รายงาน...ศูนย์ข่าวภาคใต้
วันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะจารึกอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทยไปตราบนานเท่านาน เนื่องในวันพระราชพิธีเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งราชอาณาจักไทย ไปพระเมรุมาศ และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
ซึ่งหลังจากนี้ปวงชนชาวไทยอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะคลายจากความโศกเศร้าต่อความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ ต่อจากนี้จะมีเพียงพระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้นำไปยึดถือปฏิบัติในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุขสืบไป
พระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีมากมายและครอบคลุมทุกด้าน ประชาชนชาวไทยทุกสาขาอาชีพสามารถค้นคว้าและนำไปยึดถือเป็นแนวทางในการทำงานและการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน
หากหลับตานึกถึงภาพความทรงจำที่คนไทยมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เชื่อว่าปวงชนชาวไทยส่วนใหญ่ชินตากับภาพการเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในท้องถิ่นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อทรงงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ ทั้งป่าไม้ แผ่นดิน แหล่งน้ำ ท้องฟ้า อากาศ และพันธุ์พืช ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ความเพียรพยายามศึกษาหาหนทางปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติ ไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้ตระหนักเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ได้อย่างยั่งยืนสืบไป
ร.ต.ท.นิรัตน์ พุทธาโร ข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด อาศัยอยู่ที่บ้านท่านางหอม ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกเรื่องล้วนมีความสำคัญสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดความดีงามต่อชีวิตและชาติบ้านเมืองได้ทันทีและตลอดไปในทุกๆ เรื่อง
"แต่เรื่องที่มีความสำคัญที่สุดทรงเน้นย้ำและทำให้เห็นตลอดมาในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์นั่นก็คือการดูแลรักษาทรัพยากรของชาติและสิ่งแวดล้อม พระองค์ท่านสอนเราตลอดเวลาให้ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งสำคัญของชาติไว้ทั้งป่าไม้ ภูเขา แผ่นดิน แหล่งน้ำ ลำคลอง ไปจนถึงทะเลและอากาศ ดังพระบรมราโชวาทที่ผมน้อมนำมาปฏิบัติจนถึงวันนี้ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
...ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย..."
สำหรับพระบรมราโชวาทดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2521 ซึ่งในปีนั้นมีเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเด็นเหตุการณ์ทางการเมืองและปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลกระทบกับประเทศไทยในสมัยนั้น
โดยมีบันทึกที่ 'วีระศักดิ์ กีรติวรนันท์' เรียบเรียงไว้ในบทความประวัติการเคลื่อนไหวของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ระบุว่า ภายหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาไทยลงอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นการเคลื่อนไหวใต้ดิน
ต่อมาในช่วงต้นปี พ.ศ.2521 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเมือง มีประกาศให้กลับมามีกิจกรรมระดับคณะกับชมรมและมีองค์การนักศึกษาได้ ในวันที่ 18 กันยายน 2521 สโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ ร่วมกับสโมสรนักศึกษาอีก 8 แห่ง จัดงานรับขวัญผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลาคม 2519 จำนวน 19 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาคม 2519 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2521
หลังจากนั้นกลุ่มตัวแทนนักศึกษาเพิ่มจำนวนเป็น 12-18 สถาบัน ได้เคลื่อนไหวในกรณีช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในปี 2521 เป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปรากฎการณ์สำคัญในปี 2521 อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของพลังนักศึกษาปัญญาชนคนหนุ่มสาว ที่ก่อนหน้านั้นเคยถูกปราบปรามจับกุมคุมขังจากอำนาจรัฐ
พลังสร้างสรรค์ของนักศึกษาหลังได้รับอิสรภาพ เกิดขึ้นจากพายุเบส (Bess) และพายุคิท (Kit) ที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ปี 2521 ทำให้เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในกรุงเทพมหานคร นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบ 20 แห่ง ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับภาครัฐและสถาบันสำคัญของชาติอย่างเต็มกำลัง
จากบันทึกของ สนนท.พบว่านับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนก็กลับมามีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยเรื่อยมาที่ได้เคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิปี 2522 จัดโครงการให้กำลังใจผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้, กรณีญวนอพยพ (2522), กรณีประท้วงการขึ้นราคาน้ำมัน (2522-23), กรณีการขึ้นราคาน้ำตาลทราย (2523), กรณีคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ (2525), คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (2526), รณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (2526), ติดตามการประท้วงของหาบเร่ แผงลอย (2526), จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขึ้นใน พ.ศ.2527
และนับเป็นมหามงคลสมัยและของขวัญปีใหม่ต่อปวงชนชาวไทย ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม ปี 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท อันมีใจความสำคัญว่า
"...ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย..."
