xs
xsm
sm
md
lg

“ถ่านหิน” เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ราคาแพงที่สุดในโลก?! / นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย ..นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา

ใต้ทะเลเทพา ไม่ใช่เป็นทะเลร้างนะ มีกองหินใหญ่เป็นบ้านปลาธรรมชาติอันอุดม 13 กอง แต่ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ได้เขียนไว้เลยสักกองเดียว

ทะเลเทพา เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานี หรือตือโละปาตานี ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก ใต้ทะเลก็ไม่ได้ราบเรียบ แต่มีภูมิประเทศที่ไม่ต่างจากบนบก มีเนิน มีที่ลุ่ม

ใต้ทะเลเทพาหน้าหาดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีสะพานท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน และมีท่อดูดน้ำเข้า ปล่อยน้ำออก มีกองหิน 13 กอง แต่ละกองมีพื้นที่เป็นไร่ มีลักษณะเฉพาะที่เป็นที่อยู่อาศัย และเพาะฟักตัวอ่อนที่สำคัญมาก

กองหิน 13 กองนี้ เป็นพื้นที่ที่ชาวประมงทุกลำในเทพาเขารู้กัน พี่น้องชาวประมงจากหนองจิก หรือจะนะ ก็ยังรู้ และข้ามเขตมาหาปลาด้วย แต่นักวิชาการของบริษัทที่ปรึกษาที่รับจ้างทำ EHIA กลับไม่รู้เลย เพราะไม่ได้เขียนไว้

เหตุที่ไม่รู้ก็คงเพราะไม่ได้ลงพื้นที่กระมัง ไม่กล้าคุยกับชาวประมง ได้ดำน้ำไปดูความจริงใต้ทะเลบ้างเปล่าก็ไม่รู้ ส่วน คชก.นั่งอยู่กรุงเทพฯ ย่อมไม่แปลกที่ไม่รู้ อนุมัติเท่าที่รู้ เพราะกระบวนการรับฟังความเห็นจากพื้นที่โดย คชก.เองอย่างจริงใจ และเข้มข้นนั้นไม่เคยมี
 
ภาพถ่ายใต้น้ำจาก Sirachai Arunrugstichai , Greenpeace Thailand
 
ทะเลเทพา อันอุดมจะมีต่อม่อสะพานขนถ่ายถ่านหินยาว 3 กิโลเมตรยื่นออกไป มีเรือขนถ่านหินขนาดใหญ่มากลำละ 13,000 ตัน เข้าออกวันละ 2 ลำ มีเขื่อนหินทิ้งยื่นไปในทะเล 500 เมตร เพื่อดูดน้ำทะเลเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าวันละ 9 ล้านคิว มีท่อขนาด 5.5 เมตร ยื่นยาวไปในทะเล 2.5 กิโลเมตร 2 ท่อ เพื่อไว้ปล่อยน้ำที่ใช้แล้วเกือบ 9 ล้านคิวต่อวันกลับลงไปในทะเล

มีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เดินเรือได้สะดวก ยิ่งในช่วงก่อสร้างสามสี่ปียิ่งไม่ต้องพูดถึง การขุดการวางตอม่อการก่อสร้างจะทำให้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่สร้างผลกระทบต่อทะเลเทพาอย่างสูงสุด

โรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟราคาถูกเป็นวาทกรรมที่คิดไม่ครบ หากคำนวณความเสียหายในทุกด้าน คำนวณความเสื่อมโทรมของธรรมชาติอันยากจะฟื้นกลับคืนร่วมด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะเป็นเชื้อเพลิงที่แพงที่สุดในโลก

ว่าแต่ว่า กองหินสำคัญ 13 กองใต้ทะเล ยังไม่ถูกบันทึก หรือศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเลย แล้ว สผ.จะยอมให้ EHIA ที่บกพร่องอย่างแรงส่งเข้าไปอนุมัติในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ สผ.มีหน้าที่ปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตามชื่อกระทรวงนะครับ สผ.ไม่ใช่สังกัดกระทรวงถ่านหินนะครับ ฝากเลขาธิการ สผ.คิดให้หนักๆ ด้วยครับ
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น