ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พุทธศาสนิกชนภาคใต้หลายจังหวัดต่างพาครอบครัวเข้าวัดทำบุญเนื่องในงานบุญสารทเดือนสิบบุญแรก เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นเป็นงานบุญประเพณีสำคัญของชาวใต้
วันนี้ (6 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนภาคใต้ในหลายจังหวัดต่างทยอยไปทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในงานบุญสารทเดือนสิบบุญแรก ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีสำคัญของชาวใต้ โดยประเพณีสารทเดือนสิบของชาวใต้จะจัดขึ้น 2 ครั้ง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ 10 ซึ่งถือเป็นวัน “รับตายาย” ตามความเชื่อที่ว่าประตูยมโลกได้ถูกเปิดออก และปลดปล่อยดวงวิญญาณให้มารับส่วนกุศลจากลูกหลานเป็นเวลา 15 วัน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย และจะเรียกว่าวันส่งตายาย
จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชนต่างยกสำรับอาหาร และขนมในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ไปทำบุญยังวัดใกล้บ้าน โดยในวัดสามัคคีประชานุกูล ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง เต็มไปด้วยชาวบ้านที่เข้ามาร่วมทำบุญในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบเป็นวันแรกในวันนี้ อย่างไรก็ตาม หลายวัดได้จัดพิธีทำบุญรวมกับวันธรรมสวนะ คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 คือเมื่อวานนี้ไปแล้วเพื่อให้สะดวกแก่พุทธศาสนิกชนในการมาทำบุญ แต่อีกหลายวัดยังคงยึดถือประเพณีเดิมคือ วันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ ตามประเพณีที่สืบทอดกันมา
จังหวัดสงขลา บรรยากาศภายในวัดหลายแห่ง ชาวบ้านต่างนำลูกหลานไปร่วมทำบุญให้แก่บรรพบุรุษอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะที่ชุมชนท่าเคียนหาดใหญ่ ชาวบ้านได้ร่วมกันแห่หุ่นเชิดทองสูง ชื่อว่า ทองยิ้ม ความสูง 2 เมตรครึ่ง และแห่หมรับที่สร้างด้วยขนมลาเป็นพญาไก่ตามปีนักษัตร และขบวนกลองยาว ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านในชุมชนท่าเทียน ได้ร่วมกันฟื้นฟู และอนุรักษ์เอาไว้ และมีเพียงแห่งเดียวในเมืองหาดใหญ่
จังหวัดสตูล พุทธศาสนิกชนในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะพื้นที่ตัวอำเภอเมืองสตูล ต่างพาบุตรหลาน และครอบครัวหิ้วปิ่นโตเดินทางเข้าวัดที่มงคลมิ่งเมือง (วัดป่าช้าจีน) ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล กันอย่างคึกคัก ในโอกาสประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยวันนี้แต่ละครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้ากัน โดยญาติพี่น้องที่ไปทำงานต่างจังหวัดได้เดินทางกลับมารวมญาติกัน และได้ทำบุญร่วมกัน นอกจากนี้แล้ว ยังมีประเพณีชิงเปรต โดยมีการนำขนมคาวหวาน เช่น ขนมรา ขนมเจาะหู อาหารใส่ใบตองเพื่อวางลานเปรต ที่ทางวัดจัดขึ้นมา
จังหวัดนราธิวาส บรรยากาศที่วัดประชาภิรมย์ พุทธศาสนิกชนร่วมเดินทางมาทำบุญเป็นจำนวนมาก โดยนำขนมคาวหวานมานั่งร้านเพื่อร่วมชิงเปรต มึทั้งขนมพอง ขนมเจาะหู และขนมบ้าบิ่น ขณะที่ส่วนหนึ่งต่างมากรวดน้ำบริเวณรอบรั้ววัดด้านหน้าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตแล้ว ส่วนด้านการดูแลความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
จังหวัดยะลา ที่วัดคูหาภิมุข(พุทธไสยานุสรณ์) หรือวัดถ้ำคูหามุข หมู่ที่ 1 ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา ชาวบ้านทยอยเดินทางนำบุตรหลานไปวัด เพื่อร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก โดยนำขนมต้ม ขนมลา ขนมบ้า ขนมเจาะหู ขนมข้าวพอง และขนมเทียน รวมทั้งอาหารคาว ดอกไม้ธูปเทียน ไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งนำขนมที่ใช้ในเทศกาลเดือนสิบไปตั้งวางไว้ที่ร้านเปรต ซึ่งมีเด็กๆ แต่งตัวเป็นเปรตคอยรับอาหาร
ภาพจากจังหวัดนราธิวาส
จังหวัดตรัง บรรดาพุทธศาสนิกชนเดินทางไปตามวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่ค่อยไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของวันทำงาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ข้าวของที่นำมาทำบุญมีจำนวนมากมายนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยเฉพาะราคายางและปาล์มที่ตกต่ำ นอกจากนั้น ตามวัดต่างๆ ในพื้นที่ทั้ง 10 อำเภอของ จ.ตรัง ก็ได้มีพุทธศาสนิกชนนำขนมเดือนสิบทยอยกันเดินทางไปร่วมทำบุญ พร้อมกับรับฟังธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ภาพจากจังหวัดนราธิวาส
ภาพจากจังหวัดนราธิวาส
ภาพจากจังหวัดยะลา
ภาพจากจังหวัดยะลา
ภาพจากจังหวัดตรัง
ภาพจากจังหวัดตรัง