ซึ่งจากนั้นต่อมาภาพที่ปวงชนชาวไทยได้เห็นจนชินตาคือภาพการเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญต่อการดำรงชีวิตของปวงชนชาวไทยเสมอมาตราบจนสิ้นรัชสมัย
"MGR Online ภาคใต้" สืบค้นพระราชดำริ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาล 9 เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่ามีพระราชกรณียกิจ พระราชดำริ พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในหลายวาระ อาทิ พระราชดำรัส ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2545 มีใจความสำคัญว่า
“...ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนา ความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือการพัฒนา ยิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่ง ที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้...”
ขณะที่วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา บันทึกว่า "นับตั้งแต่ในหลวงของเรา ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2493 ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์น้ำ ดิน หรือป่าไม้ โดยพระราชกรณียกิจเหล่านี้ เกิดขึ้นจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขทฤษฎีและวิธีการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรและระบบนิเวศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable Development) ของประเทศไทยของเรา ดังนั้น เราจึงขนานนามในหลวงของเราว่า “ พระบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ”
สายพระเนตรที่ยาวไกล ฟื้นชีวิต 3 นิเวศ ดิน น้ำ ป่า
“หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” พระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว เมื่อคราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ตำบลห้วยทราย (5 เมษายน 2526) พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมโทรมของพื้นที่โดยรอบพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่มีแต่ความแห้งแล้งและดินเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีกองกำกับการที่ 1 กองบังคับพิเศษ ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้ดูแลศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ 3 ด้านหลักได้แก่การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินงานหลายวิธี อาทิ เช่น การปลูกหญ้าแฝก การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นและการฟื้นฟูสภาพป่า
การปลูกหญ้าแฝก (กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต) แบ่งการปลูกเป็น 2 ลักษณะคือ ปลูกขวางตามแนวระดับบนพื้นที่ลาดชัน เพื่อช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำ ที่ชะล้างหน้าดินและปลูกเพื่อทลายดินที่แข็งเป็นดานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้
กล่าวสำหรับพระราชดำริในการปลูกหญ้าแฝกนี้ถือเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการด้านภัยพิบัติ อุทกภัย ที่สะท้อนไว้ในครั้งเกิดมหาอุทกภัยกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2554 ถึงสาเหตุของปัญหาอุทกภัยทั่วประเทศไว้อย่างน่าสนใจว่า
"เรื่องตะกอนดิน (Sediment) และหน้าดินถูกกัดกร่อน (Erosion) เป็นเรื่องที่รู้กันในวงแคบ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านจะทรงจุดประกายขึ้น และทรงสอนให้ปลูกหญ้าแฝกนานแล้ว แต่ก็หาผู้ที่สนใจ และเข้าใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังน้อยมาก บังเอิญโชคชะตานำผมให้ไปทำงานเกี่ยวขัองกับเรื่องยากๆ นี้เข้า น้ำท่วมดินถล่มที่ไหนผมมีหน้าที่ต้องไปดู จึงได้เห็นปัญหาว่า น้ำโคลนที่ถล่มลงมาจากภูเขานั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร" (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4790.60 )
นอกจากนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระราชดำริในการสร้างความชุ่มชื้น โดยการสร้างฝายแม้ว (Check dam) โดยการนำวัสดุตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ปิดกั้นทางน้ำ ร่องเขาและพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขาเพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและดักตะกอนไว้ และการทำคันดินซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะคือ คันดินกั้นน้ำ (Terracing) เป็ฯการสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียง ในบริเวณที่ราบเชิงเขา เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ และคันดินเบนน้ำ (Diversion) เป็นการขุดดินให้เป็นร่องหรือบางส่วนยกระดับคันดินให้สูงขึ้น เพื่อเชื่อมต่อกับคันดินกั้นน้ำ เมื่อมีฝนตกและปริมาณมาก น้ำจะสามารถไหลกระจายได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ คันดินทั้งสองแบบยังสามารถใช้เป็นถนนสัญจรไปมา และเป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
การฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ดำเนินการใน 5 ลักษณะได้แก่ 1. ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ประโยชน์อย่างที่ 1 คือ การปลูกไม้โตเร็วเพื่อพัฒนาและสร้างหน้าดินขึ้นใหม่ รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ประโยชน์อย่างที่ 2 คือ ปลูกไม้ดั้งเดิมที่มีความแข็งแรงและทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ประโยชน์ที่ 3 คือ ปลูกไม้เศรษฐกิจหรือไม้ผล เพื่อนำไม้มาใช้ในอนาคต ประโยชน์ที่ 4 คือการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่
2.ระบบภูเขาป่า คือการนำพลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปใส่ถังพักน้ำที่ก่อสร้างไว้บนภูเขา ให้น้ำล้นและปล่อย ให้ไหลกระจายไปตามพื้นที่โดยรอบถังพักน้ำ แล้วปลูกต้นไม้ไว้รอบๆพื้นที่ วิธีการนี้ทำให้พันธุ์ไม้มีอัตราการรอดตายค่อนข้างสูง เป็นการปลูกป่าจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง
3. การปลูกป่าโดยไม้ต้องปลูก ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการสร้างระบบภูเขาป่า เนื่องจากพันธุ์ไม้ที่รอดตายและสามารถเจริญเติบโตได้ จะผลิดอกออกผล เมล็ดหรือผลที่แก่จะร่วงหล่น ทำให้เกิดการเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ หรือเมื่อไม่มีการบุกรุกพื้นที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติในระยะเวลาหนึ่ง พืชต่างๆ ก็สามารถแตกหน่อและเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ มีพืชพันธุ์ไม้ขึ้นเต็มร่องเขา เป็นการคืนป่าตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องปลูกสามารถประหยัดงบประมาณได้ด้วย
4.ระบบป่าเปียก เนื่องจากน้ำบางส่วนที่ไหลลงมาจากระบบภูเขาป่า จะไหลมาที่แนวฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายแม้ว (Check dam) ศูนย์ฯจะกระจายน้ำโดยใช้ท่อไม้ไผ่ ท่อสายยาง หรือท่อพีวีซีเจาะรูต่อขยายไปทางด้านข้าง ให้น้ำกระจายออกไป เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่แล้วจึงทำการปลูกป่าเสริม
5.ป่าชายเลน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนของศูนย์ฯ จะไหลเข้าสู่ระบบฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายแม้ว (Check dam) คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ ส่วนที่เหลือจะไหลลงสู่แหล่งน้ำตอนล่างแล้วออกสู่ทะเล บริเวณคลองบางกราใหญ่และบางกราน้อย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าชายเลนและป่าชายหาด ในเขตพื้นที่ค่ายพระรามหก ทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศมากขึ้น
ส่วนในทางการเมือง การปกครองที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ราษฎรในชุมชนมีส่วนร่วม และมีบทบาทหน้าที่ในชุมชนของตนเอง การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการกำหนด ความจำเป็นพื้นฐานของท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของชุมชน
โดยหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ กรมป่าไม้ ได้รวบรวมพระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ในเว็บไซต์ของกรมป่าไม้ เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ http://www.forest.go.th/orip/index.php?option=com_content&view=article&id=557&Itemid=500&lang=th
พ.ศ.2503 ทรงพยายามปกปักรักษายางนา ในฤดูร้อนเกือบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ ต่อมาเสด็จฯโดยรถยนต์ เมื่อเสด็จฯ ผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สองข้างทางมีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่าต้นยางนี้ไว้เป็นสวนสาธารณะด้วยพระราชทรัพย์ แต่ไม่สามารถจัดถวายตามพระราชประสงค์เพราะมีราษฎรเข้ามาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นมาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการจัดหาที่ใหม่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดได้
พ.ศ. 2504 ป่าสาธิตทดลอง เมื่อไม่สามารถดำเนินการปกปักรักษาต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้ จึงทรงทดลองปลูกต้นยางเอง โดยทรงเพาะเมล็ดที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้นยางนาเหล่านั้น ในแปลงทดลองป่าสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต้นยางที่ท่ายางสูญสิ้นแต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้นยังอนุรักษ์ไว้ได้ที่สวนจิตรลดา
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ของนิสิต นักศึกษาแทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ
วันที่ 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า
”....ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย...”
