xs
xsm
sm
md
lg

ในที่สุดก็ถึงบางอ้อ เรื่องนโยบายพลังงานไฟฟ้าไทย / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
-------------------------------------------------------------------------------
 
ผมสงสัยและพยายามหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาหลายปีแล้ว ค้นจากเว็บไซต์ก็แล้ว ฝากคนรู้จักที่เป็นพนักงานให้ช่วยก็แล้ว แต่ไม่สำเร็จครับ มาวันนี้ผมได้คำตอบโดยบังเอิญแล้ว

ข้อสงสัยของผมมี 2 ข้อ

ข้อแรก ผมอยากทราบว่าระหว่างโรงไฟฟ้าที่เป็นของรัฐ 100% (หรือที่เรียกว่าเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กฟผ.100%) กับโรงไฟฟ้าที่เป็นของบริษัทลูก(หรือหลาน)ของ กฟผ. ทาง กฟผ.ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารระบบการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศจะอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใดผลิตก่อน-หลัง มาก-น้อยอย่างไรและเท่าใด

ผมเคยคิดทั้งระบบโดยรวม (เพราะมีข้อมูล) แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ทาง กฟผ.มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำรวมอยู่ด้วย โดยที่โอกาสในการผลิตของโรงไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำกักเก็บซึ่งไม่แน่นอน บางครั้งก็ถูกโต้แย้งว่า กฟผ.มีโรงไฟฟ้าเก่าอยู่จำนวนมาก เป็นต้น ดังนั้นควรจะเปรียบเทียบกับแต่ละโรงที่คล้ายๆ กัน อายุไล่เลี่ยกัน เป็นต้น

เช่น ระหว่างโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100% กับโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งทาง กฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดถึง25.41% (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) โรงไฟฟ้าทั้งสองใช้เชื้อเพลิงชนิดเดียวกันคือก๊าซธรรมชาติ ตั้งอยู่ในภาคใต้ด้วยกัน โรงไฟฟ้าจะนะมีขนาด 731 เมกะวัตต์เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2551 ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนอมมีขนาด 824 เมกะวัตต์สร้างเสร็จมาก่อนนั้น

สิ่งที่ผมได้พบโดยบังเอิญก็คือข้อมูลจากโรงไฟฟ้าขนอมในปี 2552 (https://www.khanom.egco.com/th/our_power_plant_souther_thailand.php) ซึ่ง “บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)” หรือ EGCO ถือหุ้นโรงไฟฟ้าแห่งนี้ 100% โดยที่ กฟผ. ถือหุ้นใน EGCO 25.41% ดังนั้นโรงไฟฟ้าขนอมจึงเป็นบริษัทลูก(หรือหลาน)ของ กฟผ.

สิ่งที่ผมอยากจะทราบ หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ทาง กฟผ.ซึ่งบริหารระบบสายส่งทั้งประเทศได้บริหารให้โรงไฟฟ้าจะนะกับโรงไฟฟ้าขนอมเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่โดยเฉลี่ยแล้ววันละกี่ชั่วโมง ผมได้นำข้อมูลดิบบางส่วนและข้อมูลที่ผมได้คำนวณขึ้นเองมาแนบไว้ในบทความนี้ด้วยครับ

ผลการคำนวณพบว่า โดยเฉลี่ยโรงไฟฟ้าขนอมได้ผลิตมากกว่าโรงไฟฟ้าจะนะค่อนข้างมาก กล่าวคือ โรงไฟฟ้าขนอมได้ผลิตเฉลี่ยวันละ 18.8 ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะนะได้ผลิตเฉลี่ยเพียงวันละ 15.6 ชั่วโมง

ถ้าคิดเป็นร้อยละของเวลาที่เครื่องจักรได้ทำงาน (plant use factor) ตลอดทั้งปีพบว่า โรงไฟฟ้าขนอมได้ 78% ของเวลาทั้งปี ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะนะได้ 65%ของเวลาทั้งปี ต่างกันถึง 13%
 

