คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
แม้ว่าประชาชนในยุคการมีส่วนร่วมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐ เป็นต้นมา จะรู้เท่าทันนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง มากขึ้นกว่าพลเมืองในสมัยก่อนที่ยังเป็นราษฎร
แต่ยังมีมุมมืดอีกบางด้านที่ประชาชนจับไม่ได้ ไล่ไม่ทันนักการเมืองยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน
จึงขอนำเสนอตามที่ได้พบเห็นและรับรู้มา ดังนี้ (พอสังเขป)
๑. การเปิดเวทีและปิดเวทีปราศรัยหาเสียงทางการเมือง
นักการเมืองภาคใต้ได้ชื่อว่า นิยมหาเสียงโดยการจัดเวทีปราศรัย และคนใต้นิยมไปฟังนักการเมืองปราศรัยหาเสียง และพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงในการปราศรัยก็คือ พรรคที่มีสโลแกนว่า “คนของเรา พรรคของเรา” หรือ “เลือกคนที่เรารัก เลือกพรรคที่เราชอบ” หรือ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” นั่นแหละ
เพราะมีนักพูดฝีปากเอก สามารถทำสำหนวนได้ถูกอกถูกใจชาวบ้าน เหมือนได้ดูหนังตะลุงที่ครบเครื่อง คือ เสียงดี กลอนดี ตลกดี ลีลาดี และมีครบทั้งเจ้าเมือง ยอดทอง ฤษี เทวดา ยักษ์ พระเอก นางเอก ไม่เหมือนพรรคการเมืองบางพรรคก็มีแต่เจ้าเมือง ยักษ์ พระเอก นางเอก ไม่มีรูปกากหรือรูปตลก
“แม่ไม้การเมือง” เรื่อง “การเปิดปราศรัยเวทีแรก” นักการเมืองที่ฉลาดจะเลือกเปิดเวทีปราศรัยเวทีแรกในพื้นที่ที่มีฐานคะแนนหนาแน่น เพื่อสร้างกระแสว่าได้รับความนิยมจากประชาชนในเขตเลือกตั้ง จึงพยายามใช้สรรพกำลังที่มีระดมคนมาร่วมเวทีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ต้องใช้ “วิชามาร” ก็เอา และก็ได้ผล
ส่วน “เวทีสุดท้าย” หรือ “เวทีปิดการปราศรัย” นักการเมืองที่ช่ำชองจะเลือกปิดเวทีในพื้นที่ที่รู้ว่า เป็นจุดอ่อนของตน หรือจุดแข็งของคู่ต่อสู้คนสำคัญ โดยเป้าหมายเพื่อ “ถล่มคู่ต่อสู้” ให้ขาดความชอบธรรม และแก้ข้อกล่าวหาหรือจุดอ่อนของตนโดยไม่เปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้ได้แก้ตัว
จึงระดมสรรพกำลังเท่าที่มีมาเกณฑ์คนมาให้มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้การ “จ้างเหมารถสองแถว” จากในหมู่บ้านทุกคันให้รับคนมารวมกันที่เวทีระดับอำเภอ
๒. การทำลายคู่แข่ง
ด้วยวิธีสเปรย์เบอร์คู่แข่งที่คิดว่าสูสี หรือเหนือกว่าตนตามฝาผนังบ้าน กำแพง รั้วบ้าน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสาธารณสมบัติในคืนสุดท้ายของการหาเสียง ก่อนจะลงคะแนนเสียในเช้าของวันถัดมา
เพื่อให้ผู้ไปใช้สิทธิ์เห็นว่า เป็นการกระทำของคู่แข่งที่สร้างความเสียหายให้กับเอกชนและสาธารณชน และคู่แข่งไม่มีโอกาสแก้ตัว และไม่มีใครคิดว่าเป็นการกระทำของคู่แข่งอีกฝ่ายของหมายเลขที่สเปรย์นี้
๓. การฉีกโปสเตอร์หาเสียงของตัวเอง
ในคืนสุดท้ายในพื้นที่ที่รู้ว่าสู้คู่ต่อสู้ไม่ได้ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เห็นว่า พรรคที่ถูกฉีกโปสเตอร์ถูกกลั่นแกล้งจากคู่ต่อสู้ และพรรคคู่แข่งไม่มีโอกาสแก้ตัว รวมทั้งชาวบ้านก็ไม่คิดว่าพรรคการเมืองนั้นฉีกโปสเตอร์ของตัวเอง ไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่เหนือกว่า
๔. การใส่ร้ายป้ายสีในงานศพในเขตเลือกตั้ง
ทำทีเป็นถามเจ้าภาพถึงคู่แข่งทางการเมืองว่า มาร่วมงานเคารพศพแล้วยัง พร้อมทั้งโกหกเจ้าภาพว่า คู่ต่อสู้รู้แล้วว่ามีงานศพ สุดท้ายคู่แข่งไม่ได้มา เพราะยังไม่ทราบว่ามีงานศพ ทำให้เจ้าภาพเสียความรู้สึกกับนักการเมืองคนที่ไม่มางานศพ
๕. จ้างคนปล่อยข่าวที่เป็นมงคลกับฝ่ายตน และข่าวที่ไม่เป็นมงคลกับอีกฝ่าย
ตามร้านน้ำชาในเขตเลือกตั้ง เช่น เคยปล่อยข่าวว่า “จ่านันต์” ส.ส.หลายสมัยของหาดใหญ่ สังกัดพรรคกิจสังคม จะไม่ลงสมัครในสมัยนั้น เพราะพอแล้ว แต่พอจ่านันต์ยังลงสมัคร เพราะไม่ได้พูดตามที่มีการปล่อยข่าว ก็ถูกด่า หาว่าไม่รักษาคำพูด เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมี “วิชามาร” อื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่ทำให้ฝ่ายตนเองศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อีกฝ่ายเป็นคนอื่นหรือฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวตลก มีโอกาสจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องๆ ไปครับ.