xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสตรีโคกพะยอม จ.สตูล จัดงานศิลปะ “หัวขันหมากอิสลาม” สืบสานประเพณี สร้างอาชีพชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - กลุ่มสตรีมุสลิมชุมชนโคกพะยอม ต.พิมาน อ.เมืองสตูล จัดงานศิลปะ “หัวขันหมากอิสลาม” สืบสานวัฒนธรรมประเพณีในอดีต แถมยังสร้างงานสร้างอาชีพให้อยู่คู่ชุมชนได้สืบไป

จากภูมิปัญญาของบรรพชนในการจัด “ขันหมาก อิสลาม” ในอดีต จนมาวันนี้ได้กลายเป็นงานฝีมือที่เรียกว่า “ศิลปการพับผ้า ใช้ในงานพิธีของชาวไทยอิสลาม” ด้วยไอเดียที่ยึดหลักความวิจิตรงดงามในแบบเดิมไว้ทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งศิลปะดังกล่าวคือสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในงานมงคลของชาวไทยอิสลม โดยเฉพาะขบวนขันหมาก ที่ต้องมีความตระการตา จึงเป็นที่มาของการนำผ้ามาพับเป็นรูปต่างๆ เพื่อใช้ประกอบขันหมาก เช่น รูปนกยูง หงส์ กระเช้าดอกไม้ เป็นต้น
 

 
มาวันนี้กลุ่มสตรีมุสลิมชุมชนโคกพยอม เขตเทศบาลเมืองสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล จำนวน 28 คน ได้ยื่นความจำนงในการขอให้ทางเทศบาลเมืองสตูล จัดการส่งเสริมอาชีพประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2560 “การทำหัวขันหมากอิสลาม” ขึ้น โดยสตรีดังกล่าวมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หากทุกคนในชุมชนทำหัวขันหมากอิสลามเป็น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำหัวขันหมากของคนในชุมชนได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุนชน หากมีชุมชนอื่นมาว่าจ้าง และยังเป็นการสืบสานศิลปะการจัดหัวขันหมากอิสลาม ให้อยู่คู่ชุมชนมุสลิมสืบไป

โดยหัวขันหมากอิสลาม นั้น เริ่มตั้งแต่ 7 ขัน 9 ขัน สูงไปถึง 13-17 หรือ 19 ขัน แล้วแต่กำลังทรัพย์ของเจ้าบ่าว โดยขันหมากหลักๆ จะมีขันหมากหงส์ ทำจากผ้าปาเต๊ะ ขันหมากดอกไม้ ทำจากผ้าละหมาดสตรี ขันหมากกระเป๋า ทำจากผ้าปูละหมาด ขันหมากดอกไม้ ทำจากเกลือ ดอกไม้ ทำจากน้ำตาล ขันหมากฝักทอง ทำจากข้าวสาร และที่สำคัญคือ ขันหมากหมากพลูพร้อมสินสอด และสร้อยคอที่มาสู่ขอ รวมทั้งขันหมากชุดน้ำชาที่ทำจากผ้าขนหนู
 

 
การทำขันหมากอิสลามแต่ละขันจะต้องใช้ความวิจิตบรรจง ตกแต่งให้สวยงาม และสิ่งของเครื่องใช้ที่นำมาตกแต่งขันหมากอิสลาม ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และเป็นสิ่งที่อิสลามทุกคนควรปฏิบัติตามหลักศาสนา สิ่งของในขันหมากจะสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริงอีกด้วย นี่จึงเป็นเสน่ห์ และความงดงามของขันหมากอิสลาม

นางอาภรณ์ สาตัน และ น.ส.หวิดดาย๊ะ นาคสง่า สมาชิกสตรีมุสลิมบ้านโคกพยอม กล่าวว่า ดีใจที่มาทำหัวขันหมากอิสลาม เพราะอยากเรียนรู้ อยากได้ประสบการณ์เพราะอยากทำเป็น ได้ความรู้ได้ร่วมอนุรักษ์ และยังมาประยุกต์ทำใหม่ส่งเสริมอาชีพ เวลามีงานเกี่ยวกับแต่งงานขันหมาก หลายคนทำไม่เป็นต้องมาฟื้นฟูกันใหม่ หากมีคนมาว่าจ้างสามารถว่าจ้างได้ในนามชุมชน ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 5,000 บาท เฉพาะค่าแรง แต่หากเป็น 8,000 บาท จะรวมค่าแรง ค่าของ 7 ขัน สูงสุด 15 ขัน 15,000 บาทก็มี วันนี้ทำเป็นหลายขันหมาก ที่ทำยากที่สุดคือ หงส์ เพราะต้องพับหลายขั้นตอน
 

 
นางอินฉ๊ะ โต๊ะปะดู๋ วิทยากรทำขันหมากในครั้งนี้ กล่าวว่า หลักสูตรในครั้งนี้ต้องใช้เวลา 30 ชั่วโมง จำนวน 5 วัน เพราะชิ้นงานแต่ละชิ้นต้องใช้ความละเอียดอ่อนมากที่สุด ทุกขั้นตอนมีความสำคัญเหมือนกันหมด แต่จะยากมากน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง ขันหมากหงส์ เป็นขั้นตอนการทำนานเป็นพิเศษ เพราะต้องใช้ความประณีต ขันหมากแต่ละขันมีข้าว น้ำตาล เกลือ ผ้าละหมาด ผ้าปูละหมาด ของใช้ผ้าขนหนู ผ้าตัดชุด และของขวัญที่เพิ่มขึ้น โดยความหมายแต่ละขันมีขึ้นมาจากความเชื่อ เหมือนข้าวเหนียว ความเหนียวแน่น น้ำตาลให้เติมความหวานกันและกัน บางพื้นที่ไม่ใช้ขันหมาก บางพื้นที่ใช้ขันหมาก หากเจอบ้านเจ้าสาวขอขันหมาก ก็ต้องไปว่าจ้างอีก หากวันนี้คนในชุมชนสามารถทำได้ก็สามารถลดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้จากตรงนี้ได้

นายสามารถ สาตัน ประธานชุมชนโคกพยอม กล่าวว่า สตรีชุมชนที่นี่มีความสนใจในการทำหัวขันหมากอิสลามมาก จึงได้เดินทางขอให้ทางเทศบาลเมืองสตูล ช่วยส่งเสริมให้ และเชื่อว่านอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณีการทำหัวขันหมากโบราณแล้ว ยังเป็นการต่อยอดให้คนในชุมชนมีความสามัคคีร่วมกัน สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน หากมีชุมชนอื่นสนใจการทำหัวขันหมาก ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้
 





กำลังโหลดความคิดเห็น