xs
xsm
sm
md
lg

“ปลาหมอเอเลียนสปีชีส์” โผล่ชายหาดชุมพร หวั่นทำสัตว์ชายฝั่งสูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - แย่แน่! นักศึกษาคณะประมงแม่โจ้ พบ “ปลาหมอเอเลียนสปีชีส์” แพร่ระบาดชายฝั่งทะเลชุมพร หวั่นทำสัตว์น้ำชายฝั่งสูญพันธุ์ พบเป็นสัตว์ที่สามารถแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว

เมื่อเวลา 13.30 .วันนี้ (9 ต.ค.) นายศุภณัฐ พรหมมาลี อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะประมง ปี 2 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชายทะเลหาดละแม หมู่ที่ 5 ตำบลละแม อ.ละแม จ.ชุมพร พร้อมเปิดเผยว่า ตนได้จับปลาหมอคางดำ หรือ “ปลาเอเลียนสปีชีส์” ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่บริเวณชายหาดดังกล่าว

โดยปลาหมอดังกล่าวเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อสัตว์น้ำในเมืองไทยมาก หลังจากนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่า ปลาหมอคางดำ หรือปลาเอเลียนสปีชีส์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า SarotherodonmelanotheronRuppell ซึ่งเป็นปลาในแถบทวีปแอฟริกา เป็นสัตว์นักล่าที่มีอันตรายต่อสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างมาก ถึงขนาดทำให้สูญพันธุ์ได้ จากการตรวจสอบตลอดแนวชายฝั่งร่วม 2 กิโลเมตร พบว่า มีปลาหมอคางดำอยู่จำนวนมาก

นายศุภณัฐ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นนักศึกษาคณะประมงที่มีความรู้ทางด้านปลาชนิดนี้ และติดตามการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้มาอย่างต่อเนื่อง หากมีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวจำนวนมากเช่นนี้จะเป็นอันตรายใหญ่หลวงสำหรับอาชีพประมงชายฝั่งในพื้นที่ จ.ชุมพร ซึ่งก่อนหน้านี้ พบว่ามีการระบาดของปลาหมอคางดำอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม สร้างความเสียหายอย่างหนักให้ชาวประมงชายฝั่ง จนทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปข่าวดังกล่าวก็เงียบหายไป ตนก็ไม่คิดว่าจะมาพบปลาหมอคางดำแพร่ขยายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ อ.ละแม จ.ชุมพร สำหรับปลาหมอคางดำ จะแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก แม่ปลา 1 ตัว อายุ 2 เดือน ให้ลูกได้ 100-1,000 ตัว ในระยะเวลา 4 เดือน จะแพร่พันธุ์ได้ นับแสนตัว เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นปู ปลา กุ้ง หอย จะถูกปลาชนิดนี้ล่ากินอย่างรวดเร็วจนอาจจะสูญหายไปจากชายฝั่งทะเลชุมพร ซึ่งปลาชนิดนี้เคยหลุดรอดเข้าไปในอยู่บ่อกุ้งของเกษตรกรที่ปล่อยลูกกุ้ง 5 หมื่นตัว พบว่า เพียง 2 เดือนเท่านั้น ในบ่อไม่เหลือกุ้งเลยแม้แต่ตัวเดียว แต่กลับมีอยู่เฉพาะปลาหมอคางดำเท่านั้น

นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า ปลาหมอคางดำที่ผ่านมามีการนำเข้ามาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหารเพื่อหวังพัฒนาให้เป็นแหล่งอาหารของคนไทย แต่ปรากฏว่า เนื้อปลาหมอคางดำมีเนื้อแข็งหยาบ มีเนื้อน้อยกว่าก้าง ต่อมา มีการทำลายทิ้ง คาดว่าคงมีหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ส่งผลต่อระบบนิเวศ ซึ่งตนจะรีบแจ้งเรื่องนี้ต่ออาจารย์คณะประมง มหาวิทยาแม่โจ้ เพื่อหาทางยุดยั้งการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ต่อไป แต่ตอนนี้ได้แต่นำเรื่องไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนให้ชาวประมงได้รับทราบเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น