นราธิวาส - จังหวัดนราธิวาส แถลงข่าวผลสำเร็จโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เน้นย้ำมีการตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่บริเวณอาคารอเนกประสงค์ สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ร่วมในงานแถลงข่าว
นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายในการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืน จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นในปี 2558 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรในชุมชน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการทำงานหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยมี ศพก. 882 ศูนย์ และ ศพก. เครือข่าย 8,219 ศูนย์ รวม 9,101 ศูนย์ ส่วนจังหวัดนราธิวาส มี ศพก. 13 ศูนย์ และเครือข่าย 144 ศูนย์ รวมทั้งสิ้น 157 ศูนย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 อนุมัติหลักการ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ 9,101 ชุมชน ซึ่งจังหวัดนราธิวาสดำเนินการในพื้นที่ 96 ชุมชน โดยให้แต่ละชุมชนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชน จัดเวทีประชาคมเพื่อวิเคราะห์พื้นที่และความต้องการ จัดทำเป็นโครงการฯ ซึ่งแต่ละชุมชนเสนอของงบประมาณได้ไม่เกิน 2,500,000 บาท เสนอต่อคณะกรรมการระดับอำเภอพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ แล้วจัดส่งให้จังหวัดเพื่อรวบรวมเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการฯ
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินการในพื้นที่ 13 อำเภอ 96 ชุมชน 213 โครงการ งบประมาณ 239,976,200 บาท ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช จำนวน 43 โครงการ ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 48 โครงการ ด้านฟาร์มชุมชน จำนวน 5 โครงการ ด้านการผลิตอาหารและการแปรรูปฯ จำนวน 5 โครงการ ด้านปศุสัตว์ จำนวน 63 โครงการ ด้านการประมง จำนวน 47 โครงการ และด้านการปรับปรุงบำรุงดิน จำนวน 2 โครงการ
การดำเนินงานโครงการฯ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรโดยมีการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพผลผลิตเห็นได้อย่างชัดเจน และมีโครงการเด่น หลายโครงการ เช่น ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชผักเพื่อบริโภค โครงการขยายพันธุ์พืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ด้านประมง ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลากะพง เป็นต้น
นางรัตนา ถิระโชติ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวเสริมว่า จากผลการดำเนินงานโครงการฯ ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของผลงานใน “งานวันลองกอง” ในงานของดีเมืองนรา ประจำปี 2560 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรผลงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา อ.เมืองนราธิวาส
โครงการด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช ได้รับคัดเลือกให้เป็นกิจกรรมเด่น นำเสนอผลงานระดับประเทศ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี จอมเทียน จ. ชลบุรี ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชผักเพื่อบริโภค เนื่องจากโครงการนี้นอกจากจะเป็นการผลิตผักเพื่อบริโภคแล้ว ยังเป็นการลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกผู้ร่วมโครงการ และยังสามารถเป็นแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษของอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นการเชื่อมโยงกับตลาดสินค้าชายแดน ตอบรับเมืองเศรษฐกิจตามนโยบาย “โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ผลงานผ่านทางสื่อต่างๆ ได้แก่ ทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ และผ่านทางช่องทางหอกระจายข่าว เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ได้อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม ในด้านความโปร่งใสของโครงการนั้น การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้มีการดำเนินการในลักษณะรูปแบบคณะกรรมการตั้งแต่ระดับกลุ่มกิจกรรม ระดับชุมชน ระดับอำเภอ และระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะการมีส่วนร่วม และเกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ได้มีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้มีการติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และมีองค์กรอื่นๆ เช่น ปปท. สตง. ทหาร ได้ติดตาม และตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อได้เกิดความเป็นธรรม และโปร่งใสในการดำเนินงานโครงการ และให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป