หมายเหตุ “MGR Online ภาคใต้”
ทั้งที่มีภารกิจมากมาย แต่ “รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังตอบตกลงด้วยความยินดีที่จะเขียนคอลัมน์ประจำให้กับ “MGR Online ภาคใต้” มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวตามชื่อคอลัมน์ที่ตั้งขึ้นคือ “ชุมคน-ชุมชน-คนใต้” โดยเบื้องต้นกำหนดจะเขียนให้ทุกเดือนเป็นอย่างน้อย ... โปรดติดตามอ่านกันแบบอย่ากระพริบตา
คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย... รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมภาคใต้ ที่เกิดจากการรวมตัวกันอย่างหลากหลาย ทั้งภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้คนและองค์กรสนับสนุนต่างๆ ในการหลอมรวมขบวนภาคประชาชนภาคใต้ เพื่อ “ออกแบบการขับเคลื่อน” และ “สร้างทิศทางการเคลื่อนไหว” ของ “ขบวนภาคประชาสังคมภาคใต้” ที่มีเอกภาพ อันจะนำไปสู่การร่วมสร้างสรรค์สังคมภาคใต้ให้น่าอยู่ ยั่งยืนและเป็นสุข หรือในคำรวมๆ ที่เรียกขานกันว่า
“ภาคใต้แห่งความสุขที่ยั่งยืน”
*** ผ่านการสร้างพื้นที่กลางหรือพื้นที่เปิด (Common Space/Open Space)
จากการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมของของภาคประชาชนสังคม เพื่อร่วมกัน “สานพลัง” สร้างอำนาจการต่อรอง การยกระดับการเคลื่อนไหวให้หนุนเนื่องสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมถึงการเคลื่อนไหวเฉพาะหน้า เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น ที่มีแนวโน้มถูกบุกยึด แย่งชิงไปจากชุมชนท้องถิ่น เพื่อหล่อเลี้ยงโครงการพัฒนาใหม่ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐและทุน แต่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้ระบบการเมืองแบบ “ปิด” แบบ “ลิดรอน” สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยขนานใหญ่
พื้นที่กลางเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้ชื่อที่ไม่เป็นทางการว่า “สภาประชาชนภาคใต้”
อย่างไรก็ตามอุปสรรค ขวากหนาม และความท้าทายที่สำคัญวันนี้คือ การเชื่อมร้อย เชิญชวน ขยายภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกันอย่างมีอิสระ และร่วมกันขบคิดให้ “ตกผลึก” ขณะสถานการณ์ทางสังคมการเมือง และการดำเนินนโยบายทางการที่กางขึง ตรึง ขณะที่ฐานทรัพยากรก็ถูกจ้อง “เขมือบ” ทุกทิศทาง
*** สงบ เงียบ(งัน) จากการตอก ขึงตรึง ด้วยอำนาจและวัฒนธรรม
สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน แม้ในภาพรวมจะเงียบสงบ แต่เป็นความความเงียบที่เกิดจากการขึง ตรึง ด้วยอำนาจทางการเมือง และการทำให้หวาดกลัว มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มงวด การกวดขันที่เข้มข้น ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย และความมั่นคง ผ่านการนำมาตรการและเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้ในการควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพ
โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนหรือผู้คนที่เห็นต่าง ลุกขึ้นมาส่งเสียง แสดงความคิดเห็น หรือต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ถูกควบคุมและจัดการด้วยอำนาจพิเศษต่างๆ ที่ไร้การตรวจสอบ ควบคุม
ทำให้สังคมไทยเดินไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “สังคมแห่งความหวาดกลัว” มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล ได้พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง กระบวนการยุติธรรม ระบบตุลาการ ที่เป็นเสาหลักค้ำจุนความยุติธรรม และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ไม่อาจทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา เป็นที่พึงให้สังคมได้
ความสงบและเงียบจากการกด ตอก ตรึง ทำให้สยบ ยอมจำนนแบบราบคาบ และเงียบงันด้วยอำนาจพิเศษ ในวันนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสร้าง “วาทกรรมใหม่” อันเลื่อนลอย ให้สังคมเคลิ้มคล้อย หาใช่การจัดสรรดุลยภาพเชิงอำนาจ หรือการจัดสรรปันส่วนใหม่ที่ลงตัวแต่อย่างใด
สังคม “ไทย” จึงยังไม่แม้แต่จะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “การเปลี่ยนผ่าน” แต่อย่างใด!!!!!!
