ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับชาวต่างชาติ ค้นพบ “แมลงสาบทะเล” ชนิดใหม่ของโลก ระบุช่วยเป็นห่วงโซ่อาหาร และยังเป็นตัวชี้วัดในระบบนิเวศได้อีกด้วย
ดร.เอกนรินทร์ รอดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Dr.Niel Bruce จากประเทศออสเตรเลีย และ รศ.ดร.พรศิลป์ ผลพันธิน ภาควิชาชีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบ “แมลงสาบทะเล” ชนิดใหม่ของโลก ในฝั่งทะเลอันดามัน เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศ และเป็นห่วงโซ่อาหารให้สัตว์น้ำอื่น
ไอโซพอด (Isopod) หรือแมลงสาบทะเล คือ สัตว์กลุ่มเดียวกับพวกกุ้ง ปู (Crustacean) ส่วนใหญ่ขนาดลำตัวมีความยาวประมาณ 0.5-2.0 ซม. อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล โดยพบได้ทั่วไปตั้งแต่เขตน้ำขึ้นน้ำลง จนถึงทะเลลึก มักออกหากินในตอนกลางคืน สัตว์กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางทะเลมาก คือ เป็นฐานอาหารลำดับต้นๆ ในห่วงโซ่อาหารให้แก่สัตว์น้ำต่างๆ และยังเป็นตัวช่วยย่อยสลายซากสัตว์ในทะเล แต่หากบริเวณใดที่มีน้ำเสียมากๆ จะไม่พบสัตว์กลุ่มนี้ เพราะมันจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในบริเวณที่เกิดมลพิษทางน้ำ
สำหรับแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ แพร่กระจายตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย แต่ถูกพบครั้งแรกที่ จ.ภูเก็ต จึงได้ให้ชื่อว่า Cirolana phuketensis ตามสถานที่ค้นพบครั้งแรก และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความระดับนานาชาติ ในวารสาร ZooKeys
ปัจจุบัน พบว่าประเทศไทย รวมถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีการศึกษาสัตว์กลุ่มนี้อยู่น้อย โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านอนุกรมวิธาน และการจัดระบบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ผู้วิจัยเริ่มศึกษากลุ่มนี้อย่างจริงจังในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา และได้มีรายงานแมลงสาบทะเลชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่นี้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ไม่ว่าในการศึกษาต่อยอดด้านอื่นๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือการประเมินความหลากหลายชีวภาพทางทะเลในน่านน้ำไทย ตลอดจนการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติทางชีวภูมิศาสตร์ของแถบอินโด-แปซิฟิก