xs
xsm
sm
md
lg

หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลลงพื้นที่ยะลาประชุมติดตามการดำเนินโครงการตาม Road Map

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ลงพื้นที่จังหวัดยะลา ประชุมติดตามการดำเนินโครงการตาม Road Map ณ ห้องประชุม กอ.รมน.ภาค 4 สน. พร้อมตรวจศูนย์ CCTV สภ.เมืองยะลา และ ศชต.

วันนี้ (31 ส.ค.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินโครงการตาม Road Map การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ณ ห้องประชุม 1 กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยมี ผอ.รมน.ภาค 4 ผู้แทน ศอ.บต. กอ.รมน. จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลาส่วนหน้า) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ นาวิกโยธินกองทัพเรือ เข้าร่วมประชุม

การติดตามโครงการตาม Road Map ดังกล่าว เป็นงานที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ โดยมีโครงการที่สำคัญๆ ได้แก่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม การจัดตั้ง ชคต.เพิ่มเติม 60 ตำบล ประชารัฐจิตอาสาญาลันนันบารู 200 ตำบล การฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่รัฐ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ยุทธศาสตร์ชุมชนศรัทธา “กำปงตักวา” เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน รวมทั้งระบบกล้อง CCTV และการพัฒนาท่าอากาศยานบ่อทอง
 
 

 
โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กำลังอาสาสมัคร และกำลังประชาชนทุกประเภท ให้มีขีดความสามารถในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน/ตำบล โดยในห้วงที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้จัดให้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และแผนรักษาความปลอดภัยต่างๆ การฝึกทบทวนอาสาสมัคร และกำลังประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอเพื่อคัดเลือกกลั่นกรองผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่อาสาสมัคร

โครงการจัดตั้ง ชคต.เพิ่มเติม 60 ตำบล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กำลังประจำถิ่น กำลังประชาชน รวมทั้งผู้นำตำบล/หมู่บ้าน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยตำบล/หมู่บ้านตนเอง เสริมกำลังหลักในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการบรรจุสั่งใช้สมาชิกอาสาสมัครไปแล้ว 720 อัตรา อยู่ระหว่างการฝึก ณ ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานเพิ่มเติม

โครงการประชารัฐญาลันนันบารู 200 ตำบล เพื่อขยายงานป้องกันและบำบัดยาเสพติดให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการสร้างจิตอาสาขึ้นมาทุกหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 1,300 หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันได้ตั้งทีมตำบลครบทั้ง 200 ตำบล 200 ชุด ชุดละ 2 คน รวม 400 คน เข้าทำงานในพื้นที่แล้ว 1,228 หมู่บ้าน สำหรับงบประมาณที่ได้รับนำไปใช้สนับสนุนสมทบทุนศรัทธาคนละบาท/วัน ของชมรมจิตอาสาตำบล
 

 
โครงการการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่รัฐ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในพื้นที่ และไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา มีการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพกรอบแนวทางการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพผู้บังคับการหน่วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ข้าราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลแผนงานโครงการประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 13 เรื่อง โดยผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องการให้ปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังต่อเนื่อง

การสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีกิจกรรมที่ดำเนินการ คือ การจัดกิจกรรมปฏิเสธความรุนแรง ซึ่งได้จัดในระดับอำเภอ 37 ครั้ง ระดับจังหวัด 8 ครั้ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 50,000 คน ส่วนการจัดกิจกรรมเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้เห็นต่าง สามารถลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และทำให้ประชาชนหันมาให้ความร่วมมือในการให้ข่าวสาร และร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ภาครัฐจัดเพิ่มขึ้น
 

 
โครงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ได้ดำเนินกิจกรรมทั้งหมด 4 กิจกรรม ได้แก่ การพบปะพูดคุยกับบุคคลเป้าหมายและเครือญาติ การพูดคุยเพื่อสันติสุขกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ จชต. การเปิดพื้นที่รวบรวมประเด็นความเห็นของผู้นำทางความคิดในพื้นที่ จชต. และการเปิดเวทีสาธารณะ กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวช่วยสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และเกื้อกูลต่อการสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป

โครงการชุมชนศรัทธา “กำปงตักวา” มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชุมชนศรัทธา “กำปงตักวา” เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูล และศึกษาหมู่บ้าน/ชุมชนที่ประสบความสำเร็จเป็นชุมชนศรัทธา และถอดบทเรียน เพื่อนำมาจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว นำเรียนต่อรองนายกรัฐมนตรี/ประธาน คปต.

โครงการบูรณาการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ จชต. มีการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ สามารถจัดตั้งศูนย์และเชื่อมโยงเครือข่ายได้ จำนวน 46 ศูนย์ พร้อมติดตั้งระบบบริหารจัดการสัญญาณ ระบบค้นหาและตรวจสอบเป้าหมายอัตโนมัติ ซึ่งจะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ในปีงบประมาณ 2561 โดยในระดับปฏิบัติการจะสามารถปฏิบัติงานทั้งเชิงรุก ในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังการก่อเหตุ ส่วนงานเชิงรับ จะใช้ติดตามและขยายผล เพื่อนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีผู้ก่อเหตุต่อไป
 

 
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานบ่อทอง เพื่อรองรับการสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่ และเพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต โดยในห้วงที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้จัดประชุมหารือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมติที่ประชุมให้มีการขยายรันเวย์ท่าอากาศยานบ่อทอง โดยกำหนดการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีเป้าหมายเพื่อความมั่นคง ส่วนระยะที่ 2 เป้าหมายเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งต้องขออนุมัติจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจออกแบบเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจในระดับนโยบายต่อไป 

ภายหลังการประชุม หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้เดินทางไปตรวจศูนย์ควบคุม CCTV ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเดินทางมาเป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปต.ส่วนหน้า ณ ห้องประชุมสำนักงานฯ ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
 
กำลังโหลดความคิดเห็น