ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรชาว อ.สะเดา จ.สงขลา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ตั้งกลุ่มเลี้ยงด้วงในโรงเรือน “กลุ่มด้วงทองสามัคคี” สร้างรายได้เสริมอย่างงาม แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
วันนี้ (24 ต.ค.) ที่บ้านทุ่งหลุมนก หมู่ 11 ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ชาวบ้าน 20 คน ได้รวมตัวกันเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม เช่น สวนยางพารา และสวนผลไม้ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ต้องการของตลาด แถมยังมีราคาดีอีกด้วย
นายมนูญ ศรีชัย อายุ 55 ปี รองประธานกลุ่มฯ เปิดเผยว่า ตนเอง และเพื่อนบ้านเลี้ยงด้วงสาคูมาเป็นเวลากว่า 1 ปี โดยได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเมื่อก่อนเลี้ยงไม่มากนัก เน้นไว้กินในครัวเรือน และขายบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ต่อมา ได้มีโครงการ 9101 เกิดขึ้น ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันกว่า 20 คน ใช้งบประมาณจากโครงการนี้ตั้งเป็นโครงการเลี้ยงด้วงในโรงเรือนชื่อ “กลุ่มด้วงทองสามัคคี” เป็นการต่อยอดจากเดิมที่เลี้ยงจำนวนไม่มาก
สำหรับการเลี้ยงด้วงสาคู กลุ่มของตนใช้อาหารลูกสุกร 200 กรัม ใส่ลงในกะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซม. และใส่ต้นสาคูบดละเอียดประมาณ 2 ใน 3 ของกะละมัง หลังจากนั้นเติมน้ำสะอาด คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันพอหมาดๆ แล้วนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ด้วงสาคูที่เตรียมไว้ใส่ลงไปกะละมังละ 5 คู่ พร้อมกับกล้วยน้ำว้าสุก 1 ผล เพื่อให้เป็นอาหารของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 30-42 วัน ก็สามารถคัดตัวด้วงขายได้ที่ขนาด 180 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 200 บาท
ปัจจุบัน ยังผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ส่วนรายได้เมื่อครบสิ้นปีก็จะนำมาแบ่งให้แก่สมาชิกฯ ซึ่งจะเป็นเงินก้อน และเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวให้อยู่กันอย่างมีความสุข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