xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ที่ จ.ภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ที่ จ.ภูเก็ต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทั้งนี้ มี นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสุดาวรรณ ปลอดทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง นายอรุณ โสฬสนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เฝ้ารับเสด็จ ณโรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ การแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 กราบบังคมทูลถวายรายงานการจัดการแข่งขัน ว่า การแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือ IOAA จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา และในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระชนมายุครบ 84พรรษา ดังนั้น ในปีนี้ซึ่งเป็นวาระครบ 90 ปี แห่งการพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คณะผู้จัดการแข่งขันจึงจัดให้มีการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 (IOAA 2017) ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ผู้ควบคุมทีม และผู้สังเกตการณ์ประมาณ 500 คน จาก 46 ประเทศเข้าร่วมโดยได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนทุนในการจัดงาน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และสถานที่ในการจัดงานจากหลายสถาบัน และองค์กรเอกชน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขัน ความว่า การแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นกิจกรรมสำคัญประจำปีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากทั่วโลกได้มาร่วมกันแสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่รวมผู้เข้าร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ คณาจารย์ และผู้กำลังศึกษาด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งของประเทศไทยที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของวิชาการด้านนี้ โดยจะมีส่วนกระตุ้น และสนับสนุนให้ชาวไทยหันมาให้ความสนใจกับสาขาวิชาด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เช่นเดียวกับสาขาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะสร้างความก้าวหน้าในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสให้นักศึกษา และนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนของชาติต่างๆ ทั่วโลก ได้มีการสร้างความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน สร้างความคุ้นเคย และความเข้าใจทางวัฒนธรรมระหว่างกันเพื่อการทำงานร่วมกันในอนาคต

ทั้งนี้ วิธีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าแข่งขันระดับนานาชาติในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน โดยในประเทศไทย มูลนิธิ สอวน. ซึ่งมีศูนย์ดาราศาสตร์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 13 ศูนย์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือก โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหนึ่งในศูนย์ภาคใต้ ซึ่งจะมีการนำผู้ได้รับการคัดเลือกจากแต่ละศูนย์มาเข้าอบรม และคัดเลือกให้เหลือศูนย์ละ 5-6 คน จากนั้นจะมีการเข้าแข่งขันระดับประเทศโดยคัดเลือกจากทั้งหมดให้เหลือ 5 คน เพื่อเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการแข่งขัน ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือ IOAA จะมีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ การจะแบ่งคะแนนเป็นการทดสอบภาคทฤษฎี ร้อยละ 60 การวิเคราะห์ข้อมูลด้านดาราศาสตร์ร้อยละ 20 และภาคสังเกตการณ์ ทั้งกลางวันและกลางคืน ร้อยละ 20 ซึ่งรวมการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ และการสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้า นอกจากนั้น ยังมีการสอบเป็นทีมโดยคละประเทศในท้องฟ้าจำลองที่ติดตั้งไว้ชั่วคราวที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งจะไม่มีการนำคะแนนมารวมเพื่อผลแพ้ชนะ แต่เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมการแข่งขัน หลายปีที่ผ่านมา ประเทศที่สามารถทำคะแนนได้ดี และได้รับรางวัลส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย อิหร่าน โดยเยาวชนไทยเคยแสดงความสามารถ และคว้าเหรียญในการแข่งขันมาแล้วเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น