อาคารสีฟ้าโดดเด่น ที่สามารถมองเห็นได้จากพื้นที่ไกลๆ เนื่องจากตั้งอยู่บนเนินที่มีชื่อว่า “ควนคีรี” ภายในเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ บนถนนพัทลุง ในเขตเทศบาลนครตรัง โดยชั้นล่างเป็นคอนกรีต ส่วนชั้นบนเป็นไม้ และมีหลังคาทรงปั้นหยา ถือเป็น 1 ใน 20 โบราณสถาน ที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดีนั่นก็คือ “จวน” หรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด
ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นช่วงเดียวกับศาลากลางจังหวัด เมื่อราว พ.ศ.2461 ในสมัยที่พระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) เป็นพ่อเมืองตรัง แต่บางกระแสก็กล่าวอ้างว่า สร้างขึ้นในสมัยพระยาอาณาจักรบริบาล (สมบุญ สวรรคทัต) ระหว่าง พ.ศ.2468-2476
ที่สำคัญที่สุดก็คือ จวนผู้ว่าฯ แห่งนี้ ยังเคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2502
ดังนั้นล่าสุด นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จึงได้ทำการบูรณะปรับปรุงจวนผู้ว่าฯ ให้เป็นสถานที่ที่สำคัญอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และทางท่องเที่ยว เนื่องจากจวนผู้ว่าฯ จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2561 เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ นับตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า ไปจนถึง 2 ทุ่ม โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ จวนผู้ว่าฯ ได้เกิดสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก เมื่อนายศิริพัฒ ย้ายมาเป็นพ่อเมืองตรัง ใน 8 เดือนที่แล้ว จึงเห็นควรดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากการควักเงินส่วนตัวมาดำเนินการไปก่อน และต่อมาก็ได้งบของจังหวัด และงบของผู้ว่าราชการจังหวัด มาสมทบรวมนับแสนๆ บาท เพื่อทำหลังคาใหม่ ทำรางน้ำใหม่ ทาสีใหม่ ทั้งภายนอก ภายใน และเปลี่ยนพื้นเป็นหินแกรนิตอย่างดี
พร้อมทั้งปรับหน้าต่างไม้ชั้นบนให้เป็นกระจกใส ให้ชมวิวทิวทัศน์รอบเมืองตรัง เนื่องจากจวนผู้ว่าฯ ตั้งอยู่บนเนินสูง สามารถแลเห็นความเจริญของตัวจังหวัดได้อย่างชัดเจน ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ย ถือว่าเป็น “หัวมังกร”
ส่วนสาเหตุที่ได้มีการทาสีอาคารใหม่เป็น “สีฟ้า” นั้น เนื่องจากเป็นสีประจำจังหวัดตรัง แต่ไม่ใช่สีม่วง ซึ่งสีของดอกศรีตรัง ดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง ที่หลายคนมักเข้าใจผิด อีกอย่างวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ จวนผู้ว่าฯ แห่งนี้ ขณะนั้นก็ได้มีการทาสีอาคารเป็นสีฟ้า
ขณะเดียวกัน “สีฟ้า” ยังเป็นสีเย็น เป็นสีที่เป็นมิตร เมื่อถ่ายรูปแล้วดูสบายตาด้วย จึงได้บูรณะปรับปรุงให้ตรงกับประวัติศาสตร์พอดี นอกจากนั้นยังได้มีการจัดทำป้ายตัวอักษร ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สำหรับบรรยายภาพสำคัญ สิ่งของมีค่า หรือสถานที่ต่างๆ ภายในจวนผู้ว่าฯ เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชม
โดยบริเวณอาคาร สามารถเข้าไปได้ทั้งห้องโถงชั้นล่าง และห้องโถงชั้นบน อาทิ ห้องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประทับแรม ห้องโถงใหญ่ ห้องพระ พร้อมพระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งงาช้างคู่บ้านคู่เมือง นอกจากนั้น ยังมีตู้จัดเก็บภาชนะที่ใช้ในการเสวยพระยาหารกลางวัน และพระยาหารเช้า ตู้จัดวางของเก่า ของโบราณ มีมุมโต๊ะอาหาร โต๊ะรับแขก พร้อมตกแต่งแสงสีภายในอาคารให้ดูสวยงาม
ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์ ต้นไม้ ดอกไม้ รอบๆ ตัวอาคารให้ดูร่มรื่น เพื่อให้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ หรือเซลฟี่เป็นที่ระลึก จนถึงกับมีคู่บ่าวสาวเคยขอเข้ามาถ่ายพรีเวดดิ้ง หรือถ่ายรูปแต่งงาน
อีกจุดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ บริเวณรอบจวนผู้ว่าฯ ซึ่งเดิมส่วนใหญ่จะเป็นสนามหญ้า แต่กลับไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก ดังนั้น จึงได้มีการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาปลูกทุกอย่างที่กินได้ลงไป อาทิ พริก ตะไคร้ ผักเหรียง ผักหวาน ใบเตย กะเพรา พริกไทย กล้วย มะเขือ มะกรูด มะนาว มะละกอ
รวมทั้งมีการเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ และเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อเด็กได้มาเพลิดเพลินกัน อาทิ นก กระต่าย เพื่อต้องการให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการทำให้ดูถือเป็นวิธีการสอนประชาชนให้เข้าใจได้ดีที่สุด จนกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งของ จ.ตรัง ที่ทุกคนไม่ควรพลาดสำหรับการมาเยือน