 
ผู้บริหารของ กฟผ.ท่านหนึ่งได้เคยชี้แจงในคณะกรรมการ 3 ฝ่ายกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง) ว่าร้อยละของการทำงานของโรงไฟฟ้าที่ยอมรับกันได้ประมาณ 70-75% แต่โรงไฟฟ้าจะนะได้รับอนุญาตให้ผลิตเพียง 65% ของเวลาทั้งปี

อย่าลืมว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องลงทุนหลายหมื่นล้านบาท และในแต่ละปี คนไทยใช้ไฟฟ้าถึง 6.6 แสนล้านบาท ดังนั้นแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่ต่างกันจึงหมายถึงจำนวนเงินก้อนโตที่ได้รับหรือที่หายไป

ผมพยายามค้นหาข้อมูลที่ทันสมัยของโรงไฟฟ้าจะนะ แต่หาไม่ได้ครับ ในเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้าเองก็ไม่มี ของ กฟผ.ก็ไม่มี แต่พบว่าของโรงไฟฟ้าขนอมในปี 2559 มีร้อยละของเวลาที่ได้เดินเครื่องอย่างเต็มที่ของเครื่องจักรเท่ากับ 76.8% ต่ำกว่าเมื่อปี 2552 เสียอีก (ปี 2559 ผลิตได้ 6,258 ล้านหน่วย โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 930 เมกะวัตต์-ข้อมูลจาก https://www3.egat.co.th/ft/index_3.html) เหตุผลที่ต่ำกว่า ผมเข้าใจว่าเรามีกำลังการผลิตในระบบที่มากเกินไป ทำให้ทาง กฟผ.ต้องเสีย “ค่าความพร้อมจ่าย” ตามสัญญา

นับถึงเดือนสิงหาคม 2560 เรามีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 41,923 เมกะวัตต์ ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2559 เรามีกำลังการผลิต 41,556 เมกะวัตต์ ในระยะ 2-3 ปีมานี้ตัวเลขร้อยละของเวลาที่เครื่องจักรทำงานมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

โดยสรุป ทั้งๆ ที่เป็นโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกัน ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ผู้กำกับกติกาคือ กฟผ.ได้จัดการโรงไฟฟ้าบริษัทของเอกชน (ที่ กฟผ.ถือ 25.41%) ได้ผลิตมากกว่าโรงไฟฟ้าที่เป็นของ กฟผ.ทั้ง 100% การได้ผลิตในสัดส่วนที่มากกว่าหมายถึงกำไรที่มากกว่าครับ นี่คือ การถึงบางอ้อในประการแรก

ข้อสงสัยประการที่สอง เรื่องสายส่งเต็ม

เรื่องนี้ผมได้เคยเขียนเล่าหลายครั้งแล้วว่า ประเทศเยอรมนีได้ตราเป็นกฎหมายเลยว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน หากไฟฟ้าไม่พอก็ให้รับจากผู้ผลิตจากพลังงานฟอสซิล”

แต่ทางรัฐบาลไทยรวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันนี้ด้วยได้กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับประเทศเยอรมนี เมื่อภาคธุรกิจโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันจะขอผลิตไฟฟ้าจากของเหลือรวมทั้งน้ำเสีย ทางรัฐบาลนี้อ้างว่า “สายส่งเต็ม” โดยไม่มีการจำแนกว่าควรจะให้โรงไฟฟ้าชนิดใดผลิตได้ก่อน ระหว่างพลังงานฟอสซิลที่สกปรกและผูกขาด กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อมลพิษและผูกขาดได้ยากพร้อมกับกระจายรายได้

นอกจากนี้ เมื่อภาคประชาชนรวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอให้ “ปฏิรูปเร็วด้วยโครงการโซลาร์รูฟเสรี” แต่ทางรัฐบาลนี้ก็ไม่ยอม พร้อมกับได้กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม 2 ประการคือ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในราคาแพงกว่าที่ประเทศเยอรมนีและจีนรับซื้อเสียอีก เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนมากเกินไป และ (2) ไม่รับซื้อจากผู้ผลิตบนหลังคาพร้อมกับคิดจะเก็บภาษีที่เรียกว่า “ภาษีแดด” อีกต่างหาก

