xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือเท็จไฟฟ้าใต้จะดับ? (เขียนด้วยภาษาชาวบ้าน) / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย..ประสาท มีแต้ม
-----------------------------------------------------------------------------

ผมได้รับเชิญให้ร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาเรื่อง “จริงหรือเท็จ ไฟฟ้าใต้จะดับ?” จัดโดยสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และองค์กรร่วมจัด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 ประกอบกับผมได้สัญญากับตัวเองว่าจะพยายามไม่เว้นการเขียนบทความในคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” หากไม่จำเป็นจริงๆ ซึ่งผมก็ทำได้มาหลายปีติดต่อกันแล้ว แต่คราวนี้ด้วยเวลาที่จำกัด ผมจึงนำเรื่องที่ได้เตรียมสำหรับการเสวนามาเล่าในบทความนี้ด้วย

เรื่องแรก ผมตีโจทย์ว่า ผู้จัดการเสวนาคงอยากให้พูดเรื่องอนาคตว่าไฟฟ้าในภาคใต้จะมีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะทำให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงหรือ “ไม่ติดๆ ดับๆ” ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยให้สัมภาษณ์ รวมทั้งท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วย

เรื่องนี้ผมได้ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “อาจจะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จากภัยธรรมชาติรวมทั้งความผิดพลาดในนโยบายและการบริหาร เอาอย่างนี้ เมื่อ 21 พฤษภาคม 56 ที่ไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัด ดับอยู่นานหลายชั่วโมง สังคมไทยเข้าใจความจริงแล้วหรือยัง ว่าไฟฟ้าดับเพราะสาเหตุใด?”

พร้อมกันนี้ผมได้นำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาเตือนความจำดังในแผ่นภาพครับ
 

 
ในเนื้อข่าวสรุปได้ว่า รัฐมนตรีพลังงานได้ออกมาขอโทษชาวภาคใต้ ระบุ “ฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง” วงจรที่สอง ในขณะเจ้าหน้าที่กำลังซ่อมอีกวงจรหนึ่ง (ซึ่งทั้งหมดมี 2 วงจรที่เชื่อมระหว่างโรงไฟฟ้าภาคกลางกับโรงไฟฟ้าในภาคใต้)

เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน เพราะทุกภาคของประเทศต่างก็มีโรงไฟฟ้าของตนเองและมีสายส่งแรงสูงเชื่อมถึงกันหมด เมื่อเกิดอุบัติเหตุ (รวมด้วยการซ่อมบำรุง) ทำให้ระบบสายส่งล่ม ทำให้โรงไฟฟ้าที่กำลังเดินเครื่องอยู่ไม่สามารถรองรับความต้องการไฟฟ้าได้ทันท่วงที

ผมจะยังไม่ขอตอบในตอนนี้ว่า กำลังการผลิตในภาคใต้มีจำนวนพอหรือไม่พอกับการทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง ไม่ดับๆ ติดๆ (แต่ทางรัฐบาลอ้างว่าไม่พอ) แต่ผมขอให้มาดูในภาพรวมของประเทศกันก่อน โดยใช้ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้วจากนั้นผมจะอธิบายเป็นภาษาชาวบ้านให้ทุกท่านเข้าใจ

จากรายงานประจำปี 2545 ของ กฟผ. ในตอนนั้นเรามีกำลังการผลิตทั้งที่เป็นของ กฟผ.และของบริษัทเอกชนรวมกันเท่ากับ 23,754.8 เมกะวัตต์ ในขณะที่เราผลิตไฟฟ้าได้รวม 108,389 ล้านหน่วย

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราสามารถคำนวณได้ว่า โดยเฉลี่ยเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าได้ทำงานวันละ 18 ชั่วโมง (ขอปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มเพื่อความเข้าใจง่าย)

แต่ในปี 2559 กำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบรวม 41,556.25 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 188,999.64 ล้านหน่วย เราสามารถคำนวณได้ว่า โดยเฉลี่ยเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าได้ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง

คำถามก็คือ ทำไมโรงไฟฟ้าจึงทำงานลดลงจาก 18 ชั่วโมงในปี 2545 ลงมาเหลือ 12 ชั่วโมงในปี 2559 เรื่องนี้ไม่สามารถตอบเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเรามีโรงไฟฟ้ามากเกินไปเท่านั้นเอง