การสร้างวาทกรรมใหม่ให้สังคมเคลิ้มคล้อยมีให้เห็นอย่างดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การสร้าง “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้รูปแบบการขับเคลื่อนที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” หรือ “Thailand 4.0” ด้วยศิลปะการการสื่อสารทางการเมืองขั้นสูง และการประดิดประดอยที่กลมกล่อม ไม่ว่าจะเป็น “การคืนความสุข” “การเสียสละ” “รัฐธรรมนูญปราบโกง” “การกวาดล้างคอรัปชั่น” “คนดี” “การสร้างความสามัคคีปรองดอง” “ยุทธศาสตร์ชาติ” และ “อนาคตประเทศไทย” เป็นต้น
และทำให้คำวาทกรรมเหล่านี้ดำรงอยู่ ตกผลึกแน่นอยู่ในโครงสร้างความรู้สึกของสังคม โดยกลไกรัฐเชิงสถาบัน กลไกอำนาจ การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองหลายรูปแบบและวิธีการยิบย่อย เช่น บทเพลง บทกวี ภาพยนตร์บันเทิง วาไรตี้
การปฏิบัติการทางการเมืองแบบลูกผสม (Hybrid) ทั้งไม้แข็งในเชิงอำนาจ และไม้อ่อนในเชิงวัฒนธรรม หาได้เป็นพียงปรากฏการณ์แบบผิวเผินเท่านั้น ด้านหนึ่งคือการกลับมาทวงคืนพื้นที่ของชนชั้นนำในระบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ ทหาร และทุนอุปถัมภ์ ที่สูญเสียพื้นที่อำนาจในโครงสร้างทางสังคมไปอย่างหนักในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
ที่พยายามรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แบบเดิมจากการค้ำยัน สถาปนาโครงสร้างอำนาจไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ และการอุปถัมภ์ไว้ต่อไป ด้านหนึ่งคือการรุกในทางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “การสร้างระบอบ(ใหม่)ของชนชั้นนำ” ที่จะรักษาความชอบธรรมทางการเมือง การดำรงอยู่ การกำกับและควบคุมสังคมการเมือง วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ระบอบ (Regime) ที่โดยทั่วไปหมายถึงมรรควิธี (Method of Government) หรือหลักการปกครองที่กำหนดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขและความหมายว่า “ใคร? เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” โดยที่ระบอบใหม่ที่ว่านี้จะมีกองทัพและระบบราชการเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้าง สถาปนาและทำให้เกิดการยอมรับ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญในการรื้อ ทวง ยึด พื้นที่คืนกลับสู่ชนชั้นนำและการสร้างระบอบ
ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในหลักการประชาธิปไตย ความเป็นนิติธรรม และนิติรัฐ กลับถูกลดทอนให้เหลือเพียงกฎหมายที่มุ่งขจัดคู่ขัดแย้ง ขาดความเข้าใจในเจตจำนงประชาชน ด้วยเปิดช่องให้อำนาจรัฐราชการเข้ามามีบทบาทในระบบรัฐสภา การทำลาย ลิดรอนระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันหลัก
ไม่ว่าจะเป็นการเปิด/ปูทางสำหรับนายกคนนอก ที่มาของวุฒิสภาที่ให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวาง การทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจควบคุม/กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการวางมาตรฐานทางจริยธรรมที่คลุมเครือ ขาดการยึดโยงกับสังคมและประชาชน การกำหนดให้สิทธิเป็นหน้าที่โดยรัฐทำให้เกิดการสถาปนาอำนาจนำเหนือประชาชน ที่ เป็นต้น