วันที่ 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า
“...ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”
พ.ศ. 2528 ทรงให้ใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออนุรักษ์พืช ในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา และมีพระราชกระแสให้อนุรักษ์ต้นขนุนหลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
ความสำเร็จของการใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณนำไปสู่การขยายพันธุ์ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นพืชเอกลักษณ์ของพระราชวังต่าง ๆ แล้วอนุรักษ์ไว้อีกหลายชนิด ได้แก่ พุดสวน มณฑา ยี่หุบ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง และสมอไทยในพระที่นั่งอัมพรสถานมงคล ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ในสภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต จนทำให้เก็บรักษาเนื้อเยื่อขนุนที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ในไนโตรเจนเหลวมีเนื้อเยื่อขนุนที่รอดชีวิตอยู่ได้ 23 เปอร์เซ็นต์
พ.ศ. 2529 ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย มีพระราชดำริให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่าง ๆ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเตรียมการแก้ปัญหาการขาดแคลนหวายในอนาคต หวายที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นเป้าหมายคือ หวายข้อดำ หวายน้ำผึ้ง หวายตะค้าทอง หวายหอม หวายแดง หวายโป่ง หวายกำพวน หวายงวย และหวายขี้เสี้ยน เมื่อขยายพันธุ์ได้ต้นที่สมบูรณ์ของหวายข้อดำ และหวายตะค้าทองแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการทดลองปลูกต้นหวายเหล่านั้นในป่ายางนาใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา และมีพระราชดำริให้ทดลองปลูกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร อีกด้วย
การดำเนินงานเกี่ยวกับหวายได้มีการขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง กับส่วนราชการจังหวัดตรัง จัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์หวายขึ้นในพื้นที่1,000 ไร่ ที่ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ.2532 และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นสวนหวายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์หวายชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทยแล้ว ยังได้ใช้เป็นสถานศึกษา วิจัย และขยายพันธุ์หวายเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลประโยชน์ถึงประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย
พ.ศ. 2529 ทรงให้สร้างสวนพืชสมุนไพร ในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
ในปี พ.ศ. 2529 นอกจากมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมหวายแล้ว ยังได้ให้จัดทำสวนพืชสมุนไพรขึ้นในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เพื่อรวบรวมพืชสมุนไพรมาปลูกเป็นแปลงสาธิต และรวบรวมข้อมูล สรรพคุณ ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ กับทั้งให้มีการศึกษาขยายพันธุ์สมุนไพร โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเผยแพร่ความรู้ที่ได้สู่ประชาชน
พ.ศ. 2531 ทรงให้พัฒนาพันธุ์ผักโดยการผสมสองชั้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ให้ดำเนินการผสมพันธุ์ผักสองชั้น (double hybridization) พร้อมกันไปทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชของโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา
พ.ศ. 2547 ทรงให้ประเทศที่กำลังพัฒนารู้เท่าและรู้ทันในเรื่องการศึกษาวิจัย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 5 เรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก ความตอนหนึ่งว่า
“....ในปัจจุบัน การศึกษาวิจัยด้านพันธุศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ามาก และมีการนำผลที่ได้ไปปรับใช้ในกิจการด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะปรารภกับทุกท่านว่า ความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้น แม้จะมีประโยชน์มากก็จริง แต่ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องถูกทางโดยไม่พิจารณาให้ดีให้รอบคอบแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายแก่ชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน เหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้เท่าและรู้ทัน จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่าง ๆ มาประชุมปรึกษาหารือกัน รวมทั้งนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก ทำให้หวังได้ว่า การนำความรู้ด้านพันธุศาสตร์ไปปรับใช้ในกิจการด้านต่าง ๆ จะเป็นไปด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ...”
อย่างไรก็ตาม สำหรับในหนังสือพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์รวมทั้งให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้น้อมนำไปเป็นเข็มทิศนำทางให้ประชาชนปฏิบัติตน และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและมั่นคง
ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำหนังสือ 2 เล่มเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ 1 เล่ม และอีก 1 เล่มเป็นหนังสือ "๙๙ พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ได้แบ่งเป็นหมวดต่างๆ อาทิ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน, รักษาวัฒนธรรมประเพณี, หลักเศรษฐกิจพอเพียง, คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ
รวมถึงเชิญพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” มารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย โดยมีการจัดพิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชนเป็นจำนวน 2 แสนเล่มหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต
แต่ปรากฎว่าในหนังสือ "๙๙ พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์" ที่รัฐบาลระบุว่าเปรียบเสมือนเข็มทิศนำพาชีวิตคนไทยให้ดำรงอยู่อย่างปกติสุข ในหนังสือเล่มนี้กลับไม่มีพระบรมราโชวาท ที่เน้นย้ำถึงสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของปวงชนชาวไทย ดังใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
"...การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย..."
ร.ต.ท.นิรัตน์ พุทธาโร ชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นผู้หนึ่งที่น้อมนำพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิต กล่าวว่า ตนเองเพิ่งทราบและไม่เข้าใจ ทั้งคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ น่าเสียดายและเสียโอกาสเป็นอย่างยิ่ง หากผู้รวบรวมจัดพิมพ์พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นหนังสือแจกจ่ายเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้นำไปศึกษาและยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
"แต่กลับไม่มีพระบรมราโชวาทที่สำคัญต่อมนุษยชาติ คนในชาติ และอนาคตของชาติ คือการปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างเสมอมาตลอดจนพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งสำหรับผมคำสอนในเรื่องนี้ถือเป็นหัวใจหลักของคำสอนทั้งหมด เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพวกเราชาวไทย ทั้งในปัจจุบันและต่อลูกหลานที่จะกำเนิดขึ้นมาเป็นพลังของชาติของแผ่นดินในอนาคตด้วย" ร.ต.ท.นิรัตน์ กล่าว
อ่านและดาวน์โหลดหนังสือ "๙๙ พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์" ได้ที่ https://www.m-culture.go.th/th/download/king9/99RoyalTeachings.pdf