การมีโรงไฟฟ้าไว้มากเกินไป ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ตารางข้างล่างนี้คือ “ค่าความพร้อมจ่าย” (ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่) ที่ทาง กฟผ.ต้องจ่ายให้กับบริษัทเอกชนในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งในปี 2559 เท่ากับประมาณ 89,722 ล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ซึ่งเรามีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 681 เมกะวัตต์ ถึงกว่า 16,046 ล้านบาท
 

 
สมมติว่า (สมมตินะครับสมมติ) โรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอจริง แล้วทำไมไม่เอาส่วนที่เหลือลงมาให้ภาคใต้ เราเป็นประเทศเดียวกันไม่ใช่หรือ

คราวนี้มาพิจารณาการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ เนื่องจากทาง กฟผ.ไม่ได้เผยแพร่ปริมาณการผลิต รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ที่เป็นปัจจุบัน หรือกล่าวได้ว่าไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของตนเอง อย่างไรก็ตาม ผมได้พบข้อมูลของบริษัทเอ็กโก จำกัด (มหาชน) ในปี 2552

ผมจึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในปี 2552 ซึ่งในวันนั้น โรงไฟฟ้าจะนะ 1 เพิ่งมีอายุประมาณ 1 ปี เป็นโรงไฟฟ้าใหม่เอี่ยม ใหม่กว่าโรงไฟฟ้าขนอมเสียอีก จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้คำนวณได้ ดังในตารางครับ
 

 
จากตารางดังกล่าว พบสิ่งที่น่าแปลกใจและน่าตกใจที่สำคัญคือ

(1)ทำไมโรงไฟฟ้าขนอมซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าของเอกชน (กฟผ.มีหุ้นเพียง 25%) จึงได้สิทธิ์ในการผลิตวันละ 19 ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะนะ 1 (เป็นของรัฐหรือของ กฟผ. 100% สร้างเสร็จปี 2551) จึงได้ผลิตเพียง 16 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าทั้งสองใช้เชื้อเพลิงชนิดเดียวกันและอยู่ในภาคเดียวกัน ผลต่าง 3 ชั่วโมงต่อวัน ต่อ 1 กิโลวัตต์ ถ้าเป็นเวลา 1 ปี ขนาด 7-8 แสนกิโลวัตต์ คิดเป็นเงินก้อนโตนะครับ

(2)สายส่งแรงสูงจากภาคกลาง-ภาคใต้ (เทียบเท่าโรงไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์) แต่คิดเทียบเป็นชั่วโมงทำงานได้เฉลี่ยเพียงวันละ 9 ชั่วโมงเท่านั้น จริงอยู่ครับว่าระบบสายส่งนี้มีความสำคัญมาก แม้เทียบเป็นชั่วโมงทำงานเพียง 1 ชั่วโมงก็มีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่ง เพราะป้องกันไม่ให้ระบบในภาคใต้ล่ม แต่ประเด็นของผมก็คือ หากในอนาคตเรามีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้น (ในขณะที่ไฟฟ้าทั้งประเทศก็เหลืออื้อ) เราก็ควรเพิ่มชั่วโมงทำงานให้กับสายส่งที่เราได้ลงทุนไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท ถ้าเรายกระดับเป็น 18 ชั่วโมง (แทนที่จะเป็น 9 ชั่วโมง) เราก็จะได้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 3-4 พันล้านหน่วย (ในขณะที่จังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือสงขลาในปี 57 ประมาณ 3,400 ล้านหน่วย)

(3)โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ธานีทำงานเพียงวันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

(4)โรงไฟฟ้ากระบี่ทำงานเพียงวันละ 1 ชั่วโมง จริงอยู่ในปัจจุบันโรงไฟฟ้านี้ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นใช้น้ำมันเตา (และน้ำมันปาล์ม) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่เมื่อคิดรวมทั้งระบบก็เพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียวเท่านั้น

คนไทยเรามักจะถูกขู่อยู่เสมอว่า หากใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นซึ่งเป็นความจริงเมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผมขอให้ข้อมูลอีก 3 ชิ้นครับ