รวมไปถึงการสร้าง “ยุทธศาสตร์ใหม่” ของระบอบที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบเข้ากับแผนพัฒนาที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยแลนด์ 4.0 ประชารัฐ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “รัฐซ้อนรัฐ” อันหมายถึงกลไกอำนาจรัฐ ระบบราชการ กองทัพจะมีบทบาทชี้นำ กำกับ และควบคุมอย่างชอบธรรมจากการมีรัฐธรรมนูญ กฎหมายรองรับควบคู่ไป
นอกจากนี้ยังได้พยายามรื้อฟื้นเครือข่ายดั้งเดิมที่เสื่อมทรุดหมดสภาพไป ให้กลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อน ปฏิบัติการสร้างระบอบ หรือความพยายามลดแรงเสียดทาน และดึงมวลชนพื้นฐานด้วยกระบวนการประชารัฐ โดยใช้เครือข่ายดั้งเดิมดังกล่าว เช่น การจัดทำโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐแก่หมู่บ้าน โดยใช้กลไกท้องที่และคณะกรรมการหมู่บ้าน โครงการลงทะเบียนคนจนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ดำเนินการกลไกของระบบราชการ และการทำให้ “คนจน” เป็นมาตรฐานเดียวทั้งหมด ทั้งที่ระบบการจัดสวัสดิการของชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ได้วิวัฒนาการไกลกว่าการสังคมสงเคราะห์แบบฉาบฉวย
นอกจากนี้ยังมีความพยายามสลาย กด ลดทอน “เครือข่ายใหม่” ที่เกิดและมีบทบาทมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ให้สูญเสียสถานะ บทบาท ตำแหน่งแห่งที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นการแช่แข็งการเมืองท้องถิ่น (หรือแม้แต่ระดับที่สูงขึ้นไป) ด้วยการ “คิดแทน ทำแทน” และ “อคติอันเก่าก่อน” โดยใช้มาตรา 44 ชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่น การยุบ/ควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “เซ็ตซีโร่” ทั้งคณะกรรมกรรมการเลือดตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การย้ายผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การปลดบอร์ด สสส. ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นการสลายเครือข่ายใหม่ทั้งสิ้น
*** ทางที่สามขบวนการประชาสังคมภาคใต้
ระบอบใหม่จะกัดกร่อน บ่อนเซาะประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไปพร้อมๆ กับการทำลาย “รอยทางประชาธิปไตย” ที่ภาคประชาชน ประชาสังคมได้สร้าง ได้ถากถางมาอย่างยากลำบากและอดทน โดยเฉพาะการเชื่อมขยายเป็น“ขบวนการและการเกาะเกี่ยวด้วยเครือข่ายใหม่ๆ” ในหลายระดับ กระทั่งสามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง การปรับดุลอำนาจใหม่ที่เท่ากัน ต่อรองกันได้ และมีส่วนสำคัญทำให้โครงสร้างอันไม่เท่าเทียม การอุปถัมภ์คลายตัว หรือเปลี่ยนรูปไปอย่างมีนัยยะสำคัญ
และจะยิ่งถูกทำให้หมดความหมาย ผลักไสไล่ส่งให้เป็นเพียงความเป็นเหลือง-แดงแบบผิวเผิน ให้ไร้ความชอบธรรมไป เพราะถูกมองเป็น “ก้างขวางคอ” สำคัญของการรื้อ สร้างระบอบใหม่ที่ว่ามา รวมไปถึงอุปสรรคสำคัญต่อเครือข่ายอำนาจเก่าในระบบราชการ กองทัพ และทุนที่เติบโตมาจากการผูกขาด การอุปถัมภ์ และการนำฐานทรัพยากรฐานสร้างกำไรส่วนเกินที่กำลังดาหน้าเข้ามาในทุกทิศทาง ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนา “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” “ไทยแลนด์ 4.0” และอื่นๆ
