ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 30 เครือข่ายเกษตรกรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคใต้ ออกแถลงมติกรณีการต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสี่ยงสูง 2 ชนิด ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งขัดต่อมติกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมข้อเสนอด้านเกษตรอินทรีย์ต่อภาครัฐ
วันนี้ (19 พ.ย.) เครือข่ายเกษตรกรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคใต้กว่า 30 เครือข่าย ได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์เครือข่ายเกษตรกรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคใต้ ฉบับที่ 1/2560 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ต่อกรณีการต่ออายุทะเบียนวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิด ซึ่งขัดต่อมติกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีใจความว่า
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมี 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการโดยให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสี่ยงสูง คือ พาราควอต โดยระหว่างนี้ไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และยุติการนำเข้าภายในธันวาคม 2561
จากมติดังกล่าว เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงรวม 49 จังหวัด 369 องค์กร ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัด และยื่นโดยตรงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ ที่พบว่า สารดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงก่อผลกระทบต่อสุขภาพ ถัดมา วันอาหารโลก 16 ตุลาคม 2560 เครือข่ายฯ ได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้บริษัทซินเจนทา และเจียไต๋ แสดงจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ โดยไม่ต่ออายุทะเบียนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่อย่างไรก็ดี พบว่า กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุทะเบียนสารดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในกรณีดังกล่าว เครือข่ายเกษตรกรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคใต้ รวม 30 องค์กร ซึ่งมีเป้าหมายขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาคใต้ โดยใช้เกษตรอินทรีย์เป็นเครื่องมือ รวมทั้งดำเนินการปกป้องสิทธิเกษตรกร ได้ประชุมร่วมกันในเวทีมหกรรมเกษตรอินทรีย์และการขับเคลื่อนสิทธิเกษตรกรภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2560 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงได้มีมติ และข้อเสนอดังต่อไปนี้
ข้อเสนอต่อภาครัฐ
1.ขอประณามอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อกรณีการต่ออายุทะเบียนวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิด ซึ่งขัดต่อมติกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง จึงเรียกร้องให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงความรับผิดชอบจากการกระทำดังกล่าว
2.เตรียมดำเนินการฟ้องศาลปกครองในกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 25, 27, 28 และ 29 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย รวมทั้งยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกรณีกระทำความผิดตามมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
มติต่อเกษตรอินทรีย์/สิทธิเกษตรกร
1.ในยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ของรัฐบาล กระบวนการมีส่วนร่วมน้อย ต้องกำหนดแผนการพัฒนาองค์ความรู้ แผนสนับสนุนเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร แผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุกรรมพื้นบ้านและระบบนิเวศ แผนการเผยแพร่ ให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ยางพาราพร้อมแผนปฏิบัติการในรูปแบบพืชร่วมยาง หรือป่ายาง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นทางออกจากปัญหาวิกฤตยางพาราไทย ให้รัฐบาลกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน ระบบนิเวศของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจฐานราก
2.มาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์ต้องมีความสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ระบบนิเวศ รวมทั้งสะท้อนการปฏิบัติจริงของเกษตรกร โดยเปิดช่องให้เกษตรกรสามารถกำหนดมาตรฐานการรับรองของตัวเองได้ โดยมีกลไก และกระบวนการรับรองจากชุมชนและเครือข่าย
3.ให้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ทำแผนปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์ระดับจังหวัดให้ชัดเจน โดยภาคประชาชน และเกษตรกรมีส่วนร่วม
มติต่อเกษตรกร/ขบวนเกษตรกร
1.เราจะรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายเกษตรกรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคใต้” สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย/ภาคี ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยในการต่อสู้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และปกป้องสิทธิเกษตรกรทุกรูปแบบ
2.มีมติสร้าง “หลาดลานไทร” ให้เป็นตลาดแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างและขยายพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ตอนบน
ภาคีเครือข่ายเกษตรกรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคใต้
1.เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีปักษ์ใต้
2.เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้
3.เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้
4.สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
5.เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติภาคใต้
6.ธนาคารต้นไม้
7.สถาบันศานติธรรม
8.โครงการพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่
9.ชมรมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์บ้านบ้าน สงขลา
10.สภาพันธุกรรมท้องถิ่นภาคใต้
11.สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้
12.เครือข่ายสื่อสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้
13.เครือข่ายหมอบ้านภาคใต้
14.เครือข่ายคนกล้าคืนถิ่นภาคใต้
15.เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดชุมพร
16.เครือข่ายผู้ปลูกข้าวไร่
17.กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่
18.เครือข่ายเกษตรทฤษฏีใหม่จังหวัดชุมพร
19.สมัชชาสุขภาพจังหวัดชุมพร
20.สมาคมประชาสังคมจังหวัดชุมพร/คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร
21.เครือข่ายสิทธิชุมชนตำบลฉลุย
22.วิสาหกิจชุมชนบ้านสวนลมเล
23.กลุ่มครัวเรือนพอเพียงจังหวัดชุมพร
24.วิชชาลัยรวงข้าว
25.สภาองค์กรชุมชน ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
26.บริษัทหุ่นไล่กา กรุ๊ป
27.สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จังหวัดชุมพร
28.เครือข่ายรักษ์ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
29.เครือข่ายรักษ์ละแม
30.สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา