สตูล - เกษตรกรใน จ.สตูล หันเพาะ “เห็ดแครงอินทรีย์” ในโรงเรือน ตอบโจทย์คนชอบกิน อนาคตมุ่งเป้าส่งขายตลาดจีน และกลุ่มคนรักสุขภาพ
“เห็ดแครง” ส่วนใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติในช่วงที่แล้งจัด จากนั้นมีฝนตกในความชื้นที่เหมาะสม ทำให้ชาวบ้านมักจะเข้าไปหาในป่ามาทำกิน และขาย ซึ่งใน 1 ปี จะหากินได้ 1 ครั้งเท่านั้น แต่มาวันนี้ กลุ่มเพาะเห็นแครงอินทรีย์ ตั้งอยู่เลขที่ 177 หมู่ที่ 3 บ้านบ่อหิน ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน หวังเพาะเห็ดเพื่อตอบโจทย์คนชอบกินเห็ดแครงชนิดนี้ให้กินได้ตลอดทั้งปี
วิธีเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ เริ่มจากการทำก้อนเชื้อเห็ดแครง ประกอบด้วย ขี้เลื่อย 100 กก. รำข้าวละเอียด 50 กก. ภูไมท์ 2 กก. ดีเกลือ และปรับความชื้นด้วยน้ำ 50-60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้น ได้ส่วนผสมแล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกขนาด 6.5 คูณ 10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง หรือน้ำหนัก 600 กรัมต่อถุง แล้วนำไปนึ่งในหม้อนึ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชม. นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลาพักไว้ให้เย็นแล้วลำเลียงไปไว้เขี่ยเชื้อ แล้วรีบใส่เชื้ออย่าให้เกิน 24 ชม. จะทำให้การปนเปื้อนของเชื้อสูง เห็ดแครง จะใช้เวลาบ่มก้อนเชื้อ 15-20 วัน เชื้อก็จะเดินเต็มก้อน พร้อมที่จะนำไปเปิดดอก
วิธีการเปิดดอกเห็ดแครง โดยจะทำการเปิดดอกในโรงเรือน 4 คูณ 8 เมตร การเปิดดอกเริ่มจากนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเรือน ดึงจุกพลาสติกที่ปิดก้อนเชื้อออกแล้วใช้ยางรัดปากถุงแทน จากนั้นกรีดถุงก้อนเชื้อเป็นแนวยาว 6-7 แนว เป็นเส้นทแยงมุม 3 วันแรก รดน้ำที่พื้น และผนังโรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้นในโรงเรือน เพราะในระยะแรกตรงบริเวณรอยกรีดเส้นใยจะขาด ต้องรอให้เส้นใยเจริญประสานกันก่อน ถ้ารดน้ำไปถูกก้อนเชื้ออาจจะทำให้น้ำเข้าไปบริเวณรอยกรีด ก้อนเชื้อเห็ดอาจจะเน่าเสียหายได้
เห็ดแครง จะออกได้ดีในอุณหภูมิ 30-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็หมายความว่า เห็ดแครง จะออกดอกได้ตลอดได้ปีนั่นเอง หลังจากรดน้ำ 3 วันแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการให้น้ำแบบพ่นฝอย หรือสเปรย์น้ำแทน ถ้าไม่มีระบบน้ำต้องใช้ถังพ่นน้ำเปล่า ทำเช่นนี้ทุกวันไม่เกิน 8 วัน นับจากวันเปิดดอก
การเก็บดอกเห็ดแครง จะเก็บได้ 2-3 ครั้ง นับจากวันที่ทำการเปิดออก 7-8 วัน ให้ตัดเชื้อออกทั้งหมด จากนั้นก็กระตุ้นดอกต่อ โดยให้น้ำที่ก้อนเห็ดทุกวันติดต่อกัน 7 วัน ดอกเห็ดแครงก็จะออกมาพร้อมจะเก็บได้อีกครั้ง และจะเก็บดอกเห็ดแครงได้เหมือนเดิม แต่อาจจะมีขนาดเล็กลง คุณภาพลดลง จึงควรเก็บดอกเพียง 2 รุ่น แล้วรื้อก้อนเห็ดทิ้งเลย นำก้อนเห็ดชุดใหม่เข้าแทน โดยปริมาณดอกเห็ดต่อก้อนอยู่ที่ 1-1.5 ขีด