ที่ถึงที่สุดแล้วยังคงให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกและอุตสาหกรรมข้ามชาติ โดยละเลย/ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด
ดังสะท้อนจากการริเริมโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายประชารัฐ
กล่าวให้แคบลงไปในพื้นที่ภาคใต้ก็คือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ที่ยังอยู่วังวนพัฒนากระแสหลัก มุ่งกอบโกย แย่งชิงทรัพยากรในชุมชน/ท้องถิ่น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ภาคใต้อย่างถอนรากถอนโคน และเกิดผลกระทบลูกโซ่ที่ซับซ้อนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และวิถีชุมชน
การลุกขึ้นมาสร้างทางใหม่ที่เรียกว่า “ทางที่สาม” (ไม่ใช่เหลือง-แดงแบบที่เป็นอยู่) ที่มีฐานคติสำคัญอยู่ที่การสร้างความยั่งยืน ความมั่นคงมนุษย์ ชุมชน ท้องถิ่น ความยั่งยืนของระบบนิเวศ การปกป้องฐานทรัพยากร และการสร้างประชาธิปไตยจากข้างล่าง (Democracy from Below) จึงคือ “ความเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตาม แม้ขบวนการประชาสังคม/ภาคประชาชนในภาคใต้จะสร้างคุณูปการไว้หลายประการ แต่ในอีกด้านยังพบว่า การปฏิบัติการเคลื่อนไหวในภาพรวม ยังไม่เห็นความเป็น “ขบวนการที่สะท้อนตัวตน อัตลักษณ์” ที่ชัดเจนมากนัก
เวทีและสนามการเคลื่อนไหวปฏิบัติการจึงปรากฏ “นักเคลื่อนไหว” มากกว่าขบวนการคนทุกข์ที่มีน้ำเสียง ชุมชน ปัญญาชนชาวบ้านในประเด็นปัญหาของตน หรือสาธารณะอื่นๆ และการเคลื่อนไหวปฏิบัติการแม้เข้มมีคุณภาพขึ้นในรายกรณี พื้นที่ ประเด็น แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงประเด็นปัญหา/พื้นที่ในภาพรวม และพ่วงสู่กติกาที่ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ประชาธิปไตย พลเมือง ความไม่เป็นธรรมได้
ความท้าทายและข้อเสนอในวันนี้จึงอยู่ที่การผนึก “สานพลัง” ภาคีความร่วมมือ เพื่อการเรียนรู้ เปล่งเสียงแสดง ยืนยันไม่ยอมจำนนกับระบอบใหม่ การแสดงพลังปกป้องฐานฐานทรัพยากรที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญ ปฏิบัติการเคลื่อนยกระดับประเด็นงาน สถานการณ์เชิงพื้นที่ให้เห็น “ภาพรวม”
ก่อนยกระดับเชิงคุณภาพ เพื่อต่อรองกับระบอบใหม่ หรือผลักดันกติกา ลู่ทางใหม่ๆ ที่ใหญ่กว่า เช่น ธรรมนูญชุมชน วิสัยทัศน์จังหวัด(จัดการตนเอง) ผ่านการสร้างพื้นที่กลางที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น ผ่อนคลายและเป็นกันเอง เพื่อรวมคน ประเด็น ปัญหา พื้นที่ของทุกภาคี แล้วเชื่อมรวมประเด็น ปัญหา สถานการณ์ พื้นที่ เพื่อให้เห็นภาพรวม
และช่วยกันยกระดับเชิงคุณภาพ 3 ระดับคือ พื้นที่/เฉพาะจุด/เฉพาะเรื่อง ประเด็นเครือข่ายย่อย ประเด็น/ข้อเสนอร่วมของทั้งหมด และการปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ต่อเนื่อง เข้มข้น และสร้างการสื่อสารในทุกช่องทางที่เป็นไปได้
ความหวังการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพและสันติวันนี้อยู่ที่ “ขบวนการประชาสังคม” ที่ต้องลุกเริ่มก่อการเท่านั้น