xs
xsm
sm
md
lg

“ชูตูนเพื่อเตือนตู่” : จากปรากฏการณ์ “ตื่นตูน” ถึงปฏิบัติการสร้าง “หลา-กลาง” ประชาสังคมภาคใต้ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  ชุมคน-ชุมชน-คนใต้ 
โดย  :  รศ.ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
นับวันจะแรงรุดต่อเนื่องสำหรับปรากฏการณ์ (Phenomenon) ภายใต้โครงการ "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" ของ ตูน บอดีสแลม (Toon Bodyslam) ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขดังได้วิเคราะห์ไปในตอนแรก

อย่างไรก็ตาม กระแสสูงของการตอบรับและการต้อนรับอย่างอบอุ่น เต็มไปด้วยเหตุการณ์ อารมณ์ร่วม สีสัน ความสนุกสนานของกิจกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นในแต่ละจุดของพื้นที่ตลอดเส้นทางการวิ่งระยะไกล ในพื้นที่/ชุมชน/จังหวัดของภาคใต้ ยังมีปัจจัยสำคัญอันเกิดจากความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงข้ามบริบท อันเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 ประการ
 
ประการแรก จากจิตวิทยามวลชนเชิงบวก อันเนื่องมาจากการแข่งขันและปฏิสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการ “สร้างพื้นที่ที่สามอย่างสร้างสรรค์”
 
ในความหมายของการเป็น “สถานที่ พื้นที่ ที่ตั้ง” ที่มีการพบ สนทนา รังสรรค์กิจกรรมของผู้คน “บน-ใน-ระหว่างพื้นที่” ปฏิบัติการเคลื่อนไหว ที่ใครต่างสามารถเติมเสริมรสนิยม ความคาดหวัง แรงปรารถนาได้อย่างเป็นอิสระ  ไร้พันธะหรือข้อผูกมัดใดๆ เสมอหน้ากันในการเข้าถึง สร้างบรรยากาศความสนุกสนาน รื่นเริง เฮฮาอย่างไม่มีขีดจำกัด กระทั่งกลายมาเป็น “จุดอ้างอิงกันและกัน” ของผู้ผ่านทางและผู้รอคอยการมาถึงที่จดจ่อ ใส่ใจ


สังคมไทยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาขาด “พื้นที่ที่สาม” ที่ว่านี้อย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและระบบการเมืองแบบ “ปัดป้าย” ด้วยเสื้อสีและการผลักไสไล่ส่งให้เป็นคู่ตรงข้าม การขาดพื้นที่ที่สาม หรือการใช้พื้นที่ที่สามอย่างผิดๆ ผูกขาด จับจองเป็นเจ้าของอย่างลืมหูลืมตา มุ่งลิดรอนสิทธิ ทำให้สูญเสียความเคารพ ศรัทธาความเป็นเพื่อน-มนุษย์อย่างน่าตระหนก ตกใจ ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ระส่ำระสาย และวิกฤตรอบด้าน
 
ดังนั้น ในแง่มุมหนึ่งของปรากฏการณ์ ย่อมส่องสะท้อนการ “โหยหาพื้นที่ที่สาม” ที่แบ่งสันปันส่วนอย่างเหมาะสม ลงตัวสำหรับการสนทนา ส่งเสียง สะท้อนความต้องการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสร้างสรรค์สังคม การตระหนักในความหลากหลายของความเป็นพื้นที่ของมนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่ใช่เป็นเพียงการสังคมสงเคราะห์ในวัฒนธรรมสงสาร ทำธรรมทานอย่างดาดๆ เท่านั้น
 

เพราะไม่บ่อยครั้งมากนักกับการเคลื่อนไหวปฏิบัติการทางสังคมจะได้รับการตอบรับที่พุ่ง/มุ่งไปสู่การถกเถียงเป็น “วาระทางสังคม ญัติติสาธารณะ” ใน “มิติ-ประเด็นความคิด ระบบ โครงสร้างและการดำรงอยู่จริง” ของระบบสุขภาพได้รอบด้าน

