xs
xsm
sm
md
lg

ทางเดินของ “ลูก 10 คน-หนังสือ 10 เล่ม” : บทเรียน สิทธารถะ นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ สเตปเปนวูล์ฟ เกอร์ทรูด ปีเตอร์ คาเมนซินด์ รอสฮัลด์ เดเมียน ท่องตะวันออก เพลงขลุ่ยในฝัน / สดใส ขันติวรพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
โดย...  สดใส  ขันติวรพงศ์

--------------------------------------------------------------------------------
 

 
ฉันไม่เคยคิดว่าชีวิตจะเข้ามาสู่วงการผู้ผลิตหนังสือ คิดเพียงอย่างเดียวคือ ตั้งใจเป็นครูสอนหนังสือ อาชีพใกล้ตัวที่สุดในช่วงที่ธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมเพิ่งขยายตัวในเมืองไทย
 
เมื่อ อาจารย์นพศักดิ์ บุญรัศมี ทายลายมือว่า ต่อไปจะเป็นนักเขียน คำพูดของท่านทำให้พวกเราที่กำลังเลี้ยงสังสรรค์หัวเราะอย่างงอหงาย
 
ปัญหาการใช้ข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ กับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้ต้องหาทางปลดปล่อยอารมณ์ที่กดดัน อ่าน The Prodigy ที่ น้อย -มลิวัลย์ ให้มาอย่างซาบซึ้งใจ เมื่อเขียนวิทยานิพนธ์ไม่ได้ จะอยู่อย่างว่างเปล่าก็ช่างกระไร จึงลองขยับแปลหนังสือเล่มนี้ ที่คิดว่าช่วยปลดปล่อยความทุกข์ในยามนั้นได้
 

 
เมื่องานเสร็จในชื่อภาษาไทย บทเรียน ฉันฝากต้นฉบับไปกับ อนันต์ วิริยะพินิจ เพื่อนที่เรียนประวัติศาสตร์ด้วยกัน ให้ลองนำไปเสนอที่ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ของ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวศักษ์ (ตั้งใจเขียนเรื่องของเคล็ดไทยกับอาจารย์สุลักษณ์แยกไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก)
 
แต่มรสุมการเมืองทำให้ สนพ.ต้องปิดตัวอยู่หลายปี จนเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย บทเรียน ฉบับภาษาไทยจึงได้ปรากฏโฉม
 
น้องๆ ที่ สนพ. ทั้ง นิรันดร์ สุขวัจน์ และ หรินทร์ สุขวัจน์ เชียร์ว่า พี่สดใสน่าจะจับงานของนักเขียนคนนี้แปลเล่มต่อไป เธอบอกว่า สำนวนให้ ฉันเป็นคนเชียร์ขึ้น สนุกแปลเล่มอื่นๆ ของ เฮสเส จนถึง พ.ศ.2536 รวมงานในช่วงนั้น 10 เล่ม (หลังปี 2537 เพิ่มอีก 3 เล่มคือ เกมลูกแก้ว ฤดูร้อนปีสุดท้ายของคลิงซอร์ และ คนุลป์)
 
ขอบคุณภาพจาก ชนะ เสียงหลาย
 
ช่วงแรกๆ ที่ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จัก เฮอร์มานน์ เฮสเส และงานวรรณกรรมแนวจิตวิญญาณ ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร เทียบเคียงไปกับธรรมชาติและสถานการณ์รอบตัว หนังสือต้องเปลี่ยนปกขายลดราคา อย่างน่าเศร้าใจ
 
ยุคทองของงานวิจารณ์วรรณกรรมช่วงทศวรรษ 2530 งานแปล เฮสเส ได้รับเสียงสะท้อนจากนักวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ฉันได้รับทราบว่า ผลงานชุดนี้มีอิทธิพลต่อนักเขียนและคนทำงานศิลปะในยุคนั้นไม่น้อย นักอ่านบางคนบอกว่า เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขา บางรายบอกว่า สิทธารถะ ทำให้เธอเปลี่ยนใจจากที่คิดฆ่าตัวตาย
 
ประสบการณ์ส่วนตัวและเสียงสะท้อนที่ได้รับ ทำให้หนังสือทั้ง 10 เล่มเป็นที่รักของผู้แปลเป็นพิเศษ เพราะเห็นคุณค่าที่งานชุดนี้มีต่อตนเองและเพื่อนนักอ่าน 
 

 
พ.ศ.2537 เมื่อประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ สถานะหนังสือแปลถูกมองอย่างเหยียดหยามจากผู้ดูแลลิขสิทธิ์งานแปลในประเทศไทย เกิดการฟ้องร้องเป็นกรณีพิพาทอย่างน่าอเนจอนาถใจ
 
ในท่ามกลางความสับสนนี้ คุณประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล เจ้าของและผู้จัดการ สนพ.สร้างสรรค์บุ๊คส์ รุ่นน้องอักษรศาสตร์ที่จุฬาฯ ผู้ยืนยันมั่นคงว่า งานแปลก่อนปี 2537 เป็นลิขสิทธิ์ของผู้แปล ได้รับผลงานชุดนี้ไปอยู่ในความดูแล ระหว่างที่กรณีละเมิดลิขสิทธิ์ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลสถิตยุติธรรม
 
5 ตุลาคม 2548 ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยให้งานแปล ซึ่งกระทำขึ้นตามพันธะเงื่อนไขและข้อสงวนที่ประเทศไทยมีต่อสหภาพเบอร์น และอนุสัญญากรุงเบอร์น ว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและประดิษฐกรรมในฐานะภาคี เป็นงานแปลชอบด้วยกฎหมาย ก่อเกิดลิขสิทธิ์ในงานแปลโดยผู้แปล
 

 
สามารถจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อมาจนถึงปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ฉบับภาษาต่างประเทศ และไม่นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของลิขสิทธิ์ภาษาต่างประเทศแต่อย่างใด
 
1 ตุลาคม 2560 คุณประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล ได้มอบคืนลิขสิทธิ์หนังสือทั้ง 10 เล่มกลับมาสู่อ้อมอกแม่ ให้ฉันเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานชุดนี้ต่อไป อะไรจะสุขใจไปกว่านี้ Blessed Reunion
 
ฉันขอขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการหนังสือ ที่เห็นค่าของงานวรรณกรรม ได้สนับสนุนเกื้อกูลฉันตลอดมา ย้ำความเชื่อมั่นว่า เมตตา กรุณา ความดีงามในโลกมีอยู่จริง ในท่ามวิกฤติที่เราเผชิญอยู่รอบตัว
 
ขอความเป็นมิตรไมตรีดำรงนิรันดร์ในใจของทุกคน 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น