสร้างเส้นทางรถไฟ  โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ  สายกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-สุไหงโกลก  ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี  พ.ศ. 2452  จนกระทั่งแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2458  และจากกรณีดังกล่าวอาจเป็นการเริ่มต้นให้ชาวจีนทั้งกลุ่มแรงงานในการสร้างเส้นทางรถไฟและกลุ่มพ่อค้าชาวจีน  ซึ่งอาศัยความสะดวกในเส้นทางคมนาคมได้เดินทางไปยังส่วนต่างๆ  ของภาคใต้  ดังเช่นที่ปรากฏในอำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  (Skinner. 1957: 13-14)
 
แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 6  (พ.ศ.2453-2468)  นโยบายของรัฐบาลต่อชาวจีนได้เข้มงวดมากขึ้น  เนื่องจากกว่ารัชกาลที่  6  ครองราชย์ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า  กบฏ ร.ศ.130  ทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัย  นอกจากนี้กระแสโลกในเวลานั้นก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยทั่วไป  โดยเฉพาะประชากรชาวจีนในประเทศไทยเวลานั้นก็มีความนิยมในแนวคิดไตรราษฎร์  (การให้ความสำคัญกับประชาชนเหนือระบบกษัตริย์)  ของ ดร.ซุนยัดเซ็น (ชาวจีนฮากกากวางตุ้ง)  ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยถึง  2  ครั้ง
 

 
เหตุการณ์นี้ทำให้ทรงเขียนบทความทางหนังสือพิมพ์ชื่อ  ยิวแห่งบูรพาทิศ  โดยใช้นามปากกาว่า  “อัศวพาหุ”  เพื่อทรงแสดงท่าที่ต่อชาวจีนในประเทศไทย  โดยเฉพาะชาวจีนปัญญาชนที่มีจำนวนพอสมควรที่อาจเป็นแกนนำสร้างพลังทางสังคมได้  ดังข้อความว่า  “ในเมืองไทยเราเวลานี้มีบุคคลอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งรู้สึกภูมิใจในการเรียกตนว่า  ไทยผสม  คือข้าพเจ้ากล่าวถึงพวกที่เรียกตนว่า  จีนในสยาม หรือสยามจีนางกูรนั่นเอง”  (ขวัญดี  อัตวาวุฒิชัย.2528:137)
 
นอกจากนี้พระองค์ทรงยังออกพระราชบัญญัติที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของชาวจีนในไทยมากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม และการสร้างเครือข่ายของชาวจีนในไทยมาก  (พรรณี  บัวเล็ก.2545:429-430)  อันรวมถึงชาวจีนฮากกาในพื้นที่ภาคใต้ด้วย 
 
กล่าวสรุปได้ว่า  ถึงแม้รัชกาลที่  6  มีทัศนะต่อต้านชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทย และมีพระราชบัญญัติที่เข้มงวดกว่าสมัยที่  5  แต่รัชกาลที่  6  ไม่มีนโยบายที่ห้ามชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานโดยเด็ดขาด และไม่มีการบีบคั้นในเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวจีนในประเทศไทย  ชาวจีนส่วนใหญ่ยังสามารถเข้าออกจากดินแดนสยามได้
 
แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่  7)  ทรงขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2468  นโยบายที่มีต่อคนจีนของรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง  เพราะเรื่องการหลั่งไหลของชาวจีนเข้าประเทศไทยมีความยุ่งยากมากขึ้นในสมัยพระองค์  รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่  7  มีการใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง  เพื่อจำกัดจำนวนชาวต่างด้าวในการเข้าเมือง  เช่น  พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับ พ.ศ. 2470  ดังที่  พรรณี บัวเล็ก  (2545: 431-432)  กล่าวว่า  “รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2470  พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจแห่งรัฐบาลในการกำหนดโควต้าชาวต่างด้าวในการเข้าเมือง ในแต่ละปีจำนวนเท่าไหร่ และห้ามมิให้ชาวต่างด้าวมีลักษณะต่อไปนี้เข้าเมืองโดยเด็ดขาด  ดือ  ไม่มีหนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติอันถูกต้อง  บุคคลที่เป็นโรคร้ายซึ่งรัฐประกาศ  บุคคลที่ไม่ได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ  บุคคลที่ไม่มีรายได้และไร้ซึ่งผู้อุปการะ  มีรางการพิการ  สติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  และบุคคลที่เป็นอันธพาล  หรือน่าสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย  เป็นอันตรายต่อประชาชนและราชอาณาจักร” 
 
อย่างไรก็ตาม  สภาพปัญหาทางการเมือง  เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศจีนและหลังสงครามครั้งที่  2  ก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญให้ชาวจีนฮากกาเดินทางออกนอกประเทศ  โดยเฉพาะข้อมูลภาคสนามจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง  พบว่า  กลุ่มชาวจีนฮากกาได้อพยพเข้ามาที่นี้จนถึง พ.ศ.2492  อันเป็นช่วงสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่  2  แล้ว
 
พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ที่คาบระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก  จึงไม่แปลกเลยที่พื้นที่แห่งนี้ได้ทำหน้าที่เปรียบประหนึ่งสะพานเชื่อมต่อให้กลุ่มคนทั้งสองฟากฝั่งเดินทางไปมาสู่กัน ดังเห็นได้บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลายนี้  ได้ปรากฏมีเมืองท่าสำคัญๆ หลายแห่งเกิดขึ้นและแตกดับหรือเจริญรุ่งเรืองขึ้นหลายเมืองตลอด  แนวคาบสมุทรเหตุนี้เองภาคใต้ของประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีชาวจีนหลากหลายกลุ่มเดินทางเข้ามา ซึ่งในเวลานั้น  มลายูเป็นอาณานิคม  และเขตอิทธิพลของอังกฤษ และได้แผ่อิทธิพลเข้ามาประชิดหัวเมืองมลายูของไทย  เช่น ไทรบุรี กลันตัน  ตรังกานู ปะลิส  เปรัค  เป็นต้น
 

 
การเข้ามาที่สะดวกและความต้องการแรงงานจีน ส่งผลให้ชาวจีนฮากกาได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยจำนวนมาก  โดยเฉพาะบริเวณที่มีกิจการเหมืองแร่ของภาคใต้  ได้แก่  ภูเก็ต  หาดใหญ่  เป็นต้น  ชาวจีนฮากกาที่เข้ามาเป็นกรรมกรมักจะอยู่รวมกันในจุดใดจุดหนึ่งก่อน  เช่น กรุงเทพฯ  หรือภูเก็ต  แล้วหลังจากนั้นมีนายหน้ามาว่าจ้างจัดส่งไปทำงานตามแหล่งต่างๆ  โดยอาจอพยพมาจากจีนโดยตรง  หรืออพยพมาจากประเทศที่สอง  เช่น ปีนังและมะละกา  ประเทศมาเลเซีย หรือสิงค์โปร์  เป็นต้น ชาวจีนฮากกาได้กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ  กรุงเทพฯ  ปราจีนบุรี  ราชบุรี  ภูเก็ต  พังงา  สงขลา  นครศรีธรรมราช  ชุมพร  เป็นต้น 
 
สำหรับชาวจีนฮากกาในภาคใต้ ตั้งแต่ระนองลงไปจนถึงภูเก็ตบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่  ชาวจีนฮากกาเพิ่มขึ้นลดลงตามปัจจัยในกิจการเหมืองแร่  ชาวจีนฮากกาในภาคใต้ของไทยนั้นจะรวมกลุ่มสร้างบ้านแถวบ้านเรือนกลายเป็นชุมชนชาวจีนฮากกา  ในนั้นพื้นที่มีชาวจีนฮากกาจำนวนมาก  ได้แก่  อำเภอหาดใหญ่  อำเภอสะเดา  จังหวัดสงขลา  และอำเภอเบตง  จังหวัดยะลา 
 
พวกชาวจีนฮากกาที่อพยพมาสู่ภาคใต้ ต่อมาได้มีการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิด  แต่ก็ยังพยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้อย่างรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย  จนทำให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  และเอกลักษณ์ของการรวมกลุ่มทางสังคมที่โดดเด่นขึ้นมา

ดรุณี แก้วม่วง, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  และเคี่ยม สังสิทธิเสถียร  (2529: 818-834)   กล่าวถึงการอพยพของชาวจีนฮากกาในภาคใต้ประเทศไทย สรุปได้ว่า  ชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยทางภาคใต้  โดยอาศัยเรือเป็นพาหนะ  ส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ  เช่น สงขลา  ภูเก็ต  ระนอง  ตรัง   เป็นต้น  และพวกเขาจะประกอบอาชีพต่างๆ ได้แก่  ทำเหมืองแร่ดีบุก  ค้าขาย  กรรมกร  จำนวนคนจีนที่อพยพเข้ามามีหลายแซ่  หลายภาษา  อาทิ  ภาษาแต้จิ๋ว  จีนแคะ  จีนกวางตุ้ง  จีนฮกเกี้ยน  และจีนไหหลำ  เป็นต้น
 
ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าชาวจีนมีวัฒนธรรม  มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็มีความผูกพันกัน  อันเนื่องมาจากมีภาษาพูดเดียวกัน  แซ่เดียวกัน  จึงทำให้คนจีนอพยพติดตามกันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมากมายในเมืองไทย  ตั้งแต่ภาคกลางที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มากรองจากภาคใต้  ชาวจีนมีประเพณีวัฒนธรรมถือปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน  เช่น  ประเพณีกราบไหว้บรรพบุรุษ  ประเพณีกินเจ  เป็นต้น  เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง  ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ  ความเป็นอยู่  จึงมีการปลูกฝังถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  ชาวจีนมีจริยธรรมในด้านความมีระเบียบวินัย  ความสามัคคี  ความกตัญญูแฝงอยู่
  
