xs
xsm
sm
md
lg

ครู เด็ก และผู้ปกครอง ร.ร.เทศบาลตะโหมด ร่วมแรงลงแขกดำนา เรียนรู้วิถีชีวิตการทำนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พัทลุง - ครู เด็ก และผู้ปกครองโรงเรียนเทศบาลตะโหมด ร่วมกันลงแขกดำนาในพื้นที่ 2 ไร่ ผอ.เผยอยากให้เด็กเรียนรู้วิถีชีวิตการทำนา ก่อนที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตสังคมต่อไปในอนาคต พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กได้มีการรู้จักคิด รู้จักทำ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

วันนี้ (9 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงนาโรงเรียนเทศบาลตะโหมด หรือโรงเรียนกลางนา ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้ร่วมกันลงแปลงเพื่อดำนาร่วมกัน หรือทางภาคกลางเรียกว่า “ลงแขกดำนา” แต่ทางพื้นเพของชาวปักษ์ใต้เรียกว่า “ออกปากดำนา” ทั้งนี้ ที่บริเวณแปลงนาดังกล่าวได้นำพันธุ์ข้าวที่ได้จากครู นักเรียน และผู้ปกครองในพื้นที่ได้เดินทางไปร่วมกราบพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วได้รับเมล็ดพันธุ์กลับมาก่อนที่จะนำมารวบรวมแล้วเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าส่วนหนึ่ง พร้อมกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ข้าวสังข์หยดพัทลุง นำมาร่วมปักดำเมื่อถึงฤดูกาลทำนาของชาวบ้านในพื้นที่ 2 ไร่
 

 
ซึ่งกิจกรรมเริ่มจากที่เด็กๆ ได้ร่วมกันชวนผู้ปกครอง หรือบอกปากผู้ปกครองมาช่วยดำนาของโรงเรียน เพื่อที่จะมาสอนให้เพื่อนๆ นักเรียนได้เรียนรู้การดำนา จากครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีอาชีพทำนามาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยบรรยากาศในการดำนาวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เด็กบางคนสนุกได้ดำนาเอง บางคนดำไม่เป็นก็ช่วยกันขนย้ายต้นกล้าลงแปลงนา จนกิจกรรมแล้วเสร็จ

ด้าน นายเสกศักดิ์ กวินพฤติ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลตะโหมด กล่าวว่า การลงแขกดำนา หรือการออกปากดำนา ที่ชาวพัทลุงเรียกกันติดปาก เป็นวิถีหนึ่งของการทำการเกษตรที่มีการลงแรงร่วมกันอย่างมีความสุข เด็ก และผู้ใหญ่ได้มีกิจกรรมร่วมกัน อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กในชนบทได้รู้จักเรียนรู้วิถีชีวิตของตัวเองนอกห้องเรียน เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว เรียนรู้เรื่องข้าวว่าจากแรงมาเป็นรวง วิถีชาวนาต้องใช้เวลานามากเท่าไหร่ เสียหยดเหงื่อไปเท่าไหร่

ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้มีองค์ภูมิความรู้การใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กๆ อีกอย่างหนึ่งคือเด็กๆ จะได้รู้จักรักถิ่นฐาน รู้จักปรับตัวเองเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งที่นี่โรงเรียนกลางนาจึงอยากให้เด็กเรียนรู้วิถีชีวิตการทำนา ก่อนที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตสังคมต่อไปในอนาคต และการทำนายังเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กได้มีการรู้จักคิด รู้จักทำ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
 





กำลังโหลดความคิดเห็น