ชิ้นแรกในการประมูลที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นปลายเดือนกันยายนนี้ ผู้ชนะการประมูลขนาด 300 เมกะวัตต์ด้วยราคาค่าไฟฟ้าเพียง 60 สตางค์ต่อหน่วย (1.59 เซนต์)
 

 
ชิ้นที่สอง การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ในอินเดียซึ่งแดดดีมาก ต้นทุนโดยเฉลี่ยต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วถึง 18% (ค้นได้จากวิกิพีเดีย ด้วยข้อความ Solar power in India)

ชิ้นที่สาม การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มักจะถูกแย้งว่าในเวลากลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ แต่จากการบรรยายของอาจารย์ Tony Seba จากมหาวิทยาลัย Stanford (ผู้เขียนหนังสือ Clean Disruption of Energy and Transportation ที่โด่งดังระดับโลก และเคยได้รับเชิญให้มาบรรยายในประเทศไทยด้วย) ท่านเล่าว่าบริษัท Tucson Power Energy ได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา ด้วยราคาค่าไฟฟ้าเพียง 4.5 เซนต์ หรือประมาณ 1.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งสามารถขายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้แบตเตอรี่ จะเริ่มขายในปี 2019 สัญญานาน 20 ปี
 

 
บางคนก็เป็นห่วงเรื่องผลกระทบจากการใช้แบตเตอรี่กันเยอะๆ (แต่ไม่กลัวเรื่องภัยของโลกร้อนและมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ก็ขอเรียนว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ได้รับการพัฒนาไปเร็วมาก ราคาถูกลง อายุการใช้งานนานขึ้น ขณะนี้กลุ่มบริษัทรถยนต์กำลังทุ่มวิจัยเรื่องนี้และก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้ของเหลวที่มีปัญหาการรั่วซึม แต่เป็นของแข็งเป็นระบบใหม่ครับ

ในเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ผมได้ข้อมูลของ กฟผ.ชิ้นหนึ่ง ผมวิเคราะห์พบว่าแม้ในช่วงที่แหล่งผลิตก๊าซเจดีเอหยุดซ่อม (ซึ่งทำให้โรงไฟฟ้าจะนะผลิตไม่ได้-ดูตารางประกอบ)
 

 
ผมคำนวณได้ว่าสำรองไฟฟ้าในภาคใต้จะเหลือ 20% (ทั้งๆ ที่ปิดโรงไฟฟ้าจะนะ 766 เมกะวัตต์) แต่ถ้านำโรงไฟฟ้าชีวมวลและไบโอก๊าซอีก 176 เมกะวัตต์ สำรองจะเพิ่มเป็น 28% (ยังไม่รวมโซลาร์เซลล์ 32 เมกะวัตต์และกังหันลม 126 เมกะวัตต์ที่นครศรีธรรมราชที่ขายไฟฟ้าได้วันละ 13-18 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ 15%

แต่ในยามปกติกำลังการผลิตรวมสายส่งเชื่อมภาคกลางและมาเลเซียรวม 3,927 เมกะวัตต์ (ยังไม่รวมชีวมวล โซลาร์ และกังหันลม) ในขณะที่ความต้องการสูงสุดในปี 2558 เท่ากับ 2,425 เมกะวัตต์นั่นคือ มีสำรองสูงถึง 62%

โลกเราเปลี่ยนเร็วมากครับ ผมเองเกิดหลังคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกเพียง 3 ปี ประกอบกับผมเรียนมาทางการคำนวณ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ผมทราบถึงพัฒนาการของราคาและประสิทธิภาพดี ผมประเมินคร่าวๆ ว่า สมาร์ทโฟนในปัจจุบันราคาเพียง 3-5 พันบาท ถ้าเทียบในเชิงประสิทธิภาพในสมัยผมเรียนในมหาวิทยาลัย (ปี 2512-15) ผมว่าสมาร์ทโฟนปัจจุบันราคาไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทอย่างแน่นอน

อ้อ! เทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนกับโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดียวกันเป็นเทคโนโลยียุคควอนตัม เป็นพัฒนาการที่ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลโนเบลหลายคนครับ เป็นการบรรลุทางปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ แต่น่าเสียดายที่คนที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้แกล้งตามโลกไม่ทันและติดกับดักถ่านหินสะอาด
 
กำลังโหลดความคิดเห็น