สำหรับชาวจีนที่อพยพมายังประเทศไทย  ส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง  และมณฑลฮกเกี้ยน  ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน  ที่เหลือมาจากมณฑลไหหลำ  เพราะว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ร่วมกันของมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง  ก็ย่อมส่งผลที่ไม่มีความแตกต่างกัน  รวมทั้งเกาะไหหลำที่มีขนาดพื้นที่จำกัด  ด้วยความยากลำบากในการใช้ชีวิตเช่นนี้เองทำให้มณฑลฮกเกี้ยนนับเป็นแหล่งส่งออกชาวจีนออกสู่ภายนอก  ประกอบกับพื้นที่อยู่อาศัยเกี่ยวเนื่องอยู่กับท้องทะเลทำให้ผู้คนอาศัยอยู่ในมณฑลตะวันออกเฉียงใต้  เป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรืออย่างสูงและเป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าทางทะเลอยู่เสมอ  ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนจากมณฑลแถบนี้จึงเป็นพื้นที่ภูมิลำเนาเดิมชาวจีนกลุ่มสำเนียงต่างๆ  ที่อาศัยอยู่ภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมทั้งประเทศไทย  เช่น แต้จิ๋ว ฮากกาหรือแคะ  ไหหลำ  ฮกจิว  ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นกลุ่มอพยพและเดินทางออกมาจากถิ่นฐานเดิมในบริเวณใกล้เคียงกันทั้งสิ้น
 
ชาวจีนที่มาจากมณฑลกวางตุ้ง  ฮกเกี้ยน ไหหลำทั้ง  3  มณฑลนี้  ต่างไม่ได้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน  เพราะมีภาษาพูด  วัฒนธรรม ประเพณีปลีกย่อยบางอย่างแตกต่างกัน  ดังนั้น  ชุมชนชาวจีนที่เกิดขึ้นในเมืองไทยจึงมักมีการรวมกลุ่มกันตามกลุ่มภาษาของตน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด  กลุ่มจีนฮากกามีภูมิลำเนากระจัดกระจายในหลายมณฑลของจีน  ชาวจีนฮากกาที่อพยพมายังประเทศไทยสามารถจำแนกเป็นกลุ่มย่อยตามภูมิลำเนา คือ  จากมณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้งและรอบๆ  เมืองแต้จิ๋ว  เป็นต้น  ชาวจีนแคะ  (ฮากกา)  ในประเทศไทยมักประกอบอาชีพทำเครื่องหนัง  เช่น กระเป๋า  รองเท้า  เป็นต้น  ตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่เช่นเดียวกับชาวจีนแต้จิ๋ว 
 
ภาษาพูดของชาวจีนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมาก  ทำให้ชาวจีนแต่ละกลุ่มไม่สามารถสื่อสารกับจีนกลุ่มอื่นด้วยภาษาพูด  ได้แต่สามารถสื่อสารกันได้ด้วยตัวอักษรจีน  เพราะไม่ว่าชาวจีนจะพูดด้วยภาษาจีนสำเนียงใดก็ตาม  แต่จะใช้ระบบตัวอักษรแบบเดียวกันทั่วโลก  ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของภาษาจีน  (ศุภการ  สิริไพศาล, 2550: 7-8)
 
จากทั้งหมดดังกล่าว  เห็นได้ว่าชาวจีนฮากกาก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ชาวจีน” อีกจำนวนมากที่ได้ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองภาคใต้ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน   อย่างน้อยก็ได้ทำให้เราพบกับ “ชาวจีนฮากกา”   ซึ่งในนามที่ถูกเรียกรวมกับกลุ่มจีนอื่นๆ  กันว่า  “ชาวจีน” ได้เข้ามาร่วมปะทะสังสรรค์เป็นคนในอยู่ภาคใต้ของสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน
 

 
----------------------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
 

ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย. (2528 ). อิทธิพลของวรรณกรรมจีนต่อวรรณกรรมและสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกิสนทร์. โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วัลภา บุรุษพัฒน์. (2517). ชาวจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 

พรรณี บัวเล็ก. (2545). ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ.2457-2482: บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม. กรุงเทพฯ: พันธกิจ.

ศุภการ  สิริไพศาล (2550).  จีนหาดใหญ่.  สงขลา: ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทักษิณ.
สงบ ส่งเมือง. (2528).  ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก . สงขลา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ภาคใต้.

สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (2529).  สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้.  สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ภาคใต้.

Skinner, G. (1957). Chinese Society in Thailand : An analytical History. New York : Cornell University.
 
กำลังโหลดความคิดเห็น