พัทลุง - ที่วัดตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง จัดการละเล่น “ซัดต้ม” ที่หาชมได้เฉพาะในช่วงเทศกาลออกพรรษาเพียงเท่านั้น ถือเป็นประเพณีที่สร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน
“การซัดต้ม” เป็นประเพณีเดียวของ จ.พัทลุง ที่มีการละเล่นหลังจากพระฉันอาหารเพลเสร็จ ในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่สร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน โดยกิจกรรมดังกล่าวหาดูได้ในบางวัดเท่านั้นในปัจจุบัน ทำให้เด็ก และคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักในกีฬาประเภทนี้ โดยเฉพาะที่วัดตะโหมด ในปีนี้ได้มีการจัดการละเล่นกีฬาประเพณีดังกล่าวขึ้นในวันออกพรรษา เพื่อความสุข สนุกสนาน และผ่อนคลาย โดยมีผู้นำท้องถิ่นมาร่วมกันเล่นกีฬาดังกล่าวด้วยกัน
สำหรับประเพณีซัดต้ม มีที่มาอันเกี่ยวข้องต่อประเพณีลากพระ กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมายังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีพุทธศาสนิกชนรอเข้าเฝ้าเพื่อถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถถวายภัตตาหารได้อย่างใกล้ชิด จึงได้มีการนำใบไม้มาห่อหุ้มภัตตาหาร ซึ่งเรียกกันว่า “ข้าวต้ม” หรือ “ต้ม” และพยายามโยนต้มเหล่านั้นให้ลงบาตร แต่การโยนทำให้ต้มพลาดไปถูกเหล่าพุทธศาสนิกชนด้วยกันเอง
ต่อมา จึงกลายเป็นการละเล่นซัดต้ม และพัฒนาเป็นการแข่งขันด้านไหวพริบ และความรวดเร็วว่องไวในการซัด และหลบหลีกต้ม ซึ่งจัดทำอย่างพิเศษ โดยใช้ข้าวตากผสมกับทราย ห่อด้วยใบตาลเป็นรูปตะกร้อสี่เหลี่ยม ปัจจุบันใช้เส้นพลาสติกในการสาน การละเล่นซัดต้มต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่สามารถหลบหลีกต้มของคู่ต่อสู้ก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ปัจจุบัน การซัดต้มหาดูได้ค่อนข้างยาก บางวัดใน จ.พัทลุง จึงได้จัดให้มีการแข่งขันซัดต้มรวมอยู่ในงานประเพณีแข่งโพนลากพระในเดือน 11 ด้วย
ซึ่งวิธีแข่งขันก็จะแข่งกันเป็นคู่ๆ และใช้สนามกว้างๆ ผู้ชมยืนห่างจากนักกีฬาในระยะที่ปลอดภัย เตรียมการโดยคู่แข่งมีขนมต้มข้างละ 20 ลูก ยืนห่างกันประมาณ 10 เมตร กติกาในการแข่งขัน ใช้ขนมต้มปาให้ถูกร่างกายของคู่แข่งให้มากที่สุด ห้ามปาต่ำกว่าเข็มขัด เมื่อหมดขนมต้มนับจำนวนที่ปาถูกร่างกายคู่แข่งเป็นสำคัญ เมื่อจบกิจกรรมต่างวัดต่างลากเรือพระของตนกลับ สนุกสนานสั่งลาก่อนจากฝากมิตรไมตรีต่อไป