xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.นำกองทัพ “นักข่าวใต้” เดินทางดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศมาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กฟผ.นำกองทัพ “นักข่าวใต้” เดินทางศึกษาดูงานในเชิงประจักษ์ ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจิมาห์ รัฐเนเกรี เซมบิลัน ประเทศมาเลเซีย

ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย.ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดย นายศุภชัย ปิตะสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้าง ว่าที่ พ.ต.ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อม นายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้นำสื่อมวลชนทุกสาขาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 60 คน เดินทางไปศึกษาดูงานเชิงประจักษ์ ณ โรงไฟฟ้าจิมาห์ ณ รัฐเนเกรี เซมบิลัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะได้รับรู้ข้อมูลในเชิงประจักษ์

เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้สร้างเสร็จ และเดินเครื่องตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา รวมทั้งตั้งอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำ และห่างจากโรงแรม รีสอร์ต ชายทะเล สถานที่พักตากอากาศเพียง 4 กิโลเมตร รวมทั้งรอบบริเวณโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพประมง และการเกษตร ไม่แตกต่างจากสถานที่ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลา
 

 
ซึ่งในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ผู้แทนของโรงไฟฟ้าจิมาห์ ได้ให้รายละเอียดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจิมาห์ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟฟ้าให้แก่ทางการมาเลเซีย ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินบีทูมินัส และซับบีทูมินัส เป็นเชื้อเพลิง เปิดเดินเครื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยวิธีการถมทะเล และได้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายทุกอย่าง โรงงานมีระบบป้องกันมลพิษสิ่งแวดล้อม เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต ตั้งแต่เดินเครื่องมาไม่เคยมีปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และมลพิษเกิดขึ้น ทำให้โรงงานสามารถที่จะอยู่ร่วมกับชุมชน และอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้โดยไม่มีปัญหา

ผู้รับผิดชอบโรงงานไฟฟ้าถ่านหินจิมาห์ ยังกล่าวต่อไปว่า ในระยะแรกๆ ที่เข้ามาก่อสร้าง ชาวประมงในพื้นที่ก็มีความคิด และความรู้สึกว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าอาจจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของเขา ซึ่งเป็นเรื่องความวิตกกังวลที่เป็นปกติ โดยทางโครงการก็ได้ให้ข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงระบบการป้องกันที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่มีมลพิษต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน

แต่เพื่อความสบายใจ ทางโครงการได้ส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านในชุมชนด้วยการตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพให้แก่ชมรมชาวประมง ต่อมา หลังจากที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่อง จากปี 2552 จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่พบในเชิงประจักษ์ คือ สัตว์น้ำในแนวชายฝั่งกลับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากน้ำที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าลงทะเลไปสร้างแพลงก์ตอนให้เกิดขึ้นจนกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำ
 

 
ผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าจิมาห์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงที่ 2 มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวม 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศมาเลเซีย โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 40 และมีกำหนดจะเปิดเดินเครื่องในปี 2562 และหลังจากก่อสร้างเสร็จ ประเทศมาเลเซีย จะมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 5 เครื่องด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามชาวบ้านหลายสาขาอาชีพที่อยู่ในบริเวณระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร เพื่อฟังความคิดเห็น และสอบถามถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านเหล่านั้นได้ให้ข้อมูลว่า คนในชุมชน และนอกชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีใครที่เจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่มาจากโรงไฟฟ้า สิ่งที่พวกตนเป็นห่วงมีเพียงเรื่องเดียว คือ หลังจากที่โรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น การจราจรแออัดกว่าเดิม การสัญจรต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น แต่สิ่งที่ดีๆ คือ คนในพื้นที่มีงานทำ ทั้งในโรงงาน และที่อื่นๆ เนื่องจากมีการเติบโตของชุมชน
 

 
ด้าน ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ได้กล่าวว่า การนำผู้สื่อข่าวมาครั้งนี้เพื่อให้ศึกษาดูงานในเชิงประจักษ์ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้เดินเครื่องตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในขณะสร้างเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเท่ากับปัจจุบัน สถานที่ตั้ง ชุมชนรายรอบก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่คนในชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวยังไม่เคยได้รับผลกระทบอย่างที่มีการวิตกกังวล

เมื่อผู้สื่อข่าวมาเห็นของจริงในเชิงประจักษ์ ก็จะได้นำสิ่งที่พบเห็นไป “สื่อ” กับคนในพื้นที่ คนในประเทศได้อย่างถูกต้อง ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีการร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น