สามารถเชื่อมโยงทำให้เป็น “การเมืองเรื่องสุขภาพ” ในความหมายกว้างที่ไม่อาจแยกชีวิตกับการเมืองออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองแบบปัจจุบันที่ “การเมืองได้เข้ามากำกับ ควบคุมในแทบทุกอณูชีวิตของชีวิต” ทว่าไม่วิวาทะ แม้อาจมีประเด็น “ดราม่า (Social Drama) อยู่บ้างก็ตาม
 
แต่ประเด็นสุขภาพก็ถูกทำให้มีความหมายกว้าง ลึก ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม การป้องกัน การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู และการคุ้มครอง ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขวิเคราะห์ว่า เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่สำคัญคือ การให้บริการ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ งบประมาณการเงินการคลัง ระบบสารสนเทศ การเขาถึงการรักษาและเวชภัณฑ์ และภาวะผู้นำ-ธรรมาภิบาล  
 
ประการที่สอง ในท่ามกลางการปิดล้อม ใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีการละเมิด ปิดกั้น การข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง จ้องจับ ทำให้หวาดกลัวด้วยกลไกอำนาจรัฐ ทั้งเปิดเผย ปิดเร้น
 
ประชาชนในพื้นที่ต่างต้องเผชิญวิกฤตการณ์ปัญหาที่เกี่ยวพันกับการดำรงชีวิต การใช้ชีวิตประจำวันที่ยากลำบากและเปราะบางมากขึ้นทุกวันๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากราคาพืชผลทางเกษตร ยางพารา ซึ่งถือเป็นขาหลักอันดับหนึ่งของภาคใต้ ที่ดำดิ่งตกต่ำชนิดที่เรียกว่า “4 โล 100” ในสำนวนประชดประชั้นแบบใต้ๆ

แม้จะรู้ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลไกตลาดโลก เพราะประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากยางพาราประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ ”การถูกทอดทิ้ง” ในแง่การจัดการและการผลักดันเชิงนโยบายได้สร้างความ “เจ็บช้ำน้ำใจ” เป็นอย่างมาก
 

แม้มีความพยายามในการลุกขึ้นมาส่งเสียง เรียกร้อง ผลักดันก็ถูกกำจัด จัดการในรูปแบบ วิธีการต่างๆ ดังที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ การควบคุมแกนนำเครือข่ายชาวสวนยางที่เตรียมเคลื่อนใหญ่ เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราไปปรับทัศนคติ สกัดกั้นการชุมนุมในทุกวิถีทาง การดำเนินคดี เป็นต้น
  
การพัฒนาประเทศตามแผนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เพื่อความความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก็มีความแย้งย้อนอันแสนจะแปลกประหลาดในหลายเรื่องๆ ไม่ว่าจะการเปิดโอกาสให้ทุนใหญ่ ทุนข้ามชาติ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากร ยกเลิกเพิกถอนอุทยานสร้างท่าเรือน้ำลึก การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการที่ล้วนแล้วแต่ก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การวางสายไฟฟ้าแรงสูงผ่านพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฯลฯ
 
คือสิ่งสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้งสิ้น ขณะที่ผู้ลุกขึ้นมาปกป้องความแย้งย้อนดังกล่าว กลับถูกคุกคาม ถูกกระทำในนามของกฎหมาย และกลไกอำนาจรัฐ ที่กลายมาเป็นของสิ่งที่เรียกว่า “ความอยุติธรรม” ในนามของกฎหมาย

จากข้อมูลภาคสนามและสื่อสังคมออนไลน์ เราต่างพบกับการปฏิบัติเคลื่อนไหวต่อต้าน “แบบเปิด” ในเงื่อนไขที่ถูก “ปิดล้อม” โดยอิงชิดสนิทแนบกับเหตุการณ์กิจกรรมที่อยู่ในกระแสความสนใจ ตื่นตามในชีวิตประจำวัน ด้วย “จินตนาการและการพรางตัวที่คาดไม่ถึง” เช่น “ชูตูนเพื่อเตือนตู่” ป้ายเรียกร้องการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่ผุดโผล่แบบนิรนาม จึงมีไม่น้อยในครั้งนี้!!!!
 
ปรากฏการณ์แห่งตูน ด้วยเหตุปัจจัย บริบท และความสัมพันธ์เชื่อมโยงข้ามบริบท จึงก่อรูปหนุนเนื่อง หลากไหลไปในทุกระดับ ทุกทิศทาง สร้างโอกาสอันดีที่สังคมไทยจะใช้ “วาระ” นี้กลับมาสร้างสานสัมพันธภาพอันดีงามขึ้นมาใหม่ และร่วมกันผลักดันปรากฏการณ์ตูนให้เกิดเป็นกระแสธารใหญ่พัดพาการ “ตื่นตูน” หรือ (Toon Effect) ด้วยการ????
 
1) ต้องหยิบฉวย ใช้ปรากฏการณ์ตูนเป็น “แรงส่งที่ทรงพลัง” ในการปฏิบัติการเคลื่อนไหว “รื้อสร้างระบบสุขภาพ” ให้สั่นสะเทือน ขยายวงกว้างออกไปในทุกมิติ ที่เชื่อมต่อกับโครงสร้างอันเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม และเสมอภาคในเรื่องมิติระบบสุขภาพ การสร้างนโยบายสวัสดิการสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2) จากนั้นจึงเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมอันเป็นปัญหารากเหง้าในสังคมไทย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย “ลดความเหลื่อล้ำ สร้างความเป็นธรรม” ที่เกิดจากการร่วมสานพลังของทั้งสังคม ไม่ใช่ “ควบคุม สั่งการ” ของ “ระบบราชการ กองทัพ” และ “การรวบ-รวมศูนย์อำนาจแบบเข้มข้น”
 

3) พร้อมๆ ไปกับการตรวจสอบวาทกรรม และการปฏิบัติการทางวาทกรรมของรัฐปัจจุบัน ในยุทธศาสตร์การพัฒนา “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้รูปแบบรูปแบบการขับเคลื่อน “ประเทศไทย 4.0” และ “ประชารัฐ” ที่แนบแน่นกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การควบคุมยุทธศาสตร์การพัฒนาด้วยแผนบูรณาการ งบประมาณแบบรวมศูนย์เข้มงวด และการขับเคลื่อนด้วยระบบราชการที่ “แข็งแร่งเติบโตสวนกระแส” ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อสกัดกั้น (เงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิด) การสืบทอดอำนาจ การทำให้“เกิดทุกข์ทุกหย่อมย่าน” อันเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพการบริหาร และการทำให้ประชาสังคมง่อยเปลี้ยเพลียแรงไปมากกว่านี้
 

4) ริเริ่มสานกิจกรรม การปฏิบัติการทางสังคมและการเมืองในระดับต่างๆ ทั้งชุมชน พื้นที่ เครือข่ายเชิงพื้นที่ ประเด็น หรือที่สูงขึ้นไปกว่า ใน “สนาม” ที่ถนัด คุ้นเคย มีความชำนาญ และร้อยเรียงทำให้เห็น “ภาพรวม” อย่างต่อเนื่องของทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น
 
ทั้งหมดนี้คือ “หน้าที่ของประชาชน-พลเมืองทุกคน” ไม่ว่าสังคมนั้นจะปกครองด้วยระบอบ/ระบบใด หรือกดหัวประชาชนไว้อย่างไร????
 
กล่าวเฉพาะในภาคใต้ ได้เกิดการรวมตัวขององค์กรประชาสังคมเล็กๆ กลุ่มหนึ่งมาระยะหนึ่ง (อ่านเพิ่มประเด็นนี้ในสถานการณ์และการสร้าง “ทางที่สาม” ของประชาสังคมภาคใต้ ใน MGR Online วันที่ 17 ต.ค.2560) ทำหน้าที่สำคัญในพันธกิจทางประวัติศาสตร์นี้ให้ต่อเนื่องและขยายออกไปในวงกว้าง
 
“จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ เสมอ แต่ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากการสนับสนุนของมวลชนอันไพศาล”
 
ตอนหน้าจะว่าด้วย “หลา-กลาง” ของคนกลุ่มเล็กที่คิดเปลี่ยนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น