นครศรีธรรมราช - เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือจี้นายกฯ ใช้ ม.44 สั่งปลดบอร์ดบริหาร กยท.พ้นจากหน้าที่ หวิดวางมวยเนื่องจากเหตุการณ์เกือบบานปลาย หลังรองผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าปะทะคารมเดือด
วันนี้ (24 พ.ย.) นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยแห่งประเทศไทย นายทวีศักดิ์ เพิ่ม ผู้ประสานงาน และเกษตรกรชาวสวนยางใน จ.นครศรีธรรมราช หลายสิบคนได้เดินทางมาศาลากลางนครศรีธรรมราช เพื่อยื่นหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ให้บอร์ดบริหารการยางแห่งประเทศไทย พ้นจากหน้าที่ และทวงถามความคืบหน้าต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยไปถึง 11 วันแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางถึงศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ได้ประสานกับนายมนัส พร้อมด้วยผู้ประสานงานเพื่อให้ขึ้นไปยังห้องประชุมพูดคุย และยื่นหนังสือต่อ นายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ในขณะที่กำลังรวมตัวอยู่หน้าศาลากลาง ปรากฏว่า นายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เดินลงมาจากศาลากลาง และตรงเข้ามาเพื่อจะมารับหนังสือ แต่เมื่อมีการพูดคุยท่าทีถึงกับตึงเครียดมากขึ้น ขณะที่นายมนัส บุญพัฒน์ พยายามชี้แจง และสอบถามว่าจะไปยื่นบนศาลากลางตามการประสารนงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่
ปรากฏว่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการแสดงอารมณ์อย่างรุนแรง เช่นเดียวกับ นายทวีศักดิ์ เพิ่ม ผู้ประสานงาน พยายามที่จะเข้าไปพูดคุยถึงความเดือดร้อน นายสกล ยิ่งแสดงออกถึงความไม่พอใจ และมีน้ำเสียงที่ดังขึ้น พร้อมทั้งอ้างในทำนองว่า ไม่รับฟังเพราะนายทวีศักดิ์ พูดจาแบบการเมือง จนสถานการณ์เริ่มบานปลาย จนเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลต้องพา นายทวีศักดิ์ ออกไปจากวงพูดคุยก่อน ขณะที่นายสกล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกนายทหารเข้าไปประกบเพื่อพยายามสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ภายหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย พร้อมด้วยผู้ประสานงาน และเกษตรกรชาวสวนยางอีกหลายสิบคนได้อธิบายถึงข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 สั่งให้บอร์ดบริหารการยางแห่งประเทศไทย พ้นจากหน้าที่ทั้งคณะ จากเหตุผลโดยรวมคือ การบริหารจัดการยางที่ล้มเหลวรวม 6 ประการ คือ
1.ราคายางแผ่นดิบจาก 80.29 บาท เหลือเพียง 44 บาท ในวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา และทราบว่า ในวันนี้เหลือเพียง 40 บาท
2.ประกาศปิดทำการตลาดกลางยางพาราไม่มีราคาอ้างอิง โดยไม่เคยปรากฏมาก่อน
3.ยกเลิกประมูลซ้ำๆ ติดต่อกันหลายครั้ง จนส่งผลต่อเสถียรภาพของราคายาง
4.ใช้พื้นที่ตลาดกลางเป็นโกดังเก็บยางจนเกษตรกรนำยางมาขายไม่ได้
5.ยางในโครงการที่คณะกรรมการชุดนี้บริหารจัดการมีสภาพเสื่อมเสียหาย
6.ปรับลดสวัสดิการของพนักงานชั้นผู้น้อย แต่เอื้อประโยชน์เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กร
นายมนัส ยังระบุด้วยว่า นอกจากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ต่อบอร์ดบริหารยางชุดนี้แล้วนั้น ยังจะทวงถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ต่อการรับปากว่าผลสอบสวนจะออกมาภายใน 7 วัน แต่จนถึงวันนี้ 11 วันแล้ว ยังไม่สามารถสรุปผลได้
สำหรับ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ดบริหารการยาง ทราบว่า ในคณะกรรมการบริหารการยางกับผู้ว่านั้นเป็นญาติกันโดยส่วนตัวหรือไม่ ต้องสืบหาให้ได้ว่านี่คือผลประโยชน์ของเกษตรกร ประโยชน์ของชาติ อย่าปล่อยให้การยางแห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าท่านทราบดี
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการยื่นหนังสือแล้ว ปรากฏว่า นายทวีศักดิ์ เพิ่ม ผู้ประสานงานเกษตรกร ได้พยายามเข้ามาเจรจากับ นายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกครั้ง แต่ปรากฏว่า นายสกล ไม่รับฟังจนเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายอีกครั้ง ก่อนที่หลายฝ่ายได้มาช่วยกันห้ามปรามเอาไว้ได้ทัน