xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายนักวิชาการใต้” อัด จนท.ทำเกินกว่าเหตุสลายการชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ออกเดินเท้าจาก ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดสงขลา เพื่อแสดงเจตจำจงให้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ตือโละปาตานี แต่ได้มีการใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่ขัดขวาง และสลายการชุมนุมในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 16 ราย

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ชายฝั่งตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งใช้พื้นที่กว่า 2,850 ไร่ เพื่อผลิตไฟฟ้า 2,200 เมกะวัตต์ ถูกอนุมัติตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558-2573 หรือ PDP 2015 โดยกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์ในโลกปัจจุบันซึ่งมุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนระดับชุมชน

การดำเนินการตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามากมาย ทั้งการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ครั้ง กระบวนการศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม และพบข้อมูลที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงจำนวนมาก นอกจากนี้ กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก่อน ในขณะที่ EHIA ของท่าเรือขนถ่านหินยังไม่ผ่านการพิจารณา และต้องดำเนินการแก้ไข

การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้แนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 และประชารัฐ ควรที่จะสอดคล้องต่อกระบวนทัศน์การพัฒนาตามมาตรฐานจริยธรรมสากลในการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทยลงนามไว้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จะต้องกระทำโดยกระบวนการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและอนามัยของประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ มีข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.ประณามการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่มีความชอบธรรม และเป็นไปอย่างอำเภอใจ ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข

2.ยืนยันในเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยการชุมนุมอย่างสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงมีสิทธิอันชอบธรรมทุกประการในการแสดงออกซึ่งการไม่เห็นด้วยต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทั้งนี้ ในการชุมนุมโดยการเดินเท้าที่ผ่านมา ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทุกประการ อีกทั้งการชุมนุมก็เป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ

3.ยืนยันในหลักการพื้นฐานที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ดังนี้ การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขในระหว่างสอบสวนจึงเป็นหลักการที่ต้องยึดถือปฏิบัติ การเรียกหลักประกัน หรือการควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเป็นเพียงข้อยกเว้นที่ต้องใช้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

4.ขอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินการตามนโยบายและโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินในพื้นที่อำเภอเทพาอย่างเร่งด่วนเพื่อระงับความขัดแย้งที่กำลังบานปลาย ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

5.ขอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้บรรลุ “ภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน” ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต แหล่งผลิตอาหาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น “คืนบรรยากาศประชาธิปไตย ด้วยการเคารพอย่างมั่นคงจริงใจในโรดแมป (Road Map) การเลือกตั้ง และไม่ใช้อำนาจในลักษณะที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและไม่ใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว”

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้
29 พฤศจิกายน 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น