นางวิไลภรณ์ ชำนาญเพาะ อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 294 หมู่ที่ 3 ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า หลังเสร็จภารกิจงานภายในบ้าน งานสวนปาล์ม และสวนยางพารา ได้มาร่วมกลุ่มโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ โดยตนทำหน้าที่ถนัดคือ ใช้แรงงานในการทำก้อนเชื้อเห็ดแครง ตามสูตรผสมขี้เลื่อย และรำข้าวละเอียด และส่วนต่างๆ ที่เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่จะให้เวลากลางคืนหลังเสร็จภารกิจที่บ้าน ในช่วงเร่งทำก้อนเชื้อเห็ดแครง จะให้ลูกๆ มาช่วยทำ เคยทำมากถึง 800 ลูก ทุกคนก็มีรายได้ร่วมกัน
นายสำราญ แคยิหวา สมาชิกในกลุ่มคู่ชีวิตประธานกลุ่ม วัย 38 ปี กล่าวว่า ทางกลุ่มจะใช้บ้านในการทำโรงเพาะเห็ด และโรงเรือนจะใช้เหล็กเป็นโครงสร้างเพื่อป้องกันแมลง ที่จะมาทำลายเห็ดได้ วิธีการดูแลเห็ดจะเน้นความชื้น และอุณหภูมิมากกว่า ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80 โดยตั้งองศาที่ 30-40 นอกจากนี้ มีวิธีควบคุมอุณหภูมิโดยใช้เครื่องพ่นหมอกทุก 1 ชม. จะทำงาน 10 นาที หากความชื้นไม่เหมาะสมจะมีเครื่องช่วยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับเห็ด เพราะนั่นหมายถึงเห็ดอาจจะไม่ให้ดอกเลยก็ได้
การเก็บเห็ดในแต่ละรอบต้องมีการพักล้างโรงเรือนเพื่อทำความสะอาดด้วยน้ำส้มควันไม้ เนื่องจากว่าจะมีตัวไรที่จะทำให้เห็ดเกิดโรคได้ง่าย โดยจะเน้นคุณภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก การให้ผลผลิตที่เร็วเพียง 7 วัน ก็ให้ผลผลิตแล้ว จึงเลือกที่จะเพาะเห็ดแครง เนื่องจากสามารถต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ หากขายเห็ดสดไม่ทัน ก็สามารถตากแห้ง หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ
สำหรับเมนูเห็ดที่ทางน้องกุล ประธานกลุ่ม และทางกลุ่มฯ จะปรุงให้ดู และชิมกันวันนี้คือ “ห่อหมกเห็ดแครงอินทรีย์ย่าง” เครื่องปรุงไม่มีอะไรยุ่งยาก ซึ่งก็มีอยู่ริมรั้วในครัวเรือน ประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง เกลือ ตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม โขลกเข้ากันจนแหลกพอสมควร ก่อนตักใส่ชามใบใหญ่ จากนั้นใส่กะทิลงไป ตอกไข่ไก่ใส่ไปตามสัดส่วนของเห็ดที่จะปรุงให้เผ็ดมากน้อยตามใจชอบ แต่ครั้งนี้ค่อนข้างเผ็ดปานกลาง คลุกเคล้าให้เข้ากันปรุงรสชาติตามชอบแล้ว ตักใส่ใบตองที่เตรียมไว้รองด้วยใบผักที่ชื่นชอบ
โดยวันนี้ได้เตรียมใบโหระพา ใบเล็บครุฑ และใบชะพลู ที่สามารถนำมารองก่อนตักเห็ดแครง ที่ผ่านการปรุงรสแล้ววางทับแล้วห่อ กลัดด้วยไม้หัว และท้ายก่อนนำไปย่างไฟเตาถ่ายอ่อนๆ คอยกลับไปมาระวังอย่าให้ไหม้เสียก่อน เมื่อย่างได้ที่ได้กลิ่นหอมยกลงจากเตาแกะชิมทานกับข้าวร้อนๆ อร่อยหนึบๆ บางคนบอกคล้ายเนื้อหอยขาว หวานอร่อยหนึบกว่าเห็ดนางฟ้า
สำหรับเห็ดแครง นอกจากเมนูห่อหมกเห็ดแครงอินทรีย์ย่างแล้ว เมนูผัดกะเพรา แกงคั่วกะทิกุ้ง ไก่ เนื้อตามใจชอบ ก็อร่อยตามแบบฉบับคนใต้ กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเจริญอาหารกันเลยทีเดียว
น.ส.นิภาพร สุวรรณสถิตย์ หรือน้องกุล อายุ 38 ปี ประธานกลุ่มเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำเห็ดแครง ที่ทุกคนก็จะทราบดีว่าใน 1 ปีจะหาทานได้ปีละครั้ง ช่วงแล้งและมาฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามสวนยางพารา และส่วนตัวชอบความสวยงามของเห็ดอยู่แล้ว ทั้งเห็ดนางฟ้า และเห็ดต่างๆ จึงคิดอยู่นานในขณะนั้นว่าจะเพาะเห็ดอะไรดี ก่อนตัดสินใจศึกษาอย่างจริงจังในการเพาะเห็ดแครง เนื่องจากเป็นคนชอบกินเห็ดแครงอยู่แล้ว และไม่ชอบที่ทุกครั้งพบหนอนหรือแมลงบนเห็ด จึงเลือกที่จะศึกษาในการเพาะเห็ดในโรงเรือน เพื่อทานในหมู่บ้าน และคนทั่วไป
สำหรับตลาดหากมีการทำจริงจังได้มีการติดต่อกับตลาด อตก.ที่จะรองรับหากส่งขายเห็ดที่มีคุณภาพ และโตพอสมควร แต่ขณะนี้ทำขายให้แม่ค้าในพื้นที่ และคนที่สนใจกินเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะอบแห้งบ้างเพื่อไว้ใช้ในการแปรรูปขั้นตอนต่อไป
ที่จุดแห่งนี้จะมีบริการอัดก้อนเชื้อขาย และมีแบบกรีดดอกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการดอกสด หรือแบบแห้งก็มีจำหน่าย สามารถติดต่อได้โดยส่งขายก้อนละ 10 บาท ดอกสดกิโลกรัมละ 200-250 บาท ส่วนอบแห้งขีดละ 200 บาท กิโลกรัมละ 2,000 บาท แม้จะเพิ่งเริ่มทำไม่นานกระแสตอบรับค่อนข้างดีมาก อีกทั้งน้องๆ ลูกหลานในหมู่บ้านมาช่วยกันทำมีรายได้ว่าจ้างอัดลงถุงเพาะเชื้อ ส่วนสมาชิกมี 36 คน ก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากการขายเห็ดแครงในครั้งนี้ด้วย
อนาคตก็หวังหากมีผลผลิตมากพอจะส่งไปเปิดตลาดในประเทศจีน เนื่องจากพบว่าเป็นประเทศที่นิยมทานอาหารเพื่อสุขภาพกันเป็นจำนวนมาก และเปิดเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบ และนิยมกินเห็ด พร้อมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดเพื่อจำหน่ายให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และแม้จะมีงานวิจัยจากหลายสถาบัน ว่า สรรพคุณทางยาของเห็ดแครงมีมากมาย แต่ทางกลุ่มก็ได้ส่งผลเพาะเห็ดให้ทางผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ ยืนยันในสรรพคุณเห็ดแครงนี้อีกครั้ง
สำหรับเมนูเห็ดแครง พบว่า ทำได้หลายอย่าง แกงคั่วไก่ คั่วกุ้ง จากที่ศึกษาเมนูอาหารสามารถทำห่อหมกเห็ดแครงปลากระป๋อง หรือใส่ไข่ก็ทำได้ หรือจะใช้เป็นเมนูสุขภาพ ผัดกะเพรา ผัดฉ่า ใช้เห็ดแครงแทนเนื้อไก่ได้สบาย ส่วนห่อหมกเห็ดแครงย่างก็ทำง่ายเครื่องปรุงมีอยู่รอบบ้านสามารถทำกินเองได้
ท้ายนี้ น้องกุล ได้ฝากถึงเกษตรกรที่เพาะเห็ดขายให้หมั่นพักทำความสะอาดโรงเรือนให้บ่อยครั้งป้องกันตัวไร และดูแลสุขภาพทั้งผู้เป็นเกษตรกรเองด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อไม่ให้ตัวไรเข้าหู หรือตาได้ สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม หรือศึกษาดูงานได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 09-9318-2744 และ 08-1609-6986