สิ่งที่ทำให้ผมถึงบางอ้อมี 3 ข่าวซึ่งขออธิบายเพียงสั้นๆ พร้อมรายละเอียดอยู่ในภาพครับ
 

 
ข่าวแรกซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 60 นี่เองครับ คือ ทาง กฟผ.ได้ลงนามในสัญญาเพื่อที่จะนำไฟฟ้าจากประเทศลาวไปขายให้กับมาเลเซีย (ในระยะแรก)และสิงคโปร์ในระยะเวลาถัดไป ซึ่งโรงไฟฟ้าในประเทศลาวจำนวน 3,578 เมกะวัตต์ก็เป็นบริษัทลูกของ กฟผ. นั่นเอง โดยประมาณ 3 ใน 4 เป็นของเอกชน

ข่าวที่สอง เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2560 พบว่า ทาง กฟผ.จะเปิดประมูลเพื่อพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทั้งภาคใต้และภาคอีสานรวมมูลค่า 157,000 ล้านบาท รายละเอียดและแหล่งอ้างอิงอยู่ในภาพครับ
 

 
จากสองข่าวนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าปัจจุบันสายส่งไม่ได้เต็ม แต่อยู่ที่การจัดการว่าจะให้โรงไฟฟ้าของใครได้เดินเข้าสายส่งก่อน สำหรับในอนาคตเขาเร่งพัฒนาสายส่งก็เพื่อนำไฟฟ้าจากบริษัทลูก (ซึ่งเป็นเอกชน) ไปขายให้กับมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยใช้สายส่งของประเทศไทย แต่สำหรับประชาชนธรรมดาๆ ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสให้สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้แล้ว แต่ผู้กุมนโยบายของรัฐไม่ยอม และไม่ยอมเด็ดขาด

ข่าวที่สามบริษัทหลานของ กฟผ.มีสัมปทานเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย

ในตอนแรกผมเข้าใจว่า กลุ่มทุนพลังงานของประเทศไทย เช่น เหมืองบ้านปู และกลุ่มบริษัท ปตท.ได้ไปลงทุนทำเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย แต่จากการค้นคว้าคราวนี้พบว่า บริษัทหลานของ กฟผ.เอง ได้ลงทุนทำเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย ผมมีภาพและแหล่งอ้างอิงมาให้ดูด้วยครับ
 

 
ในอดีต สังคมยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ในปัจจุบันนี้เรามีเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่ก่อมลพิษทั้งระดับชุมชนและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์และกังหันลม เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ สร้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำ มีราคาถูกกว่าถ่านหิน (ในส่วนใหญ่ของโลก) แม้ว่าจะต้องติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อให้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อไม่มีแดดและไม่มีลม และในแต่ละปีต้นทุนจะลดลงประมาณ 10% ในขณะที่ต้นทุนถ่านหินมีแต่จะเพิ่มขึ้น

เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเป็นเทคโนโลยียุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐบาลนี้พยายามนักพยายามหนาเพื่อจะชวนเชื่อให้คนไทยเปลี่ยน Mind Set ให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องโน่น นี่ นั่น แต่หลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า ในเรื่องพลังงานที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศ ไม่ว่าเรื่องการลงนามในสัญญานำไฟฟ้าจากลาวไปขายมาเลเซียและสิงคโปร์ ไม่ว่าเรื่องการอนุญาตให้บริษัทเอกชนผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าบริษัทของ กฟผ. 100% และเรื่องพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะบริษัทหลานของ กฟผ.ถือหุ้นอยู่

มันได้สะท้อนอย่างชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานสกปรกเป็นหลัก แต่มักจะอ้างความทันสมัยของเทคโนโลยียุค 4.0 เพียงเพื่อให้กลุ่มทุนได้รับประโยชน์ที่รวดเร็ว เป็นกอบเป็นกำ กว้างขวาง และมีประสิทธิภาพ (ลงทุนน้อยแต่มีกำไรมาก) แต่ยังคงยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจไดโนเสาร์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก เพิ่มความเหลื่อมล้ำ และชุมชนต่อไปเท่านั้นเอง โดยไม่ได้มีความจริงใจอะไรเลย

ผมจริงจังนะครับ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น